ไทยพีบีเอส สนับสนุน"คนพิการมีงานทำ" ต้อนรับนักศึกษาพิการจากมหาวิทยาลัยมหิดล แลกเปลี่ยนเตรียมความพร้อมก่อนเรียนจบ

ไทยพีบีเอสเปิดกว้าง สนับสนุน "คนพิการมีงานทำ" ต้อนรับนักศึกษาพิการจากมหาวิทยาลัยมหิดลแลกเปลี่ยนเตรียมความพร้อมก่อนเรียนจบ พร้อมโชว์ Big Sign ภาษามือใหญ่เต็มจอ – Text to Speech - Drama for all นวัตกรรมเพื่อการเข้าถึงสื่ออย่างเท่าเทียมกันระหว่างคนพิการกับคนไม่พิการ

เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 67 กองกิจการนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล นำบุคลากรและนักศึกษา รวมจำนวน 9 คน ประกอบด้วย นักศึกษาพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางกาย, พิการทางการเห็น, พิการทางออทิสติก 5 คน จากคณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ และเอกภาษาไทย และบุคลากร ได้แก่ หัวหน้างานบริการและสวัสดิการนักศึกษา กองกิจการนักศึกษา ม.มหิดล และเจ้าหน้าที่ หน่วยบริการสนับสนุนสำหรับนักศึกษาพิการ กองกิจการนักศึกษา ม.มหิดล รับฟังบรรยายจาก นางสาวกนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส หัวข้อ "นวัตกรรมเพื่อการเข้าถึงสื่ออย่างเท่าเทียมกันระหว่างคนพิการกับคนไม่พิการ"


นางสาวกนกพร
กล่าวว่า ไทยพีบีเอสให้ความสำคัญกับคนพิการทุกประเภท เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เราจึงได้มีการออกแบบสื่อและบริการต่าง ๆ ของไทยพีบีเอส ให้รองรับสำหรับคนพิการด้วย ในส่วนของสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส ได้มีการออกแบบเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ โดยมี World Wide Web Consortium: W3C ควบคุมตามมาตรฐานสากล ซึ่งไทยพีบีเอสเพิ่งได้รับรางวัล "เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ตามมาตรฐาน Web Content Accessibility Guidelines (WCAG)" จากงาน Thailand Digital Accessibility Award 2023 ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ในฐานะการเป็นแพลตฟอร์มที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านดิจิทัล สะท้อนถึงการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ เพื่อให้เป็นสื่อสาธารณะของประชาชนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง

นางสาวกนกพร กล่าวต่อว่า นอกจากเว็บไซต์แล้ว ไทยพีบีเอสยังได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้คนพิการทางการได้ยินได้รับข่าวสาร เสพความบันเทิงอย่างมีอรรถรสมากยิ่งขึ้น โดยได้คัดสรรรายการสารคดี ละครซีรีส์จากไทยพีบีเอส มาจัดทำ Big Sign ภาษามือใหญ่เต็มจอ ซึ่งสามารถรับชมได้ทางเว็บไซต์ www.VIPA.me  และแอปพลิเคชัน VIPA, บริการอ่านให้ฟังโดยเสียงสังเคราะห์อัตโนมัติ หรือ Text to Speech ซึ่งพัฒนาตั้งแต่ปี 2564 สำหรับคนพิการทางการเห็น หรือผู้ที่ต้องการฟังข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ผ่านเสียง โดยได้นำเอาเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ในบริการนี้ นอกจากนี้ ยังมีโปรเจกต์ Drama for all ที่คัดสรรความบันเทิงที่เข้าถึงผู้ชมทุกกลุ่มได้อย่างเท่าเทียมและ Closed Caption เทคโนโลยีที่จะช่วยเป็นทางเลือกในการแสดงข้อความอธิบายคำพูดและเสียงต่าง ๆ

นอกจากการออกแบบสื่อและบริการต่าง ๆ ของไทยพีบีเอส ให้รองรับสำหรับคนพิการด้วยแล้ว ไทยพีบีเอส ยังให้ความสำคัญ และสนับสนุนการจ้างงานคนพิการในองค์กรและการทำงานร่วมกันระหว่างคนพิการและคนทั่วไป โดยไทยพีบีเอสตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนของบุคลากรเพศทางเลือก LGBTQ และคนพิการ เพิ่มขึ้น 4 – 8 % ของจำนวนบุคลากรทั้งหมดภายใน 7 ปี


นายนพัช สุภาปกรณ์ เจ้าหน้าที่ทรัพยากรมนุษย์อาวุโส กล่าวว่า "ปัจจุบันไทยพีบีเอสได้ว่าจ้างผู้พิการในหลายรูปแบบ ทั้งพนักงานประจำ พนักงานสัญญาจ้าง (รายปี) ลูกจ้างโครงการ รวม 9 คน มีความพิการหลายรูปแบบ เช่น พิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย พิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย พิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม กระจายอยู่ในหลายส่วนงาน เช่น ศูนย์ Thai PBS World สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ศูนย์วิจัยและพัฒนาสื่อสาธารณะ ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะฯลฯ ซึ่งถือว่ามีความพร้อมและยินดีอย่างยิ่งในการเปิดโอกาสให้น้อง ๆ สามารถเข้ามาร่วมงานเป็นส่วนหนึ่งของไทยพีบีเอสอย่างเท่าเทียม และคงคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่แตกต่างกับคนทั่วไป"


ทั้งนี้ ในการศึกษาดูงาน น้อง ๆ และ อาจารย์ ได้เดินชมมินิสตูดิโอของสื่อดิจิทัลที่ครบทุกฟังก์ชันการใช้งาน สตูดิโอข่าว ห้องล่ามภาษามือ และบริเวณพื้นที่โดยรอบของไทยพีบีเอส

สามารถติดตามไทยพีบีเอสทุกช่องทางออนไลน์ ได้ที่
▪ Social Media Thai PBS : Facebook, YouTube, X (Twitter), LINE, TikTok, InstagramThreads
▪ Website : www.thaipbs.or.th
▪ Application : Thai PBS

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวประชาสัมพันธ์

บทสัมภาษณ์ผู้บริหาร

ข่าวกิจกรรม

กลับขึ้นด้านบน