เลือกตั้ง 66 ไทยพีบีเอส ชู 7 บริการเด่นบนเว็บไซต์ เพื่อคนไทยไม่พลาดสถานการณ์สำคัญ

การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 กำลังนับถอยหลังเข้าสู่วันที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 52,322,824 คน จะออกไปทำหน้าที่ลงคะแนนเสียงหย่อนบัตร 2 ใบเพื่อเลือก ส.ส.เขต และส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ เป็นการแสดงพลังครั้งสำคัญพร้อมร่วมกำหนดผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ว่าจะเป็นใคร

ไทยพีบีเอสในฐานะสื่อสาธารณะ ได้เปิดตัวเว็บไซต์ www.thaipbs.or.th/Election66 เกาะติดสถานการณ์ครบทุกด้าน พร้อมนำเสนอ 7 บริการพิเศษหลากหลายรูปแบบเพื่อคนไทย ชู Data Viz เป็นจุดเด่นนำเสนอข้อมูลเพื่อการเลือกตั้งในรูปแบบมัลติมีเดีย พร้อมบริการคำศัพท์การเมืองในรูปแบบภาษามือเพื่อคนหูหนวก ตามจุดยืนการเลือกตั้งอย่างเท่าเทียม (Election for All)

อีกทั้งเป็นพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับกิจกรรมและเกม “ขอ 1 คำ” ร่วมส่งเสียงโดยตรงถึงนักการเมือง พร้อมเชื่อมโยงเนื้อหาร่วมกับ Decode เพื่อสะท้อนมุมมองภาคพลเมืองสู่การเลือกตั้ง รวมถึงการผนึกกำลัง 50 องค์กร ระดมอาสา 1 แสนคนเพื่อรายงานผลคะแนนแบบเรียลไทม์ให้คุณไม่พลาดทุกสถานการณ์ เพียงแค่ติดตามไทยพีบีเอสไปด้วยกัน

นางสาวกนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส เปิดเผยว่า ไทยพีบีเอสให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งทั่วไป 2566 โดยกำหนดเป็นวาระสื่อสารในบทบาทสื่อสาธารณะเพื่อขับเคลื่อนวาระเลือกตั้ง ไม่เพียงการจัดตั้งศูนย์อำนวยการสื่อสารวาระเลือกตั้งทั่วไป 2566 หรือ War Room เพื่อจัดทัพและวางแผนการทำงานของไทยพีบีเอสร่วมกับนักสื่อสารภาคพลเมือง กว่า 300 คนให้เป็นภารกิจหลักในการรายงานข่าวและผลการเลือกตั้ง ผ่านทางทุกแพลตฟอร์มของไทยพีบีเอส

โดยสำนักสื่อดิจิทัลได้เปิดแพลตฟอร์มเว็บไซต์ www.thaipbs.or.th/Election66 เพื่อเป็นแหล่งรวมทุกข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งตลอดจนสาระความรู้ประกอบการเลือกตั้ง 66 พร้อมเชื่อมโยงเนื้อหาเลือกตั้งและความเคลื่อนไหวกับ TheActive.net รวมถึง Decode.plus โดยสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ร่วมเปิดพื้นที่นำเสนอเสียงสะท้อนด้านนโยบายผลกระทบสิ่งแวดล้อมผ่านแต่ละเวทีไปยังนักการเมืองทุกพรรค ล้วนเป็นพื้นที่เพื่อให้ผู้ใช้งานเข้ามามีส่วนร่วมกับไทยพีบีเอสในเว็บไซต์เลือกตั้งครั้งนี้


“การนำเสนอข้อมูลข่าวสารเลือกตั้ง 66 ครั้งนี้นอกจากทางหน้าจอโทรทัศน์ ช่องหมายเลข 3 บนดิจิทัลแพลตฟอร์มของไทยพีบีเอสจะเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญที่จะเป็นสื่อกลางนำเสนอเนื้อหาหลากหลาย อาทิ คอลัมน์ DATA Viz WITH ELECTION นำเสนอข้อมูลในรูปแบบ Interactive เล่าเรื่องผ่านสื่อผสมในประเด็นที่สังคมสนใจ, การสรุปข้อมูลการเมืองและความรู้การเลือกตั้งในรูปแบบอินโฟกราฟิกให้ดูง่าย เข้าใจง่าย จบในตัว, การนำเสนอข้อมูล Social Listening เพื่อจับกระแสบนโซเชียลมีเดียว่ากำลังพูดถึงหรือสนใจประเด็น หรือมีคีย์เวิร์ดอะไรที่สังคมจับตาเป็นพิเศษ เพื่อให้ผู้สนใจข่าวเลือกตั้งได้ติดตามได้อย่างเท่าทันทุกความเคลื่อนไหว

ที่สำคัญเรายังมีบริการพิเศษภายใต้ความร่วมมือกับสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย เพื่อจัดทำคำศัพท์การเมืองใหม่ ๆ ในรูปแบบภาษามือใหญ่เต็มจอ ผ่านเว็บไซต์เลือกตั้ง 66 และแพลตฟอร์ม VIPA เพื่อให้เป็นคอนเทนต์ที่เสนอความรู้และความเข้าใจให้คนหูหนวก และคนทั่วไปให้เข้าใจภาษามือที่นำไปใช้ทางการเมืองมากยิ่งขึ้นด้วย” นางสาวกนกพร ระบุและย้ำว่า นอกจากนี้ไทยพีบีเอสยังเปิดให้ประชาชนส่งข้อคิดความเห็นในรายการตอบโจทย์ ผ่าน LINE @ThaiPBS จนถึงวันเลือกตั้งอีกด้วย 


สำหรับบริการพิเศษ 7 รูปแบบที่โดดเด่นในเว็บไซต์เลือกตั้ง ประกอบด้วย

1. DATA Viz WITH ELECTION

การนำเสนอข้อมูลและเนื้อหาความรู้ในมุมมองที่หลากหลายในการเลือกตั้ง 66 ในรูปแบบของมัลติมีเดีย เล่าเรื่องผ่านเทคนิค Visualization ให้มีความต่อเนื่องและน่าสนใจด้วย Interactive เลือกใช้สื่อผสมทั้งบทความ ภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว

2. Infographic

ย่อยเนื้อหาและข้อมูลสถิติจำนวนมากเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 66 ที่น่าสนใจและเป็นประเด็นสำคัญ สรุปออกมาในรูปแบบกราฟิกจบครบในหน้าเดียว ช่วยให้อ่านง่าย เข้าใจเร็ว และแชร์ความรู้แบ่งปันได้สะดวกขึ้น

3. Election for All

นำเสนอข่าวสารและความรู้ในการเลือกตั้ง 66 ให้เข้าถึงผู้รับสารทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นบริการอ่านข่าวเลือกตั้งจากเสียงผู้ประกาศ AI รวมถึงในรูปแบบของ Podcast สำหรับคนตาบอด และบริการพิเศษสำหรับคนหูหนวกยังมี “Big Sign” ภาษามือ ใหญ่เต็มจอ ในรายการดีเบตประชันวิสัยทัศน์ของดีเบตแต่ละพรรค รวมถึงนำเสนอศัพท์การเมืองใหม่ ๆ ทั้งชื่อพรรคการเมือง หรือคำศัพท์ใหม่ ๆ ในการเลือกตั้งครั้งนี้เพื่อให้คนหูหนวกเข้าใจความหมายมากยิ่งขึ้น

4. Play & Share

เน้นการเป็นพื้นที่สื่อกลางให้ประชาชนได้เสนอความเห็น ส่งต่อความคิด และสะท้อนมุมมองในเรื่องราวต่าง ๆ ในกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ “ขอ 1 คำ” เพื่อฝากข้อความเหล่านี้เป็นเสียงสะท้อนไปยังนักการเมืองทุกพรรคให้ใช้ขับเคลื่อนนโยบายบริหารประเทศต่อไป

5. Quick View

คลิปวิดีโอสั้น นำเสนอทุกเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองในช่วงเลือกตั้ง เข้าใจง่าย ทันทุกกระแส ทำให้ไม่พลาดกับประเด็นสำคัญการเมือง

6. Thai PBS Multi-View

ติดตามรับชมการถ่ายทอดสด เวทีไทยพีบีเอสดีเบตใหญ่ เลือกตั้ง 66 เลือกอนาคตประเทศไทย ในวันศุกร์ 21 เมษายน 2566 กับหลากหลายมุมมอง ที่คุณสามารถเลือกรับชมได้ตามต้องการ

7. Real-Time Election Result

การรายงานผลคะแนนเลือกตั้ง (อย่างไม่เป็นทางการ) ในมิติต่าง ๆ สดนาทีต่อนาที ร่วมลุ้นผลการเลือกตั้งแบบ Interactive รองรับทุกอุปกรณ์ ด้วยความร่วมมือในการรายงานผลคะแนนเลือกตั้งร่วมกับ 50 องค์กร และอาสาสมัครนับคะแนนจากทั่วประเทศ


นอกจากนี้ ผอ.สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส ยังเปิดเผยว่า ภายใต้ความร่วมมือโดยสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล(ประเทศไทย), สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสื่ออิสระรวมกว่า 34 สำนัก รวมถึงองค์กรภาคประชาสังคม อาทิ สมาคมฟินเทคประเทศไทย, สมาคมเมตาเวิร์สไทย, D-Vote, โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), Vote62, WeWatch, Opendream, CoFact และ ดร.ลอย ชุนพงษ์ทอง ในฐานะนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญสาขาคณิตศาสตร์และสถิติ ร่วมกันพัฒนาแอปพลิเคชันรายงานผลคะแนนเลือกตั้งทั่วไปปี 2566

นับเป็นครั้งแรกกับการนำเทคโนโลยี Crowdfunding เพื่อระดมทุนสำหรับสนับสนุนอาสาสมัคร 100,000 คน ในภารกิจรายงานผลคะแนนเลือกตั้งจาก 95,000 หน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศแบบเรียลไทม์ เริ่มรายงานผลการนับคะแนนแต่ละหน่วยเลือกตั้งจากทุกเขต หลังปิดหีบเลือกตั้งประมาณ 17.15 น.เป็นต้นไป ซึ่งเว็บไซต์และทุกแพลตฟอร์มของไทยพีบีเอสจะร่วมกันนำเสนอการรายงานผลคะแนนเลือกตั้ง 66 ให้ผู้ชมไทยพีบีเอสได้รับข้อมูลที่มีความถูกต้องและน่าเชื่อถืออย่างมีประสิทธิภาพต่อไปอีกด้วย

ติดตามการเลือกตั้งครั้งสำคัญนี้ได้ทางไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3 และทุกช่องทางออนไลน์ เว็บไซต์ www.thaipbs.or.th/Election66 โซเชียลมีเดีย Thai PBS : Facebook, YouTube, Instagram, TikTok, และ LINE @ThaiPBS

เรื่องน่ารู้ก่อนเลือกตั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวประชาสัมพันธ์

บทสัมภาษณ์ผู้บริหาร

ข่าวกิจกรรม

กลับขึ้นด้านบน