เสนอไทยพีบีเอสเดินหน้าชูธง “กล้าหาญ - สร้างโอกาส” ฝ่าวิกฤตประเทศ

วงเสวนา “บทบาทสื่อในภาวะวิกฤต” “อภิสิทธิ์” เสนอไทยพีบีเอสเปิดพื้นที่สร้างเวทีให้คนเห็นต่างมาพูดกัน หลายคนเน้นไทยพีบีเอสต้อง “กล้าหาญ”และ“สร้างโอกาส” ร่วมนำพาประเทศฝ่าวิกฤต 6 ด้าน ต้องเป็นศูนย์รวมข่าวสารที่เชื่อถือได้ มุ่งเน้นแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างทุกมิติ ทำข่าวเชิงสืบสวน ตรวจสอบข่าวลวงข่าวปลอม สร้างพลังนักข่าวพลเมืองร่วมตรวจสอบกับไทยพีบีเอสอย่างเป็นระบบ ตัวอย่างกรณี “เสาไฟกินรี” พบที่ไหนส่งภาพมารวมกัน

เมื่อบ่ายวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 คณะกรรมการนโยบายร่วมกับฝ่ายบริหาร ส.ส.ท. จัดประชุมระดมความคิดเรื่อง “บทบาทสื่อในภาวะวิกฤต” ทางออนไลน์ผ่านระบบ Zoom โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 8 คนจากภาคส่วนต่าง ๆ เข้าร่วมการเสวนา ได้แก่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (อดีตนายกรัฐมนตรี) สมชาย แสวงการ (สมาชิกวุฒิสภา) ทวี สอดส่อง (ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ) ปดิพัทธ์ สันติภาดา (ส.ส. พรรคก้าวไกล) ทิชา ณ นคร (ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก) ฐปณีย์ เอียดศรีไชย (ผู้ก่อตั้ง The Reporter) สฤณี อาชวานันทกุล (นักวิชาการอิสระ) ประกาศิต กายะสิทธิ์ (รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.) โดยมีกรรมการนโยบาย ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. กรรมการบริหาร และผู้อำนวยการสำนักด้านข่าวและเนื้อหารวมถึงสื่อใหม่เข้าร่วม

รองศาสตราจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธาน กนย. และ วราวิทย์ ฉิมมณี เป็นผู้ดำเนินรายการได้เสนอประเด็นเสวนาเพื่อชวนวิเคราะห์วิกฤตของประเทศและของสื่อมวลชน ความเห็นต่อบทบาทสื่อมวลชนในภาวะวิกฤตและข้อเสนอต่อไทยพีบีเอส

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ เริ่มเสวนาโดยให้ภาพรวมวิกฤตของสังคมไทยด้านต่าง ๆ ซึ่งเชื่อมโยงกับสถานการณ์โลกในปัจจุบันในประเด็นของสื่อ สิ่งที่ปรากฏ คือ สื่อหลักที่มีอยู่เดิมจำนวนหนึ่งวิ่งตามสื่อโซเชียล และคนมีแนวโน้มที่จะเสพข้อมูลจากสื่อโซเชียลเป็นหลัก จึงเป็นความท้าทายต่อไทยพีบีเอสที่อิสระจากอิทธิพล ของทุนและอำนาจ จะแสดงบทบาทของตนเองอย่างไรว่ามีความต่างหรือความเหนือกว่าสื่อทั่วไปหรือสื่อโซเชียลต่าง ๆ ที่อ้าง “ใครก็เป็นสื่อได้” ทั้งนี้ สื่ออาชีพจะเหนือกว่าสื่อโซเชียลได้ก็ต้องมีการลงทุนให้นักข่าวมีทั้งความรู้ที่ลึกและมีทักษะการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน (invest - investigate) สามารถหยิบยกข้อมูลเฉพาะหน้าหรือเหตุการณ์ประจำวันมานำเสนอให้คนเข้าใจถึงบริบทของเรื่องนั้น ๆ โดยมีการศึกษามาเป็นอย่างดี และยังเสนอต่อไทยพีบีเอสให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็นต่าง สร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในการส่งเสริมประชาธิปไตย ในส่วนปัญหาข่าวลวงหรือเฟคนิวส์ไม่ควรให้หน่วยราชการหรือรัฐบาลผู้มีส่วนได้เสียมากำหนดว่า อะไรที่ใช่หรือไม่ใช่เฟคนิวส์ แต่ควรใช้กลไกที่เป็นกลางมาตรวจสอบเรื่องนี้

จากนั้น ผู้ทรงคุณวุฒิอื่น ๆ ได้นำเสนอความเห็นและผู้ดำเนินรายการซักถามเพิ่มเติม รวมทั้งมีการอภิปรายความเห็นช่วงท้าย ทั้งนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิได้แสดงความชื่นชมการนำเสนอข่าวสารและรายการในภาวะวิกฤต ที่ได้สร้างความรับรู้ต่อเหตุการณ์และให้ข้อมูลอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ช่วยเหลือ 13 หมูป่าติดถ้ำ การยิงกราดที่โคราช รวมถึงการตั้งศูนย์ประสานฉุกเฉินไทยพีบีเอสสู้โควิด-19

 

 

ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้น รองศาสตราจารย์เจิมศักดิ์ ประธาน กนย. เปิดเผยว่า โดยภาพรวมของเสียงสะท้อน แง่คิดมุมมอง และข้อเสนอแนะต่าง ๆ จากผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละคนมีสาระหลัก ที่ตรงกันอยู่และแตกต่างบ้าง พอจะประมวลได้ ดังนี้

สภาวะวิกฤตในปัจจุบันของประเทศไทยที่ต่างเชื่อมโยงกัน ประกอบด้วย 1. เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง อย่างรวดเร็ว ใครก็เป็นสื่อได้ 2. โรคระบาดโควิด-19 ส่งผลสะเทือนต่อการบริหารระบบสาธารณสุข 3. เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ความสามารถในการแข่งขันลดลง เกิดปัญหาปากท้องซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ 4. การเมืองรวมศูนย์ เกิดการแตกแยกสูง 5. ระบบราชการไม่สามารถทำงานแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 6. วิกฤตศรัทธาต่อผู้นำ การเมือง และการบริหารแบบรัฐราชการ

ข้อเสนอสำคัญต่อบทบาทสื่อในสภาวะวิกฤตที่เกี่ยวข้องกับไทยพีบีเอสคือ ไทยพีบีเอสต้อง “กล้าหาญ” และ “สร้างโอกาส” จากต้นทุนการเป็นสื่อสาธารณะที่ได้รับเงินบำรุงจากภาษีของประชาชน โดยสรุปข้อเสนอแนะได้ 9 ประการ ดังนี้

  1. เป็นสำนักข่าว นำเสนอข่าวน่าเชื่อถือที่สุด อ้างอิงได้ ท่ามกลางสภาวะที่ใครก็ทำข่าวได้
  2. เป็นเวทีที่เปิดพี้นที่ให้คนมีความเห็นต่างกัน ได้แสดงออกและรับฟังกัน
  3. เข้าใจปัญหาประเทศในเชิงโครงสร้าง และผลิตข่าวสารที่มุ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม การเมือง
  4. มีความกล้าหาญ ทำข่าวหรือนำเสนอประเด็นที่สื่ออื่นมีข้อจำกัด ไม่กล้าทำ
  5. กล้าที่จะเป็นผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในสภาวะข่าวลวง ข่าวปลอม หรือแม้กระทั่งตรวจสอบสื่อด้วยกันเอง
  6. วางบทบาทเป็นแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง มีฐานข้อมูลข่าวสารให้สื่ออื่น ๆ นำไปใช้ประโยชน์ต่อ สาธารณะหรือประชาชนเข้าถึงได้
  7. เพิ่มพลังสื่อภาคพลเมือง รวบรวมเสียงประชาชนอย่างเป็นระบบ เช่น กรณีเสาไฟกินรีที่อาจพบเห็นในจังหวัดอื่น ๆ ประชาชนสามารถส่งข้อมูลมาเผยแพร่ร่วมกัน
  8. กล้าที่จะไม่สนใจยอดผู้ชมโดยตรงเหมือนสื่ออื่นที่ต้องสร้างความแปลก แต่หาพันธมิตรและเครือข่าย เพื่อต่อยอดการสร้างสรรค์ใหม่ ๆ
  9. สร้างเครือข่ายทั้งในวิชาชีพสื่อด้วยกัน และเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อลงทุน วิเคราะห์เจาะลึก รวบรวมฐานข้อมูล ใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างคุ้มค่า

วราวิทย์ ผู้ดำเนินรายการรับที่จะนำไปเผยแพร่เชื่อมต่อกับผู้ปฏิบัติงานในทุกระดับของ ส.ส.ท.

ประธาน กนย. กล่าวว่า ข้อคิดและข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายในองค์กรน่าจะนำไปพิจารณา วิเคราะห์ปรับทิศทางและใช้ในการพัฒนาการทำงานให้ดียิ่งขึ้น เพื่อร่วมนำพาประเทศให้ก้าวพ้นวิกฤตต่าง ๆ ให้ได้ แล้วไทยพีบีเอสจะเป็นที่ยอมรับจากสังคมว่า เป็นสื่อสาธารณะที่คุ้มค่าอย่างแท้จริง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวประชาสัมพันธ์

บทสัมภาษณ์ผู้บริหาร

ข่าวกิจกรรม

กลับขึ้นด้านบน