ศูนย์วิจัยและพัฒนาสื่อสาธารณะ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส จัด MEDIA FORUM 2024 เสวนาในหัวข้อ "ภาพอนาคตของอุตสาหกรรมสื่อทีวีดิจิทัลไทย" เพื่อเตรียมรับความเปลี่ยนแปลงก่อนที่ใบอนุญาตทีวีดิจิทัลจะสิ้นสุดลง ในปี พ.ศ. 2572 ในงานเสวนามีนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน และด้านเทคโนโลยี มาร่วมแลกเปลี่ยนอนาคตอุตสาหกรรมของสื่อทีวีดิจิทัลของไทย มองความท้าทาย ข้อค้นพบจากการศึกษา และตัวอย่างกรณีศึกษาจากต่างประเทศ อาทิ ผศ.ดร. สกุลศรี ศรีสารคาม รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ด้านวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร. ชนัญสรา อรนพ ณ อยุธยา จากคณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร. สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระ ด้านสื่อสารมวลชน และ รศ.ดร. ชลิตา ศรีนวล จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ผศ.ดร. สกุลศรี ศรีสารคาม รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ด้านวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงที่มาของงานวิจัยฉากทัศน์ ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่า โครงการศึกษาฉากทัศน์กิจการแพร่ภาพกระจายเสียงในอนาคตของไทยภายใต้สภาพแวดล้อมของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป (A study on the future of television broadcast/audio-visual sector in Thailand under a rapidly changing digital evolution) จัดทำโดยทีมที่ปรึกษาจาก SCF Associates ซึ่งเป็นคณะนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยชั้นนำในยุโรป ร่วมกับคณะนักวิจัยจากจุฬาฯ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (มจล.) ซึ่งได้สร้างฉากทัศน์ขึ้นเพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้สำหรับอนาคตของอุตสาหกรรมไทย ออกมาเป็นฉากทัศน์ 3 แบบ คือ
- ฉากทัศน์ที่ 1 ผู้ประกอบการสื่อโทรทัศน์หลายแห่งต้องปิดตัวลง แล้วถูกแทนที่ด้วยสื่อสังคมออนไลน์กับแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งข้ามชาติ
- ฉากทัศน์ที่ 2 ผู้ประกอบการสื่อโทรทัศน์ พยายามปรับตัว นำเนื้อหาของตนเองไปเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งข้ามชาติ ซึ่งเป็นสภาพการแข่งขันที่ผู้ประกอบการสื่อโทรทัศน์ไทยมีการพึ่งพิงแพลตฟอร์มต่างชาติ
- ฉากทัศน์ที่ 3 เป็นฉากทัศน์สร้างผลกระทบทางบวกต่ออุตสาหกรรมมากที่สุด กล่าวคือ ผู้ประกอบการสื่อโทรทัศน์ไทย รวมถึงอุตสาหกรรมสื่อทั้งหมด สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล จากการบูรณาการความร่วมมือและสนับสนุนของหน่วยงานกำกับดูแลภายในประเทศ และกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อสร้างโอกาสและอำนาจในการต่อรองกับแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งข้ามชาติ
ทั้งนี้ ไม่ว่าฉากทัศน์ของอุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์ไทยจะเป็นไปในรูปแบบใด แต่หัวใจสำคัญ คือ ความร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการสื่อทีวีดิจิทัล และองค์กรที่ดูแลเรื่องนโยบาย ส่งเสริม และกำกับดูแล มาร่วมกันหารือ ออกแบบกลไกเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี และการพัฒนาเนื้อหาของผู้ประกอบการสื่อทีวีดิจิทัลไทยแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
ทางด้าน รศ.ดร. ชลิตา ศรีนวล ผู้เชี่ยวชาญระดับสูง ปฏิบัติงานด้านพัฒนาระบบเสริมสร้างความเข้มแข็งของหน่วยงานและบุคลากร ระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ การปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวถึงกล่าวถึงความท้าทายที่ผู้ประกอบการสื่อทีวีดิจิทัล และหน่วยงานกำกับดูแลต้องเผชิญ ทั้งด้านความท้าทายโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี ซึ่งต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าทางการลงทุนในอนาคตการเปลี่ยนผ่านการให้บริการทีวีจากโครงข่ายภาคพื้นดิน ไปสู่การให้บริการผ่านออนไลน์ ควบคู่ไปกับการพัฒนาความน่าสนใจของเนื้อหา การเข้าถึงบริการได้สะดวก และคุณภาพของการให้บริการ ซึ่งทั้งหมดนี้ผู้ควบคุมไม่สามารถปล่อยผ่าน ให้เป็นไปตามธรรมชาติ โดยไม่กำกับควบคุมไม่ได้
ผศ.ดร. ชนัญสรา อรนพ ณ อยุธยา ผู้ช่วยคณบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกฎระเบียบ กฎหมาย การส่งเสริม และกำกับดูแล อุตสาหกรรมสื่อว่า การศึกษาบทเรียนจากทั้ง 7 ประเทศ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส อังกฤษ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และอียู มีจุดร่วมของหลายประเทศท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ เปลี่ยนจากบริการแพร่ภาพกระจายเสียงแบบเดิมไปสู่บริการ OTT VOD และแพลตฟอร์มการแบ่งปันวิดีโอ ซึ่งมีแนวโน้มที่ส่วนแบ่งผู้ชมและรายได้จากบริการ OTT VOD จะสูงกว่าบริการโทรทัศน์แบบเดิม และมีสัญญาณว่า อนาคตการบริโภคสื่อแพร่ภาพกระจายเสียงจะกระจุกตัวอยู่ในมือของแพลตฟอร์มจำนวนไม่กี่รายที่มีทุนเยอะ ซึ่งในภัยคุกคามจาก OTT ยังมีโอกาสที่จะร่วมกับสื่อในประเทศลงทุนและร่วมกันผลิตอยู่ด้วย ดังนั้น ในมุมการกำกับควบคุมดูแล ทำอย่างไรให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน ซึ่งในหลายประเทศมีการออกกฎหมายเพื่อส่งเสริม และกำกับดูแล อาทิ พระราชบัญญัติความปลอดภัยออนไลน์ (Online Safety Acts) ที่มีเป้าประสงค์เพื่อสร้างความสมดุลทางการแข่งขันให้เกิดขึ้นกับผู้ประกอบสื่อในอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ นักวิชาการ ทุกท่าน ได้แสดงความคาดหวังที่มีต่อไทยพีบีเอสในฐานะสื่อสาธารณะ ในการวางบทบาทเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมสื่อไทย ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี การเป็นพื้นที่แห่งโอกาสบ่มเพาะนักสร้างสรรค์เพื่อเป็นผู้ผลิตในอนาคต รวมถึงการสร้างผลกระทบทางสังคมผ่านการนำเสนอเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ และวัดผลได้ทั้งในระดับปัจเจก สังคม และคุณค่าทางเศรษฐกิจ
ไม่พลาดทุกข่าวสาร สาระความรู้ และคอนเทนต์คุณภาพ ติดตามไทยพีบีเอสทุกช่องทางออนไลน์ ได้ที่
▪ Website : www.thaipbs.or.th
▪ Application : Thai PBS
▪ Social Media Thai PBS : Facebook, YouTube, X , LINE, TikTok, Instagram, Threads, Linkedin