อำนาจหน้าที่
การจัดตั้ง
องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) เป็นนิติบุคคล ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Thai Public Broadcasting Service (TPBS) ทำหน้าที่เป็นองค์การสื่อสาธารณะด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ ที่ไม่ใช่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ แต่ดำเนินการภายใต้ทุน ทรัพย์สิน และรายได้ขององค์การ
(อ้างอิงตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551)
วัตถุประสงค์ขององค์การ
ให้องค์การมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
- ดำเนินกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ที่จะสนับสนุนการพัฒนาสังคมที่มีคุณภาพและคุณธรรม บนพื้นฐานของความเป็นไทย โดยผ่านทางบริการข่าวสารที่เที่ยงตรง รอบด้าน สมดุล และซื่อตรงต่อจรรยาบรรณ
- ผลิตรายการทางด้านข่าวสาร สารประโยชน์ทางด้านการศึกษา และสาระบันเทิง ที่มีสัดส่วนอย่างเหมาะสมและมีคุณภาพสูง เน้นความหลากหลายในมิติต่าง ๆ โดยมุ่งดำเนินการอย่างปราศจากอคติทางการเมืองและผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ และยึดถือผลประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ
- ส่งเสริมให้ความรู้แก่ประชาชนให้ก้าวหน้าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกเพื่อประโยชน์ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นผ่านทางการให้บริการข่าวสารและสารประโยชน์อื่น
- ส่งเสริมเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารเพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนได้รับข่าวสารอย่างเท่าเทียมกัน
- สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อมในการกำหนดทิศทางการให้บริการขององค์การเพื่อประโยชน์สาธารณะ
- สนับสนุนกิจกรรมสาธารณประโยชน์อื่น
การดำเนินการตาม (2) (3) (4) และ (5) ให้คำนึงถึงการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์ได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรมของประชาชน
(อ้างอิงตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551)
อำนาจหน้าที่ขององค์การ
เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 7 ให้องค์การมีอำนาจหน้าที่หลัก ดังต่อไปนี้
- จัดให้มีสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์ หรือเผยแพร่รายการในระบบอื่น หรือเทคโนโลยีทันสมัยอื่น โดยมีเครือข่ายให้บริการครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศหรือให้มีสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์เพิ่มเติมเป็นเครือข่าย ไม่เก็บค่าสมาชิกและไม่หารายได้จาก การโฆษณา เว้นแต่เป็นการสนับสนุนจากผู้สนับสนุนองค์การ
- ให้บริการผลิตสื่อโสตทัศน์ หรือบริการระบบเครือข่ายสารสนเทศอื่น หรือบริการอื่นใด ที่เกี่ยวข้องหรือเป็นประโยชน์ต่อการเผยแพร่รายการ
- ให้การสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพและการสร้างสรรค์การผลิตรายการของผู้ผลิต รายการอิสระ
- ร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ องค์กรภาคเอกชน ชุมชน หรือหน่วยงานต่างประเทศหรือ องค์การระหว่างประเทศ หรือสถานีวิทยุหรือสถานีโทรทัศน์ขององค์การสื่อสารสาธารณะของ ต่างประเทศ ในการผลิตรายการอันเป็นการส่งเสริมความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะหรือสร้างความ ร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างกัน
- กระทําการอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับหรือเนื่องในการจัดการให้สําเร็จตามวัตถุประสงค์ขององค์การ
(อ้างอิงตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551)
อำนาจหน้าที่ในการดำเนินกิจการ
นอกจากอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 8 ให้องค์การมีอำนาจทำกิจการ ดังต่อไปนี้ด้วย
- ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง และมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ
- ก่อตั้งสิทธิ หรือกระทํานิติกรรมใด ๆ ทั้งในและนอกราชอาณาจักรเพื่อประโยชน์ในการดําเนินกิจการขององค์การ
- เข้าร่วมทุนกับบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศในกิจการที่เกี่ยวกับ วัตถุประสงค์ขององค์การ
- เรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบํารุง ค่าบริการ หรือค่าตอบแทนอื่นใดในการให้บริการ
- ดําเนินการอื่นใดที่จําเป็นหรือต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การ
(อ้างอิงตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551)
อำนาจหน้าที่ในการจัดเก็บเงินบํารุงองค์การ
ให้องค์การมีอํานาจในการจัดเก็บเงินบํารุงองค์การจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยสุราและกฎหมายว่าด้วยยาสูบในอัตราร้อยละหนึ่งจุดห้าของภาษีที่เก็บจากสุราและยาสูบตาม กฎหมายว่าด้วยสุราและกฎหมายว่าด้วยยาสูบ และจัดสรรให้เป็นรายได้ขององค์การ โดยให้มีรายได้สูงสุดปีงบประมาณละไม่เกินสองพันล้านบาท และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอํานาจในการปรับเพิ่มรายได้สูงสุดตามมาตรานี้ทุกสามปี เพื่อให้องค์การมีรายได้เพียงพอต่อการดําเนินการตามวัตถุประสงค์ โดยให้พิจารณาถึงอัตราเงินเฟ้อของปีที่ผ่านมาประกอบกับขอบเขตการดําเนินงานขององค์การที่เปลี่ยนแปลงไปและผลการประเมินการดําเนินงานขององค์การตามมาตรา 50
(อ้างอิงตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551)
อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบาย
คณะกรรมการนโยบายมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
- กําหนดนโยบายโดยทั่วไปขององค์การ
- คุ้มครองรักษาความเป็นอิสระของคณะกรรมการบริหาร ผู้อํานวยการ และพนักงานให้ ปลอดจากการแทรกแซงใด ๆ
- ให้ความเห็นชอบแผนการบริหารกิจการและแผนการจัดทํารายการขององค์การ ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ตามมาตรา 7
- ให้ความเห็นชอบงบประมาณขององค์การ
- ควบคุมการดําเนินงานของคณะกรรมการบริหารให้เป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบาย
- กําหนดให้มีการวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพของรายการ
- กําหนดข้อบังคับด้านจริยธรรมของกรรมการบริหาร ผู้อํานวยการ ผู้บริหารขององค์การ พนักงานและลูกจ้างขององค์การ และบทลงโทษ
- กํากับดูแลเพื่อให้ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะและคําติชม ตลอดจนข้อร้องเรียนของ ประชาชนต่อองค์การ ได้รับการพิจารณาอย่างเหมาะสมและรวดเร็ว
- กําหนดระเบียบกลางเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล การเงิน การงบประมาณและ ทรัพย์สิน การมอบอํานาจให้คณะกรรมการบริหารดําเนินการต่าง ๆ และการดําเนินกิจการโดยทั่วไป
- แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารตามมาตรา 29
- แต่งตั้งและถอดถอนผู้อํานวยการตามมาตรา 31
- กําหนดค่าตอบแทนและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้อํานวยการ และรองผู้อํานวยการ ตามมาตรา 37
- กําหนดข้อบังคับด้านจริยธรรมของวิชาชีพเกี่ยวกับการผลิต และการเผยแพร่รายการ ขององค์การตามมาตรา 42
- แต่งตั้งคณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชนตามมาตรา 46
- จัดทํารายงานผลการปฏิบัติงานประจําปีเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา และเผยแพร่ต่อสาธารณชนตามมาตรา 52
- ปฏิบัติการอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น
(อ้างอิงตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551)
อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร
ให้คณะกรรมการบริหารปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกรอบนโยบายที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด และมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
- ควบคุมดูแลการผลิตรายการหรือการสร้างสรรค์รายการขององค์การให้เป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบาย
- กํากับดูแลการปฏิบัติงานขององค์การให้เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบ ข้อบังคับขององค์การในกรณีที่มีการร้องเรียนของประชาชน
- จัดทําแผนการบริหารกิจการและแผนการจัดทํารายการขององค์การเสนอต่อ คณะกรรมการนโยบายเพื่อให้ความเห็นชอบ
- จัดทําแผนพัฒนาองค์การ แผนพัฒนาบุคลากร และแผนการเงินเสนอต่อคณะกรรมการนโยบาย
- จัดทําแผนแม่บทพัฒนาเครือข่าย
- ประเมินคุณภาพของรายการที่มีการเผยแพร่
- ดําเนินการอื่นใดตามที่คณะกรรมการนโยบายมอบหมาย
(อ้างอิงตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551)
อำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการ ส.ส.ท.
ในการบริหารกิจการขององค์การ ผู้อำนวยการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการนโยบาย ในการปฏิบัติหน้าที่ให้ผู้อํานวยการมีอํานาจ ดังนี้
- ออกระเบียบในการบริหารกิจการขององค์การ รวมทั้งระเบียบและวิธีปฏิบัติงานของ พนักงานหรือลูกจ้างขององค์การ ทั้งนี้ โดยไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบกลางที่คณะกรรมการนโยบายกําหนด
- ทําสัญญาจ้าง เลิกจ้าง เลื่อน ลด หรือตัดเงินเดือนหรือค่าจ้าง ตลอดจนลงโทษทางวินัยแก่พนักงานและลูกจ้างขององค์การตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารกําหนด
- แต่งตั้งนายสถานีและคณะกรรมการบริหารสถานี
ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกให้ผู้อํานวยการเป็นผู้แทนองค์การ เพื่อการนี้ผู้อํานวยการจะมอบอํานาจให้บุคคลใดกระทํากิจการแทนก็ได้ตามระเบียบที่คณะกรรมการนโยบายกําหนด
(อ้างอิงตามมาตรา 32 วรรคสอง มาตรา 38 และมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551)