เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส ร่วมกับโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรมค่าย “โรงเรียนนักสร้างเรื่อง” ครั้งที่ 1 ระหว่าง วันที่ 16-18 มีนาคม 2566 เพื่อให้ผู้เรียนได้วิเคราะห์และวิจารณ์สหสื่อ เข้าใจกระบวนการทำงานสร้างสรรค์ของสื่อสาธารณะ และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนร่วมกิจกรรมการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการ สามารถนำประสบการณ์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป
นายณัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์ รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ด้านการมีส่วนร่วม ไทยพีบีเอส กล่าวว่า ไทยพีบีเอส เป็นองค์กรสื่อสาธารณะที่ไม่แสวงหาผลกำไรแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อดำเนินการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ภายใต้แนวคิด "คุณค่าที่ยึดโยงกับประชาชน" โดยไทยพีบีเอสเพิ่งครบรอบ 15 ปี เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2566 ถือเป็นวัย 15ปีที่ไม่ใช่เด็ก ไม่ใช่ผู้ใหญ่ แต่เป็นวัยที่เรียนรู้ กำลังเติบโต และพร้อมรับฟังเสียงของคนรุ่นใหม่ และนำมาปรับปรุงพัฒนาต่อไป
“อยากให้การมาค่าย “โรงเรียนนักสร้างเรื่อง” ครั้งนี้ เป็นการมาดูงานที่มีความหมาย ทุกคนที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ มีความสนใจในกระบวนการทำงานของสื่อสารมวลชนทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลัง อยากให้น้อง ๆ ได้ตั้งคำถาม ความจำเป็น ของสื่อโทรทัศน์ที่คนในยุคนี้อาจจะดูทีวีกันน้อยลง และรู้สึกว่าข่าวสารก็ดูได้จากหลายช่องทาง เช่น ทวิตเตอร์ จริง ๆ แล้ว ทีวีสาธารณะมีความจำเป็นแค่ไหน ดังนั้น จะชวนสะท้อนความคาดหวังต่อองค์กร ซึ่งเรายินดี ถ้ามีคำถามสามารถถามได้เต็มที่ ทุกคำถามจะนำมาซึ่งการปรับปรุงแน่นอน สุดท้ายหวังว่าทุกคนจะได้รับความสนุกสนาน และประโยชน์กลับไป” รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. กล่าว
ด้าน นายบัณฑิต ศิริรักษ์โสภณ ครูกระบวนการ ร.ร.สาธิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะตัวแทนครูที่เข้าร่วมกิจกรรมโครงการ “โรงเรียนนักสร้างเรื่อง” กล่าวว่า นักข่าว นักสื่อสารมวลชน ถือเป็นอาชีพที่มีความสำคัญเป็นส่วนหนึ่งที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนสังคม ทุกข่าวที่เขียนสำคัญมากเข้าใจว่าทุกคนต้องฝึกฝนอย่างมาก รวมถึงสภาวะการเปลี่ยนผ่านจากยุคหนังสือพิมพ์สู่การทำโทรทัศน์และสื่อดิจิทัล ดังนั้น กระบวนการเรียนรู้การทำงานน่าจะเป็นประโยชน์กับนักเรียนในหลายทักษะที่มีความสำคัญที่เด็กมัธยมมีโอกาสได้เรียนรู้
สำหรับน้อง ๆ ที่มาร่วมกิจกรรมค่าย “โรงเรียนนักสร้างเรื่อง” ครั้งที่ 1 มาจากการรับสมัคร นักเรียนระดับมัธยมศึกษาที่สนใจร่วมกิจกรรมการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการเพื่อเข้าใจกระบวนการทำงานสร้างสรรค์ของสื่อสาธารณะ และการริเริ่มสร้างสื่อภาคพลเมือง ซึ่งหลายคนมีความใฝ่ฝันอยากเป็นซาวน์เอนจิเนียร์ (SOUND ENGINEER) หรือ วิศวกรเสียง โปรดิวเซอร์ ผู้ประกาศข่าว นักพากย์ ฯลฯ
นอกจากนี้อยากรู้วิธีการสร้างสื่อ การทำงานในรายการโทรทัศน์ เพื่อนำความรู้ไปต่อยอดสู่อาชีพที่ชื่นชอบ หรือบางคนอยากค้นพบความสนใจใหม่ ๆ ของตัวเอง ที่สำคัญการเข้าร่วมกิจกรรมถือเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ไม่สามารถหาได้ง่ายๆ ด้วย
ทั้งนี้ สามารถติดตามข่าวสารและประเด็นที่น่าสนใจได้ทุกช่องทางของ Thai PBS Podcast Website : www.thaipbspodcast.com และ แอปพลิเคชัน Thai PBS Podcast ทั้งระบบ iOS และ Android รวมถึง Podcast ในช่องทางอื่น ๆ คือ Apple Podcast, Google Podcast, Spotify, SoundCloud, Podbean
ไม่พลาดทุกเหตุการณ์สำคัญกับ Thai PBS ทาง Website www.thaipbs.or.th Facebook : @ThaiPBS YouTube : @ThaiPBS และ LINE : @ThaiPBS