ความเป็นมา

ที่มาของ ส.ส.ท.

องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai Public Broadcasting Service) หรือ ส.ส.ท. ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2551 โดย พ.ร.บ. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ในฐานะองค์การสื่อสาธารณะที่ไม่แสวงผลกำไรแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อดำเนินการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ที่สนับสนุนการพัฒนาสังคม ที่มีคุณภาพและคุณธรรมบนพื้นฐานของความเป็นไทย โดยผ่านทางบริการข่าวสารที่เที่ยงตรง รอบด้าน สมดุล และซื่อตรงต่อจรรยาบรรณ

ความเป็นอิสระและความเป็นสาธารณะของไทยพีบีเอสได้รับการรองรับภายใต้ พ.ร.บ. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย โดยมีคณะกรรมการนโยบายที่ผ่านการสรรหาโดยกระบวนการที่เป็นอิสระและโปร่งใส เป็นผู้กำหนดนโยบาย และควบคุมการดำเนินงานของผู้อำนวยการและคณะกรรมการบริหารองค์การฯ ส.ส.ท. มีรายได้จากภาษีสรรพสามิตที่เก็บจากสุราและยาสูบ โดยมีรายได้สูงสุดปีงบประมาณละไม่เกิน 2,000 ล้านบาท

ข้อบังคับด้านจริยธรรมวิชาชีพ

ส.ส.ท. ยึดมั่นจริยธรรมอย่างเคร่งครัดในการทำหน้าที่สื่อสาธารณะ ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานทุกระดับของ ส.ส.ท. ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับทางด้านจริยธรรมของวิชาชีพที่ให้ความสำคัญกับความเที่ยงตรง ความเป็นกลาง และความเป็นธรรม ตลอดจนความเป็นอิสระของวิชาชีพ และความรับผิดชอบต่อสาธารณชน ข้อบังคับด้านจริยธรรมยังครอบคลุมถึงการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเป็นส่วนตัว และการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล ตลอดจนการคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากรายการที่แสดงออกถึงความรุนแรง การกระทำการปฏิบัติต่อเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายและผู้ที่อยู่ในภาวะเศร้าโศก

"ไทยพีบีเอส" ... จุดเริ่มต้นของสื่อสาธารณะ

  • "ไทยพีบีเอส" ออกอากาศอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2551 เป็นสื่อสาธารณะสื่อแรกของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นสถานีโทรทัศน์ ที่สรรค์สร้างรายการข่าว รายการสารประโยชน์ และรายการสาระบันเทิง ที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ตามข้อบังคับด้านจริยธรรมขององค์กร โดยยึดถือประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง และเป็นสถานีโทรทัศน์ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ทั้งในระดับประเทศและในระดับภูมิภาค ในฐานะสถาบันสื่อมวลชน ที่มีคุณภาพและสร้างสรรค์

  • "ไทยพีบีเอส" ยังมุ่งมั่นจะเป็นสถาบันสื่อที่มีระบบบริหารจัดการ ที่มีประสิทธิภาพ และโปร่งใส โดยยึดหลักความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ สามารถเป็นแบบอย่างให้แก่สถาบันสื่อสารมวลชนของประเทศไทยได้

  • "ไทยพีบีเอส" เป็นเพียงก้าวแรกของ ส.ส.ท. ในฐานะสื่อสาธารณะ ในอนาคตอันใกล้นี้ ส.ส.ท. จะขยายบทบาทไปสู่การให้บริการผลิตสื่ออื่นๆ โดยอาศัยเทคโนโลยีทันสมัยในการเผยแพร่รายการ เช่น วิทยุกระจายเสียง และทางออนไลน์

สนับสนุนผู้ผลิตอิสระ

ส.ส.ท. มีนโยบายส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคต่างๆ ในสังคมในการผลิตรายการที่มีเนื้อหาสร้างสรรค์ หลากหลาย และตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างกว้างขวางที่สุด ภายใต้ พ.ร.บ. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ส.ส.ท. จึงมีหน้าที่สนับสนุนและพัฒนาศักยภาพ และการสร้างสรรค์การผลิตรายการของผู้ผลิตอิสระและผู้ผลิตระดับชุมชน โดย ส.ส.ท. ได้จัดสรรงบประมาณไม่เกินร้อยละสิบของรายได้ที่ ส.ส.ท.ได้รับเพื่อสนับสนุนการผลิตรายการของผู้ผลิตอิสระ และจัดสรรเวลาออกอากาศที่เหมาะสมสำหรับรายการเหล่านี้

นักข่าวพลเมือง

ส.ส.ท. มีความเชื่อว่าความเป็น "นักข่าว" ไม่ควรถูกผูกขาดโดยคนในวิชาชีพข่าวเท่านั้น ประชาชนทั่วไปก็สามารถที่จะทำหน้าที่ สะท้อนปัญหาหรือเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชุมชน เหมือนนักข่าวอาชีพนี้จึงเป็นที่มาของ "นักข่าวพลเมือง" ผู้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของคนในพื้นที่และชุมชนต่างๆ ในการบอกเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นผ่านทางจอ "ไทยพีบีเอส"

"นักข่าวพลเมือง" ในฐานะเป็นคนในพื้นที่ย่อมเข้าใจปัญหาและประเด็นต่างๆ มากกว่าคนนอกพื้นที่ เพราะฉะนั้นจึงสามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างถูกต้องและน่าเชื่อถือ ส.ส.ท. ได้จัดสรรงบประมาณและบุคลากรในการฝึกอบรม "นักข่าวพลเมือง" ในภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้เขาเหล่านี้สามารถทำหน้าที่ เป็นปากเสียงให้กับชุมชนของตัวเอง

"นักข่าวพลเมือง" เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ ส.ส.ท. ได้ร่วมกับประชาชนในภาคต่างๆ จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง การผลิตรายการทั้งทางตรงและทางอ้อม ส.ส.ท. เป็นองค์กรสื่อสาธารณะที่เปิดกว้างและสนับสนุนการมีส่วนร่วม ของภาคประชาสังคมอย่างกว้างขวาง

สู่ความเป็นสื่อสาธารณะระดับภูมิภาค

ส.ส.ท. มีเป้าหมายที่จะเป็นสื่อสาธารณะที่มีความน่าเชื่อถือ และได้รับการยอมรับมากที่สุดทางด้านความสร้างสรรค์ในประเทศไทย ในเวลาเดียวกัน ส.ส.ท. ยังมีนโยบายที่จะก้าวข้ามพรมแดนไทยไปสู่ความเป็นสื่อสาธารณะระดับภูมิภาค เพื่อให้คนไทยรู้จักเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น ผ่านการรายงาน เหตุการณ์สำคัญ ที่รอบด้านและรายการที่สะท้อนเอกลักษณ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ตลอดจนสภาพการเมืองและสังคมของประเทศเหล่านี้ ส.ส.ท. ยังจะทำให้คนในภูมิภาคนี้รู้จักและเข้าใจสังคมไทยมากขึ้น ด้วยการเผยแพร่ข่าวและรายการที่ผลิตโดย ส.ส.ท. ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

ส.ส.ท. ได้เริ่มการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรสื่อในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้เพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารและรายการต่างๆ ตลอดจนการร่วมฝึกบุคลากร ในปี 2551 ส.ส.ท. ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกับสถานี CCTV ของสาธารณรัฐประชาชนจีน และ Munhwa Broadcasting Service ของเกาหลีใต้ และมีแผนที่จะสร้างความร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์สาธารณะอื่นๆ ในภูมิภาคต่อไป

สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ

ส.ส.ท. มีภารกิจสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดทิศทางการให้บริการของ องค์การเพื่อประโยชน์สาธารณะ คณะกรรมการนโยบายจึงได้แต่งตั้ง "สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ" ซึ่งมีสมาชิกจำนวน 50 คน จากตัวแทนของประชาชนในภูมิภาคและกลุ่มต่างๆ ที่หลากหลายเพื่อรับฟังความคิดเห็นและคำแนะนำจากประชาชนในวงกว้าง ต่อการผลิตรายการขององค์การ

คณะกรรมการนโยบาย

  1. ดร. นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
    ประธานกรรมการนโยบาย

  2. รศ.ดร. ธีรภัทร สงวนกชกร
    กรรมการนโยบาย

  3. นายสุวิทย์ สาสนพิจิตร์
    กรรมการนโยบาย

  4. นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล
    กรรมการนโยบาย

  5. นายเจษฎา อนุจารี
    กรรมการนโยบาย

  6. นายบุญเลิศ คชายุทธเดช
    กรรมการนโยบาย

  7. นางทัศนีย์ ผลชานิโก
    กรรมการนโยบาย

  8. นางวรินรำไพ ปุณย์ธนารีย์
    กรรมการนโยบาย

  9. นายสมโภชน์ โตรักษา
    กรรมการนโยบาย

ผู้อำนวยการ ส.ส.ท.

รศ. วิลาสินี พิพิธกุล

คณะกรรมการบริหาร

  1. รศ. วิลาสินี พิพิธกุล
    ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. (ประธานกรรมการ)

  2. นางสาวสุวรรณา สมบัติรักษาสุข
    รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ด้านบริหาร (กรรมการ)

  3. นายอนุพงษ์ ไชยฤทธิ์
    รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ด้านเทคโนโลยีการกระจายสื่อ (กรรมการ)

  4. นายปรเมศวร์ มินศิริ
    รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ด้านพัฒนาองค์การ (กรรมการ)
  5. นางสาวกนกพร ประสิทธิ์ผล
    ผู้อำนวยการสำนักสื่อใหม่ (กรรมการ)

  6. นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์
    ผู้อำนวยการสำนักข่าว (กรรมการ)

  7. นายสมยศ เกียรติอร่ามกุล
    ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์เนื้อหา (กรรมการ)

  8. นายเจษฎา อนุจารี (กรรมการบริหารอื่น)

สถานที่ติดต่อ

  • การเดินทางรถยนต์ส่วนบุคคล [แผนที่]
    อาคารสำนักงานใหญ่ 145 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210

  • การเดินทางรถเมล์สาธารณะ
    สาย 52, 29, ปอ.187, ปอ.504, ปอ.510, ปอ.555 

 

โทรศัพท์ : 0 2790 2000, โทรสาร : 0 2790 2020

Website : www.thaipbs.or.th
Facebook : @ThaiPBS
Twitter : @ThaiPBS
YouTube : ThaiPBS
Instagram : ThaiPBS
LINE ID : @ThaiPBS
TikTok : @ThaiPBS

กลับขึ้นด้านบน