เมื่อการศึกษาแบบเดิมไม่ได้ผล จึงต้องปฏิรูปเพื่อเรียนรู้ “ตลอดชีวิต” : บทวิเคราะห์จากงานประกาศเจตนารมณ์ร่วมผลักดัน ALTV ช่อง 4 ทีวีเรียนสนุก

หลายคนอาจจะคิดเสมอว่าการศึกษาในทัศนคติของคนไทย คือการเรียนรู้ในช่วง 20 ปีแรก และหลังจากนั้นอีก 40 ปีถึงเวลาต้องทำงานเก็บเกี่ยวประสบการณ์ จนกระทั่งถึงอายุ 60 ปี จึงจะใช้เวลา 20 ปีที่เหลืออยู่ในการใช้ชีวิตพักผ่อนในช่วงสุดท้ายของชีวิต ใช่ครับ นั่นคือทัศนคติที่เกิดขึ้นในอดีต

แต่ทว่าสิ่งที่พวกเราถูกปลูกฝังมาช้านาน ถูกพิสูจน์ด้วยสถานการณ์หลาย ๆ อย่างแล้วว่าเราไม่อาจสามารถใช้ชีวิตในการเรียนรู้เพียงแค่ 20 ปีแรกแล้วหยุดมันไปได้ เพราะสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ทั้งดีและเลวร้ายมักพิสูจน์ให้เราต้องเรียนรู้กับความรู้ใหม่ๆ ที่ไหลไปไม่หยุดไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุดนั่นเอง ซึ่งการเกิดปรากฏการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต รวมไปถึงการเรียนรู้ของคนเราให้ไปในทิศทางใหม่ ทิศทางที่ทุกคนจะต้องเรียนรู้ไปตลอดชีวิตนั่นเอง

ในการนี้ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จึงเชิญทีมกองบรรณาธิการส่องสื่อมาร่วมฟังการพูดคุยเสวนาในหัวข้อ “Learning Innovation Forum: ‘ALTV วิถีการเรียนรู้ใหม่ในศตวรรษที่ 21’ ฟอรั่มในงานประกาศเจตนารมณ์พันธมิตรทางการเรียนรู้ ซึ่งจะทำให้เกิดพื้นที่ของการเรียนรู้ การศึกษา อย่างกระจายกว้างขวาง ขยายห้องเรียนสู่พื้นที่แห่งการเรียนรู้” ที่จัดขึ้นหลังการประกาศเจตนารมณ์ของพันธมิตรทางการเรียนรู้นั่นเอง

 

เราเริ่มต้นเวทีถึงเรื่องของการกำเนิดกลุ่มที่ทำงานเรื่องสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน โดย รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พูดถึงต้นกำเนิดของการเกิดพื้นที่ทำงานนี้ ว่าเกิดจากมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2546 ที่ให้สถานีโทรทัศน์ทุกช่องจัดวางเวลารายการสำหรับเด็กและเยาวชน โดยต้องจัดสรรเวลาเป็นอย่างน้อย 60 นาที / วัน หลังจากนั้นเมื่อมีการรวมตัวกันของคนทำงานเรื่องสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน จึงมีข้อเสนอที่เกิดขึ้น ซึ่งประกอบด้วย กลไกด้านการกำกับดูแล ซึ่งปัจจุบันดูแลโดย กสทช., กลไกด้านผู้ผลิตรายการสื่อ ปัจจุบัน ไทยพีบีเอส เป็นเพียงสื่อเจ้าเดียวที่มีความพร้อมในการผลิต, กลไกด้านผู้บริโภคสื่อ, กลไกทางด้านวิชาการ และกลไกด้านงบประมาณ ซึ่งเมื่อมีการรวมกันครบถ้วน และเกิดการเร่งของกระบวนการโดยการเกิดของโควิด-19 จึงทำให้ ไทยพีบีเอส ลุกขึ้นมาดำเนินการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ช่องใหม่ขึ้น

อนึ่ง เรามองเห็นว่า ไทยพีบีเอส เอง มีเจตนาอยากผลิตสถานีโทรทัศน์สำหรับเด็กและเยาวชนมานานแล้ว ตั้งแต่ช่วงการก่อตั้งทีวีดิจิทัลเมื่อปี 2557 ซึ่งผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านหลายผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ก็ได้มีการปรับนโยบายมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งในยุคนี้ จึงปรับจากสถานีโทรทัศน์สำหรับเด็กและเยาวชน เป็นสถานีโทรทัศน์ที่จะเปิดพื้นที่การเรียนรู้ไปตลอดชีวิต ซึ่งถือว่าเป็นการทำงานที่ดีเลยทีเดียว เนื่องจากสถานีโทรทัศน์ในกลุ่มนี้ ถ้าเป็นสื่อสำหรับธุรกิจ ก็จะแข่งขันยากมาก ๆ ดั่งที่เห็นได้จากการจัดสรรใบอนุญาตที่เกิดขึ้น จาก 3 ช่องทีวีดิจิทัลประเภทเด็กและเยาวชน ลดลงมาเรื่อย ๆ และปรับเปลี่ยนสัดส่วนรายการจนไม่ตรงกับนิยามเลย

สำหรับงานวิจัยที่ผ่านมาเกี่ยวกับสื่อด้านเด็กและเยาวชนนั้น เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน ได้พูดถึงว่าสื่อมวลชนถือเป็นการเรียนรู้ การศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งในอดีตนั้นคนไม่ได้มองเห็นถึงบทบาททางด้านการเรียนรู้ จึงจะพบเห็นสื่อที่เต็มไปด้วยความบันเทิง การโฆษณา และธุรกิจ แต่ในทางกลับกัน พื้นที่สำหรับการเรียนรู้ของเด็กกลับมีน้อยมากเพียงร้อยละ 1 - 5 จึงเกิดการก่อตัวกันของกลุ่มเครือข่ายที่เป็นกระบอกเสียงในการเรียกร้องการให้พื้นที่รายการแก่เด็กเพิ่มขึ้น โดยจุดสำคัญที่เรียกร้องคือ พื้นที่การเรียนรู้ในสื่อทีวีสาธารณะ โดยหลังจากการเกิดขึ้นของ Thai PBS ในปี 2551 พบว่า จากพื้นที่ของเด็กและเยาวชนที่มีเพียงร้อยละ 5 กลับมีการเติบโตของรายการเพื่อการเรียนรู้ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15-20 ทำให้มีช่วงเวลาของเด็กเล็ก วัยรุ่น และครอบครัว ให้เห็นอย่างชัดเจนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย

สิ่งนี้เราเห็นได้ชัดเจนเลยว่า สื่อสำหรับเด็กและเยาวชน ถึงแม้เราอาจจะไม่ได้เห็นเขาในตัวเลขเรตติ้งมากนัก แต่แท้ที่จริงแล้วเราอาจจะยังสามารถเห็นเขาได้จากกระแส การตอบรับจากผู้ปกครองถึงการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นผ่านหน้าจอทีวี และทำให้ทุกคนให้ความสำคัญกับคอนเทนต์ที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์อีกด้วยนั่นเอง

“ไม่ใช่มีแค่เด็กกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคม แต่ยังมีกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย กลุ่มเด็กในชุมชนแออัด กลุ่มแรงงาน กลุ่มเด็กพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มในพื้นที่ความรุนแรงต่าง ๆ ซึ่งถ้ามีพื้นที่ที่เปิดโอกาสในการเรียนรู้ที่หลากหลาย มีการออกแบบร่วมกันระหว่างผู้ชม ผู้ผลิต และช่องทางสื่อ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ภาคีเครือข่ายร่วมผลักดันกับสื่อทีวีสาธารณะมาโดยตลอด” 

ผศ.ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พูดถึงการวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ตนเองนั้นได้จัดทำขึ้นมา ซึ่งสำรวจตลอดระยะเวลา 60 ปีของโทรทัศน์ไทย ตั้งแต่การก่อตั้งของช่อง 4 บางขุนพรหม มาจนถึงยุคดิจิทัล ผลการวิจัยออกมาอย่างชัดเจนว่า ประเทศไทยยังไม่มียุคทองของรายการโทรทัศน์เด็ก มีเพียงยุคที่พอจะอยู่ได้ ยุควิกฤต ไปจนถึงวิกฤตอย่างรุนแรง แม้ว่าจะมีมติ ครม.ในปี 2546 ก็ไม่ได้เป็นนโยบายที่มีความยั่งยืนเสียทีเดียว รายการเด็กที่เคยมี ณ ตอนนั้น เมื่อเปลี่ยนผู้บริหาร รายการก็ปิดตัวลงไป แม้กระทั่งประกาศจาก กสทช.ในปี 2556 ที่กำหนดให้ช่องทีวีดิจิทัลทุกช่อง ต้องมีช่วงเวลา สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว อย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับไม่ได้เป็นไปตามประกาศ เนื่องจากยังมีปัญหาในเรื่องการกำกับดูแลและการนำไปใช้จริง

แต่เรื่องที่น่ายินดีคือ สัดส่วนรายการเฉลี่ย 30 นาที มาจากช่อง Thai PBS ซึ่งเป็นตัวดึงขึ้นมา หลังจากที่ช่องทีวีเด็กในหมวดธุรกิจระดับชาติปิดตัวลง จึงได้ลองมีการทำสัดส่วนอีกครั้ง พบว่า สัดส่วนรายการเด็ก เหลือเพียง 19 นาทีต่อวัน จึงเกิดเป็นการรวมตัวกันของเครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนเสนอพื้นที่สื่อสำหรับเด็ก จนกระทั่งในวันนี้ที่ ไทยพีบีเอส ได้เปิดช่อง ALTV ช่อง 4 นั่นเอง

ในขณะที่ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดถึงการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนว่า กลุ่มเป้าหมายของการเรียนรู้ปัจจุบันนี้นั้น ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ตัวเด็ก แต่ทั้ง เด็ก ผู้ปกครอง คุณครู ก็ต้องการเพิ่มเติมประสบการณ์ความรู้ใหม่ ๆ เช่นกัน โดยอาจารย์ได้ค้นพบว่า ปัจจุบันมีคุณครูที่อายุน้อยลงเรื่อย ๆ ที่บรรจุเข้ามาทำงาน และครูเหล่านี้ พยายามสร้างสรรค์สื่อใหม่ ๆ ทดลองสิ่งใหม่ ในห้องเรียนของตนเอง และเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ที่ต้องเปลี่ยนการเรียนการสอนอย่างทันท่วงที คุณครูจึงเป็นตัวละครหลักของการเปลี่ยนแปลง คุณครูเริ่มตื่นตัวในการใช้เครื่องไม้เครื่องมือใหม่ ๆ คุณครูหลาย ๆ ท่าน ไม่รอสื่อปรับตัว แต่ลุกขึ้นมาทำสื่อด้วยตนเอง ทำคลิปการสอนของตนเอง

 

รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดปิดท้ายเวทีก่อนการสรุป ถึงการเรียนรู้ควบคู่กับเด็ก ผู้ปกครอง ครู และชุมชน คือการให้ความสำคัญของการศึกษาในรูปแบบ Active Learning โดยลงลึกเป็นพิเศษในเรื่องความสามารถของคุณครู ในการเอื้ออำนวยให้กระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้น และเรื่องของเทคโนโลยีในการหนุนเสริม เช่น การจัดทำโครงการขับเคลื่อนการศึกษาผ่านคุณครู ในนามของ ‘กลุ่มก่อการครู’ สิ่งที่พบว่า ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงการศึกษาในยุคปัจจุบัน และในอนาคต คิดว่ารูปแบบการศึกษาจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ต่อไปผู้เรียนจะไม่ใช่แบบ Passive Learner แต่จะเป็นผู้กำหนดเส้นทางการเรียนรู้ของตนเอง สิ่งที่จะเป็นหัวใจเปลี่ยนแปลงการศึกษาของไทยได้ ไม่ใช่เพียงแค่องค์ความรู้ของตัวคุณครู แต่เป็นการมีจุดหมายในการสร้างชุมชนการเรียนรู้ สร้างเครือข่ายใหม่ๆ ซึ่งเป็นจุดหมายเดียวกันกับ ALTV

พอมาถึงตรงนี้ ผมและทีมกองบรรณาธิการเว็บไซต์ส่องสื่อ จึงได้ไปค้นหารายการที่จะลงจอ ALTV ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ก็ค้นพบว่ารายการต่าง ๆ ที่จะลงจอนั้น เน้นการเรียนรู้ที่ไม่น่าเบื่อ มีระยะเวลาที่พอดี รวมถึงการดึงลูกเล่นต่าง ๆ ที่หลากหลายมาใช้ จึงทำให้มั่นใจได้ถึงคุณภาพในการเรียนรู้ได้จริง

หลังจากที่เราเห็นการพูดถึง ALTV ของทั้ง 5 ท่านแบบครบทุกมุมแล้ว เราก็พบว่า แท้ที่จริงแล้วการศึกษาในไทยมันมาถึงจุดที่ผู้เรียนไม่ต้องการศูนย์รวมจากครูแล้ว แต่ว่าผู้เรียนต้องการที่จะเลือกเรียนรู้เอง จะเห็นได้จากสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ว่ามีการปรับการเรียนการสอนให้เข้าถึงผู้เรียนมากขึ้น และปรับโดยผู้เรียนเอง ไม่ได้เกิดจากผู้สอนแต่อย่างใดอีกด้วย รวมไปถึงสื่อสำหรับเด็กและเยาวชนก็กำลังจะหายไป ไม่ว่าจะเป็นทีวีดิจิทัลในหมวดเด็กและเยาวชนที่หายไปจะครบปีแล้ว รวมไปถึงการเรียนรู้ที่ปัจจุบันกระจัดกระจายไปมาก ทำให้ผู้สอนต้องไปค้นหาเอา การมี ALTV ที่ร่วมมือกับพันธมิตรในการเรียนรู้ใหม่ ๆ ก็ทำให้ผู้เรียนได้ฉีกกฎออกจากห้องเรียนสี่เหลี่ยมแคบ ๆ ให้ออกมาผจญภัยพบเจอกับการเรียนรู้แบบใหม่ ซึ่ง ALTV ไม่ได้มองตัวเองแค่ช่องทีวี แต่คือแพลตฟอร์มหนึ่งที่จะทำให้ทุกคนได้เรียนรู้ต่อไปในอนาคตนั่นเอง

 

บทสัมภาษณ์จาก : ส่องสื่อ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวประชาสัมพันธ์

บทสัมภาษณ์ผู้บริหาร

ข่าวกิจกรรม

กลับขึ้นด้านบน