ALTV ทุ่งกว้างแห่งการเรียนรู้ของเด็กในศตวรรษที่ 21

การเกิดขึ้นของ ALTV ทีวีช่องใหม่เป็นโอกาสสำคัญสำหรับเด็ก ๆ
การลงทุนที่คุ้มค่า คือ การลงทุนกับเด็ก
เด็ก ๆ เดี๋ยวนี้ไม่ดูทีวีแล้ว ... เพราะไม่มีอะไรดี ๆ ให้ดู หรือไม่อยากดูเองจริง ๆ

นี่คือ Quote ส่วนหนึ่งจากงาน Learning Innovation Forum : ALTV วิถีการเรียนรู้ใหม่ ในศตวรรษที่ 21 งานเสวนาที่ชวนทุกคนติดตามและร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อสร้างอนาคตใหม่ทางการศึกษาไทย ผ่านคำถามสำคัญ "การเรียนรู้รูปแบบใหม่จะเป็นจริงได้หรือไม่ ?" เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดตัว งานพันมิตรการเรียนรู้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมผลักดัน ALTV (Active Learning TV) สถานีโทรทัศน์เพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้อย่างยั่งยืน

 

เพื่อเป็นการต้อนรับการมาของช่องโทรทัศน์ใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 1 กรกฏาคม 2563 เราขอถ่ายทอดความคิดเห็นของผู้มีส่วนผลักดันที่ทำให้เกิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้ใหม่ และการเดินทางกว่าจะมาเป็นช่อง ALTV (Active Learning TV) โดยมีผู้ร่วมเสวนา จำนวน 5 ท่าน ได้แก่

• รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล (ผู้อำนวยการ ส.ส.ท)
• ผศ.ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ (อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ)
• คุณเข็มพร วิรุณราพันธ์ (ผจก.สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน)
• รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี (คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์)
• ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล (ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จุฬาฯ)

 

 

จุดเริ่มต้นของ ALTV (Active Learning TV)

รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล (ผู้อำนวยการ ส.ส.ท) บอกเล่าว่า เริ่มต้นปักหมุดช่วงเวลาแห่งการเดินทางของ ALTV ไว้ที่ปี 2546 หลังจากที่ได้รับมติจากคณะรัฐมนตรีสมัยนั้นที่กำหนดว่า สื่อของรัฐต้องจัดให้มีรายการเพื่อการศึกษาและเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัวอย่างน้อย 1 - 1.30 ชั่วโมง

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทำให้เกิดกลุ่มกระบวนการทำงาน ซึ่งการทำงานที่จะให้เกิดข้อเสนอปฏิรูปสื่อเพื่อการเรียนรู้ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องมี 5 องค์ประกอบ

  1. มีกลไกในการกำกับดูแล กำหนดนโยบายอย่างชัดเจน
  2. มีผู้ผลิตสื่อที่มีความพร้อมผลิตสื่ออย่างสร้างสรรค์
  3. ผู้บริโภค
  4. วิชาการ
  5. การเงิน/ การคลัง เพื่อสนับสนุนคอนเทนต์เพื่อการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้

หลังจากที่ใช้เวลาเดินทางมาประมาณเกือบ 20 ปี ในวันนี้องค์ประกอบทั้ง 5 ครบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

กระบวนการที่แข็งแรงมาก คือ ความร่วมมือกันของเครือข่าย

คุณเข็มพร วิรุณราพันธ์ (ผจก.สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน) ให้ความเห็นว่า การศึกษาผ่านสื่อมวลชนเป็นการสื่อสารแบบตามอัธยาศัย คนมองเห็นน้อยมาก มองในเรื่องความบันเทิง โฆษณา ที่ผ่านมา การวิจัยไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี สัดส่วนรายการสำหรับเด็กมีเพียง 5% เท่านั้น ซึ่งหลังจากการเกิดขึ้นของ Thai PBS ในปี 2551 สัดส่วนรายการเด็กเพิ่มขึ้นเป็น 15 -2 0% ชัดเจนแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

ปัจจุบัน นอกจากเราเป็นผู้ชมแล้วยังได้ปรับปรุงรายการให้มีคุณภาพ แต่เด็กปัจจุบันจากเดิมที่เป็นผู้รับสื่อ ได้กลายเป็นผู้ใช้สื่อ สะท้อนกลับไปยังให้เกิดรายการดี ๆ และไม่ใช่มีแค่เด็กกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคมเท่านั้นที่เข้าถึงคอนเทนต์ได้ แต่เด็กกลุ่มน้อย กลุ่มชุมชนแออัด แรงงาน ก็สามารถเข้าถึงได้

การผลักดันให้เกิดสื่อสำหรับเด็ก ใช้ข้อมูลวิชาการวิเคราะห์ทำให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ผศ.ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ (อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ) แสดงความคิดเห็นว่า เด็กคือทรัพยการสำคัญของประเทศ แต่ที่ผ่านมามันอาจจะเป็นเพียงแค่คำพูด ไม่ได้เห็นในเรื่องการดำนินการ ครั้งหนึ่งเคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับโทรทัศน์สำหรับเด็กในเมืองไทย ตั้งแต่ยุคการก่อตั้งช่อง 4 บางขุนพรหม จนถึงยุคดิจิทัลปัจจุบัน พบว่าเราไม่เคยมียุคทองของรายการเด็กในเมืองไทย เรามียุคที่พอจะอยู่ได้ วิกฤติและวิกฤติมาก ถ้าเปรียบก็เหมือนเราลอยคออยู่ในน้ำมาโดยตลอด สัดส่วนการวิเคราะห์ได้จาก Thai PBS เป็นตัวดึง

เรามักจะได้ยินคำถามว่า ทำไมถึงยังทำรายการทีวีสำหรับเด็ก เพราะวันนี้เด็กๆ ไม่ดูทีวีกันแล้ว นิยมดูสื่ออื่นๆ แต่สื่ออื่นๆ ที่ว่านั้นก็เป็นสื่อที่มีภาพและเสียงแบบเดียวกับสื่อ TV นั่นแปลว่ามันยังคงตรงกับความชอบ ความสนใจอยู่เหมือนเดิม แต่จะดีกว่า ถ้าเป็นสื่อทีวีสาธารณะที่สามารถเข้าถึงได้ทุกพื้นที่ โดยไม่ต้องเสียสตางค์ค่าอินเตอร์เน็ตเพื่อรับชมสิ่งเหล่านี้ และมีการกำกับดูแลเนื้อหาที่เหมาะสม ซึ่งวันนี้ยินดีมากที่จะมี ALTV เกิดขึ้น

การที่เด็กจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีคุณภาพ กระบวนการเรียนรู้ทั้งใน และนอกห้องเรียนมีความหมายในการผลักดันและพัฒนาอย่างสร้างสรรค์

รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี (คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์) ระบุว่า เป้าหมายของการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดแต่ตัวเด็ก คุณครูหรือผู้ปกครองต่างก็ต้องการความรู้ใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่ๆ มาใช้ในการทำงาน เครือข่ายที่ทำงานอยู่ คุณครูมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งล้วนแต่มีความพยายามในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ มาเชื่อมโยงเด็กเข้ากับการเรียน คุณครูมีการทำรายการตัวเอง มีการทำคลิปวีดีโอสอนของตัวเอง การมีทีวีช่องใหม่เกิดขึ้น ไม่ได้มองแค่เด็ก แต่เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ด้วย มีการทำโปรเจกต์ ‘ก่อการครู’ ผู้เรียนจะไม่ใช้ Passive Learner อีกต่อไป ผู้เรียนจะเป็นผู้กำหนดเส้นทางการเรียนรู้ มีความสามารถในการกำกับการเรียนรู้ รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น Bottom Line ก็คือ จิตวิญญาณของการเป็นครู การเกิดขึ้นของ ALTV จึงเป็นการเข้ามาเติมเต็มช่องว่าง

คุณเข็มพร วิรุณราพันธ์ (ผจก.สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน) อธิบายเพิ่มเติมว่า ยิ่งเราเป็นประเทศที่มีการเหลื่อมล้ำทางสังคมติดอันดับ ไม่สามารถเรียนต่อในการศึกษาระดับที่สูงขึ้นได้ ALTV จะเป็นตัวลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำ ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าโอกาสในการเรียนรู้สามารถกำหนดได้ด้วยตัวเขาเอง เข้าถึงได้ด้วยตัวเอง อีกเรื่องนึงคือกระบวนการสื่อสาร รู้เท่าทันสื่อ ทำให้สามารถรู้เท่าทัน Fake News ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้น

ความท้าทายที่จะใช้ ALTV เป็นพื้นที่หนึ่งในการเชื่อม และผลักดันไปสู่สังคมที่มีการเรียนรู้ตลอดเวลา

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ให้ความคิดเห็นคำถามนี้ว่า ถ้าเราอยากสร้างสังคมที่มีการเรียนรู้ ต้องสร้างกับเด็ก พ่อแม่ผู้ปกครองและคุณครู มีการส่งเสริมพลังของเครือข่าย ไม่จำกัดพื้นที่กายภาพ ไม่ว่าเราจะมีโจทย์ที่แตกต่างกันแค่ไหน แต่เรามีโจทย์ที่ร่วมกันได้อยู่ คุณครูมีลูกเล่นวิธีการบางอย่างที่เป็นของตัวเอง เมื่อเกิดพลังเครือข่ายส่งเสริม คนพร้อมจะเรียนรู้และพร้อมที่จะไปด้วยกัน ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะคุณครู แต่เกิดขึ้นกับพ่อแม่ คิดว่าจะเป็นโฉมหน้าใหม่ ทำให้เห็นภาพว่าการศึกษาเป็นของทุกคน ไม่ใช่เรื่องของคุณครู หรือพ่อแม่ผู้ปกครอง ชุมชน เราก็จะเปิดช่องทางใหม่ๆ ในการเรียนรู้ มีอาจารย์มหาวิทยาลัยบางท่านสนใจ ลงมาทำงานกับวิถีชุมชน เป็นหนึ่งใน Factor การทำงานที่เข้มแข็งมาก ให้เขาสร้างเครื่องมือเอง เขาจะได้รู้ว่ากลุ่มเป้าหมายไหนเหมาะกับเครื่องมือของเขา กลุ่มหนึ่งที่สำคัญมากๆ มองข้ามไม่ได้คือพ่อแม่ รวมถึงผู้ใหญ่คนอื่นๆ ด้วย เพื่อทำให้เกิดพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันได้

 

ขณะเดียวกัน ผศ.ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ ระบุว่า ALTV ชื่อเป็นทีวี แต่อยากให้เห็นภาพว่า มันไม่ใช่แค่ทีวี ทีวีเป็นรูปธรรมหนึ่งที่ทำให้เราเห็นว่า มีพื้นที่การเรียนรู้ สามารถขยายไปสู่พื้นที่การเรียนรู้อื่นๆ ด้วย การปรับวิธีคิดใหม่ ไม่ใช่เหมือนกับการเรียนทางเดียว จากบนลงล่าง สิ่งที่เป็นความท้าทายก็คือ การทำอย่างไรที่จะให้ทีวีช่องนี้ พื้นที่ตรงนี้ เป็นพื้นที่ที่ทุกคนรู้สึกว่าเป็นพื้นที่ของเรา น่าจะเป็นโจทย์หนึ่งที่ Thai PBS กำลังดำเนินการอยู่ ไม่อยากให้สังคมมองว่า การมีช่อง ALTV เป็นการผลักภาระให้ Thai PBS การมีช่อง ALTV อย่างเดียวไม่พอ ต้องมีความร่วมมือจากทุกภาค Thai PBS เหมือนกับเป็นตัวทดลองให้เห็น นำร่องให้เห็นว่ามันมีกระบวนการแบบนี้ได้ สื่อดีๆ ที่สร้างแรงบันดาลใจทำให้เด็กเยาวชน ไม่ว่าใครก็ตามสามารถค้นหาตัวเองเจอ

ต้องอย่าลืมว่า ALTV อยู่ในช่วงของการทดลอง 6 เดือน ซึ่ง 6 เดือนตรงนี้ เป็นเวลาที่ทุกคนในสังคมน่าจะได้ทดลองอะไรร่วมกันว่า ถ้ามีสื่อแบบนี้เกิดขึ้นในสังคมดีไหม ทำให้เด็กและเยาวชนสักคนนึง สามารถค้นพบตัวเองได้ แล้วก็กลายมาเป็นคนที่มีทรัพยากรในสังคม มันก็เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ใครมีข้อเสนอแนะ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน

รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี เสริมว่า ALTV ไม่ได้ทำหน้าที่แค่โปรดักชัน ความหมายของ Active Learning กว้างและไกลมาก สิ่งที่จะสร้างคุณค่าให้อย่างมาก สิ่งที่ ALTV ให้ความสำคัญ เราค้นพบว่ามันเป็นปัญหา ของการศึกษามากๆ ก็คือการพัฒนาของการศึกษาที่ผ่านมา มันพรากผู้คนออกจากกัน ผลัดพรากผู้เรียนกับผู้สอนออกจากกัน ผลัดพรากครูกันผู้ปกครองออกจากกัน การฟื้นฟูขององคาพยพทั้งหมด เป็นหัวใจที่จะทำให้การศึกษาเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างดี

 

หลังจากจบการเสวนา Learning Innovation Forum : ALTV วิถีการเรียนรู้ใหม่ในศตวรรษที่ 21 คำตอบที่ชัดเจน ก็คือการเกิดขึ้นของ ALTV จะช่วยทำหน้าที่สร้างเครือข่ายและเชื่อมโยงการเรียนรู้มีขอบเขตที่เปลี่ยนแปลงไปและกว้างขวางมากขึ้น การเรียนรู้รูปแบบใหม่จะเกิดขึ้น และ ALTV จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างพื้นที่ทุกคนเป็นเจ้าของความรู้ เรียนรู้ได้ตลอดชีวิต

 

บทสัมภาษณ์จาก : Pantip

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวประชาสัมพันธ์

บทสัมภาษณ์ผู้บริหาร

ข่าวกิจกรรม

กลับขึ้นด้านบน