ไทยพีบีเอส เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตเสนอไอเดียสร้างสรรค์รายการ ตั้งแต่ 23 - 25 พ.ย. 63

องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตรายการและบุคคลที่สนใจได้สร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ๆ เพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดสรรใน โครงการเปิดรับรายการ Commissioning 2563 ตามวัตถุประสงค์หลักขององค์การ ฯ ในการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพและการสร้างสรรค์การผลิตรายการของผู้ผลิตรายการอิสระ ผู้ที่สนใจสามารถนำเสนอรายการได้ตามรายละเอียดดังนี้

ข้อมูลเนื้อหารายการที่เปิดรับ แบ่งเป็น 6 ประเด็นหัวข้อ ดังนี้

  1. ปากท้อง และเรียนรู้ (ที่เกิดจากผลกระทบ COVID-19) และคุณภาพชีวิต
  2. สิทธิ และบทบาทหน้าที่ของความเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย (Civic Education)
  3. การศึกษา การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning)
  4. การกระจายอำนาจ สังคมสวัสดิการ
  5. สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และความสมดุลทางธรรมชาติ
  6. รายการสำหรับเด็กและครอบครัว

1. ปากท้อง และเรียนรู้ (ที่เกิดจากผลกระทบ COVID-19) และคุณภาพชีวิต

ผลกระทบจาก COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศ การปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และ Social Distancing ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ที่เคยเป็นธุรกิจสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับประเทศชาติกว่า 30% ของ GDP ทำให้คนจำนวนมากต้องตกงาน ไม่มีงานทำ หรือต้องเปลี่ยนไปทำงานอื่นจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ทว่าไม่มีใครที่สามารถให้คำตอบได้อย่างแน่ชัดว่า วิกฤตินี้ จะสิ้นสุดเมื่อไร

ส.ส.ท. ในฐานะสื่อสาธารณะแห่งชาติ ต้องทำหน้าที่ในฐานะแหล่งข้อมูลข่าวสารและการเรียนรู้ ที่ช่วยให้ประชาชนพร้อมที่จะปรับตัวในยุคที่เกิดการ Disruption รอบด้าน ด้วยรายการที่ให้สาระ ความรู้ ในการที่จะใช้ชีวิตรอดในช่วงวิกฤติ ทั้งรายการที่ช่วยทำให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้ที่จะปรับตัว ช่วยสร้างรายได้ สร้างอาชีพเสริม หรือสร้างแนวคิดใหม่ ๆ ในการใช้ชีวิตผ่านวิกฤติยุค New Normal ช่วยให้ประชาชนเกิดการ Empower สร้างพลังด้านบวกที่จะมีชีวิตต่อไปอย่างเข้มแข็ง รวมถึงการให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ที่จะช่วยลดวิกฤติความขัดแย้ง และทำให้สังคมและเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน เป็นการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาปากท้อง และนำพาให้ชีวิต สังคม รวมถึงประเทศชาติ ไปสู่การมีประโยชน์สุขและความยั่งยืน

ตัวอย่างประเด็น - เนื้อหารายการ

  • การสร้างงาน – สร้างอาชีพ – อาชีพใหม่ - อาชีพและการหารายได้
  • การปรับตัวในภาวะ Disruption
  • การจัดการรายได้-บริหารการเงิน – การออม - การจัดการหนี้
  • ช่องทางอาชีพทำกิน (เช่น เกษตร/ท่องเที่ยว/อุตสาหกรรม/ชุมชน ฯลฯ)
  • ให้ความรู้เรื่องโครงการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ (OTOP/SME/โครงการ เอกชน-รัฐ)
  • การพึ่งพิงระหว่างกันเพื่อให้เกิดรายได้และการนำความรู้มาใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต
  • ศาสตร์และองค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อการใช้ชีวิตได้ประโยชน์สุขและความยั่งยืน
  • คุณภาพชีวิตในวัยเกษียณ - ผู้สูงอายุและระบบสวัสดิการ

 

2. สิทธิ และบทบาทหน้าที่ของความเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย (Civic Education)

ในสภาวะวิกฤติการทางการเมือง กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศต้องหยุดชะงัก กระทบถึงการเติบโตของเศรษฐกิจ และกลายเป็นวิกฤติการณ์ทางสังคม ส.ส.ท. ในฐานะสื่อสาธารณะ จำเป็นต้องให้ข่าวสารที่ถูกต้อง เป็นธรรม เพื่อที่จะลดความขัดแย้งในสังคม เสนอแนวคิดสันติวิธี รวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และสร้างความพร้อมให้กับประชาชนเพื่อเตรียมพร้อมรับการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ และอาจรวมถึงการให้ความรู้ในกระบวนการร่างและแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างถูกต้องและเป็นธรรม สร้างความรู้ความเข้าใจในระบอบการเมืองการปกครองของไทย เพื่อความเข้าใจพื้นฐานความเป็นชาติ จริยธรรม ศีลธรรม หน้าที่พลเมือง และมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างทางการเมืองการปกครองอย่างบูรณาการและยั่งยืน

ตัวอย่างประเด็น - เนื้อหารายการ

  • ปัญหาการเมือง - การปกครอง
  • เรียนรู้จากประวัติศาสตร์
  • ศึกษา วิเคราะห์ เข้าใจ รัฐธรรมนูญ
  • พื้นที่กลางทางการเมือง – หาทางออก – คลายความขัดแย้ง - แนวทางสันติวิธี
  • จริยธรรม, ศีลธรรม, หน้าที่พลเมือง

 

3. การศึกษา การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning)

ส.ส.ท. ต้องมีส่วนสำคัญ ในฐานะสื่อที่มีบทบาทในการช่วยลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผ่านช่องทางต่าง ๆ ไม่ใช่เฉพาะแต่รายการหน้าจอโทรทัศน์ แต่รวมถึงกระบวนการ Transmedia เนื้อหารายการที่จะสร้างระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ที่จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงข่าวสารสาระในทุกช่องทาง โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ข้อมูลข่าวสารมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

รายการและสารคดีของ ส.ส.ท. ควรมีความทันสมัยทั้งในด้านรูปแบบและเนื้อหา มีความหลากหลาย และมีความเป็นสากล เข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย รวมไปถึงกลุ่มคนพิการและคนด้อยโอกาสซึ่งถูกมองข้ามมาโดยตลอด นอกจากจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสทางการเรียนรู้อย่างทั่วถึงแล้ว ในฐานะทีวีสาธารณะแห่งชาติยังต้องทำหน้าที่ในการส่งออกวัฒนธรรมและความเป็นไทยออกสู่สากล พัฒนาเนื้อหารายการให้เป็นที่ยอมรับทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อก่อให้เกิดระบบนิเวศทางการเรียนรู้ที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

ตัวอย่างประเด็น - เนื้อหารายการ

  • การสร้างโอกาสการเรียนรู้
  • การเรียนรู้ด้วยตัวเอง
  • ความรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้
  • รายการ how-to
  • รายการส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรมในทุกระดับ
  • วิถีไทยและมรดกจากคนรุ่นเก่า เกียรติยศความเป็นไทย

 

4. การกระจายอำนาจ สังคมสวัสดิการ

ในปี 2564 จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ ส.ส.ท. ในฐานะองค์กรที่ส่งเสริมประชาธิปไตยในทุกระดับชั้น จึงต้องทำหน้าที่ในฐานะสื่อที่สร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับการเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อสร้างกระบวนการทางประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนในทุกระดับ สร้างผู้นำชุมชนที่มีจิตวิญญาณประชาธิปไตย อันจะนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งทางการเมืองในทุกระดับ ลดความขัดแย้งทางการเมือง ช่องว่างทางสังคม ส่งเสริมการกระจายอำนาจและสร้างความเท่าเทียมสู่ประชาชนในทุกระดับอย่างแท้จริง

ตัวอย่างประเด็น - เนื้อหารายการ

  • รายการที่ให้ความรู้ เสริมสร้างความเข้าใจในการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น
  • รายการที่สื่อสารกับชาวบ้านในระดับชุมชน – ท้องถิ่น
  • รายการที่ Empower ท้องถิ่น - ชนบท และลดความขัดแย้งในชุมชน
  • แนวคิดสังคมสวัสดิการ ชุมชนพึ่งพาและจัดการตนเอง

 

5. สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และความสมดุลทางธรรมชาติ

ปัญหาฝุ่นควัน มลพิษ ขยะ สารพิษตกค้าง การรุกพื้นที่ป่าและการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้อย่างเกินความจำเป็นได้กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์ที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ หน้าที่ของ ส.ส.ท. ในฐานะสื่อสาธารณะ ไม่เพียงให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องน่าเชื่อถือ แต่ยังต้องสร้างจิตสำนึกและความเข้าใจปัญหาสิ่งแวดล้อมในทุกระดับ ตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน สังคม ไปจนถึงระดับสากล ผ่านรายการและสารคดีที่ให้ความรู้ ข้อมูลที่ก่อให้เกิดความตระหนักถึงปัญหา สร้างจิตสำนึกสาธารณะในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นำเสนอเรื่องราวแบบอย่างของชุมชนและบุคคลที่เป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ และผลักดันประเด็นทางสิ่งแวดล้อมให้กลายเป็นนโยบายทางสังคมที่นำไปสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับสากล เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ปัญหาของใครหรือชุมชนใดชุมชนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาที่คนทั้งโลกต้องช่วยกันแก้ไข เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนแก่ลูกหลานของเราในอนาคตสืบต่อไป

ตัวอย่างประเด็น-เนื้อหารายการ

  • รายการเกี่ยวกับขยะ - ปัญหาการจัดการทรัพยากร Zero Waste
  • รายการเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อน Global Warming
  • รายการที่มีเนื้อหาลดการทำลายสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากร – สัตว์ – ป่าไม้ - น้ำ
  • รายการต้นแบบ ชุมชนต้นแบบการอนุรักษ์ การใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติ รับฟังปัญหาสิ่งแวดล้อม
  • ชุมชนกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร การอยู่ร่วมในระบบนิเวศเดียวกันของคนและสัตว์
  • ประโยชน์สุขและความยั่งยืนของประชาชน, ชุมชน และ ชาติ

 

6. รายการสำหรับเด็กและครอบครัว

ส.ส.ท. ในบทบาทของสื่อสาธารณะตระหนักถึงความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการให้บริการในช่องทางสื่อทีวีดิจิตอล (on air) สื่อออนไลน์ (online) และสื่อกิจกรรม (on ground) ให้เป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ของเด็กและครอบครัว ตลอดจนเป็นคลังความรู้สำหรับโรงเรียนและชุมชน โดยมุ่งหวังจะบรรลุเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์องค์กร ปี 2564 ในการเป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับทุกคน (Learning Space for All) โดยมีวัตถุประสงค์ในการผลิตและจัดหารายการ ดังนี้

  1. เพื่อเติมเต็มระบบนิเวศที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและสอดคล้องกับพัฒนาการสำหรับเด็กตามช่วงวัย
  2. เสริมสร้างการเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัวผ่านเนื้อหาและช่องทางต่าง ๆ ของ ส.ส.ท. เพื่อตอบสนองต่อการมีทักษะแห่งอนาคต
  3. เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยน เรียนรู้ แบ่งปันประสบการณ์สำหรับครอบครัว โรงเรียน ชุมชน
  4. เป็นพื้นที่ความร่วมมือ ร่วมปฏิบัติการของเครือข่ายที่ทำงานเพื่อเด็กและครอบครัว

ตัวอย่างประเด็น-เนื้อหารายการ

  • เนื้อหา - รายการ เสริมสร้างพัฒนาการและทักษะที่สอดคล้องเหมาะสมสำหรับเด็กวัย 3 - 6 ปี
  • เนื้อหา - รายการ สร้างเสริมการเรียนรู้ ประสบการณ์ ทักษะการใช้ชีวิต สำหรับเด็กวัย 7 - 12 ปี
  • เนื้อหา - รายการ ส่งเสริมการศึกษา ที่สอดคล้องกับสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่มสำหรับเด็กประถมศึกษา
  • เนื้อหา - รายการ ที่สอดคล้องกับหลักสูตรฐานสมรรถนะ เพื่อเตรียมความพร้อมผู้สอนและผู้เรียนสู่การศึกษารูปแบบใหม่
  • เนื้อหา - รายการที่ออกแบบให้เป็น Transmedia หรือ Multiplatform เชื่อมโยงระหว่างช่องทาง on air - online - on ground สำหรับเด็กปฐมวัยและเด็กประถมศึกษา
  • เนื้อหา - รายการที่พัฒนาและต่อยอดให้เป็นคลังความรู้และข้อมูลสำหรับผู้ปกครอง ครู ผู้มีหน้าที่ใน การดูแลเด็กและเยาวชน

ประเภทรายการที่เปิดรับ

  • สารประโยชน์
  • สาระบันเทิง
  • สารคดี
  • ละคร
  • รายการสำหรับเด็กและเยาวชน

คุณสมบัติและเงื่อนไขการเสนอรายการ

คุณสมบัติของผู้เสนอรายการ

ประเภทคณะบุคคล กลุ่มบุคคล หรือนิติบุคคล

  1. ต้องจดทะเบียนในประเทศไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบอาชีพเป็นผู้ผลิตรายการ ละคร โฆษณา หรือสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นต้น
  2. ต้องเป็นผู้มีทักษะประสบการณ์ในการบริหารจัดการและสร้างสรรค์งานรายการ
  3. ต้องลงทะเบียนเป็นผู้ค้ากับภาครัฐ โดยยื่นแบบแสดงการลงทะเบียนในระบบ e-GP สำหรับผู้ประกอบการที่จะทำธุรกรรมกับภาครัฐ
  4. ต้องไม่เป็นผู้ที่ถูกแจ้งเวียนชื่อ เป็นผู้ทิ้งงานของทางราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือไม่เป็นผู้ที่ได้รับผลของการสั่งให้นิติบุคคล หรือบุคคลอื่นเป็นผู้ทิ้งงานตามระเบียบของทางราชการ หรือห้ามเข้าเสนอราคากับ ส.ส.ท.
  5. ต้องไม่อยู่ในฐานะซึ่งได้มีการระบุชื่อไว้ในบัญชีรายชื่อว่าเป็นคู่สัญญาที่ไม่ได้แสดงบัญชีรายรับรายจ่าย หรือแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายไม่ถูกต้องครบถ้วนในสาระสำคัญ ในทะเบียนของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
  6. ต้องไม่มีพนักงานของ ส.ส.ท. หรือคู่สมรส หรือบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของพนักงานของ ส.ส.ท. เข้าไปมีส่วนได้เสียกับผู้ยื่นเสนอรายการ

ประเภทคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

  1. ต้องจดทะเบียนในประเทศไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบอาชีพเป็นผู้ผลิตรายการ ละคร โฆษณา หรือสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นต้น
  2. ต้องเป็นผู้มีทักษะประสบการณ์ในการบริหารจัดการและสร้างสรรค์งานรายการ
  3. ต้องลงทะเบียนเป็นผู้ค้ากับภาครัฐ โดยยื่นแบบแสดงการลงทะเบียนในระบบ e-GP สำหรับผู้ประกอบการที่จะทำธุรกรรมกับภาครัฐ
  4. ต้องไม่เป็นผู้ที่ถูกแจ้งเวียนชื่อ เป็นผู้ทิ้งงานของทางราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือ ไม่เป็นผู้ที่ได้รับผลของการสั่งให้นิติบุคคล หรือบุคคลอื่นเป็นผู้ทิ้งงานตามระเบียบของทางราชการ หรือห้ามเข้าเสนอราคากับ ส.ส.ท.
  5. ต้องไม่อยู่ในฐานะซึ่งได้มีการระบุชื่อไว้ในบัญชีรายชื่อว่าเป็นคู่สัญญาที่ไม่ได้แสดงบัญชีรายรับรายจ่าย หรือแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายไม่ถูกต้องครบถ้วนในสาระสำคัญ ในทะเบียนของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
  6. ต้องไม่มีพนักงานของ ส.ส.ท. หรือคู่สมรส หรือบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของพนักงานของ ส.ส.ท. เข้าไปมีส่วนได้เสียกับผู้ยื่นเสนอรายการ

ประเภทบุคคลธรรมดา

  1. ต้องเป็นผู้มีทักษะประสบการณ์ในการบริหารจัดการและสร้างสรรค์งานรายการ
  2. ต้องไม่เป็นผู้ที่ถูกแจ้งเวียนชื่อ เป็นผู้ทิ้งงานของทางราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือ ไม่เป็นผู้ที่ได้รับผลของการสั่งให้นิติบุคคล หรือบุคคลอื่นเป็นผู้ทิ้งงานตามระเบียบของทางราชการ หรือห้ามเข้าเสนอราคากับ ส.ส.ท.
  3. ต้องไม่อยู่ในฐานะซึ่งได้มีการระบุชื่อไว้ในบัญชีรายชื่อว่าเป็นคู่สัญญาที่ไม่ได้แสดงบัญชีรายรับรายจ่าย หรือแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายไม่ถูกต้องครบถ้วนในสาระสำคัญ ในทะเบียนของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
  4. ต้องไม่มีพนักงานของ ส.ส.ท. หรือคู่สมรส หรือบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของพนักงานของ ส.ส.ท. เข้าไปมีส่วนได้เสียกับผู้ยื่นเสนอรายการ

เงื่อนไขการยื่นเสนอรายการ

  1. การคัดสรรรายการเป็นการกระทำโดยเปิดเผยต่อคณะกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลิขสิทธิ์ทางปัญญาที่ปรากฏในข้อเสนอรายการบางส่วนหรือทั้งหมด ย่อมได้รับการเปิดเผยต่อคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ส.ส.ท. ให้การปกป้องและการปกปิดลิขสิทธิ์ทางปัญญาไว้เป็นความลับจากบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องในขั้นตอนของกระบวนการคัดสรร
  2. ส.ส.ท. จะดำเนินการทำสัญญาจ้างผู้เสนอรายการที่ได้รับการคัดสรร ตามแบบสัญญาภายใต้พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และระเบียบที่เกี่ยวข้องของ ส.ส.ท. ภายในเวลา 6 เดือน หากพ้นระยะเวลาดังกล่าวผู้เสนอรายการที่ได้รับการคัดสรรมีสิทธิ์ในการขอยกเลิกการยื่นเสนอรายการได้
  3. ส.ส.ท. อาจเจรจาต่อรองงบประมาณการผลิตกับผู้เสนอรายการที่ได้รับการคัดสรร
  4. ผู้เสนอรายการที่ได้รับการคัดสรร หากมิได้เป็นเจ้าของหรือได้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์บางส่วน หรือทั้งหมดตามที่ระบุในข้อเสนอรายการ ผู้เสนอรายการจะต้องแสดงเอกสาร แสดงการได้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์บางส่วน หรือทั้งหมดก่อนทำสัญญาจ้างผลิต โดยผู้เสนอรายการต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย เพื่อขออนุญาตใช้ลิขสิทธิ์บางส่วน หรือทั้งหมดตามที่ระบุไว้ในข้อเสนอดังกล่าว
  5. รายการที่ผลิตเสร็จสมบูรณ์ และได้รับการตรวจรับมอบรายการแล้ว ส.ส.ท. สงวนสิทธิ์ที่จะดำเนินการใด ๆ ตามสิทธิประโยชน์ขององค์การ โดยถือเป็นทรัพย์สินและเป็นลิขสิทธิ์ของ ส.ส.ท. แต่เพียงผู้เดียว

หลักฐานและเอกสารการยื่นเสนอรายการ

ผู้ยื่นเสนอรายการจะต้องนำส่งเอกสารประกอบการยื่นเสนอรายการให้ครบถ้วน โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. ใบขอเสนอรายการ ที่กรอกครบถ้วนทุกข้อ (ดาวน์โหลดเอกสาร)
  2. ข้อเสนอด้านเทคนิค จำนวน 5 ชุด โดยมีรายละเอียดการยื่นเสนอรายการ ดังต่อไปนี้
    1. ชื่อรายการ
    2. เนื้อหา รูปแบบ และวิธีการนำเสนอ
    3. ความยาวรายการ
      1. รายการโทรทัศน์
        • 1 - 5 นาที
        • 10 - 15 นาที
        • 20 - 25 นาที
        • 50 - 55 นาที
      2. รายการออนไลน์
        • 1 - 30 นาที
    4. จำนวนตอนและชื่อตอน (ถ้ามี)
    5. ประเภทรายการ
      • สารประโยชน์
      • สาระบันเทิง
      • สารคดี
      • ละคร
      • รายการสำหรับเด็กและครอบครัว
    6. แนวคิดรายการ (Concept)
    7. วัตถุประสงค์
    8. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
    9. กลุ่มเป้าหมาย
    10. ปัจจัยความสำเร็จ
    11. ถ้ามีที่ปรึกษา (ให้แนบประวัติด้วย)
    12. แผนงานผลิตรายการ (Production Plan) เพื่อให้เห็นแนวทาง กรอบเวลา และขั้นตอนการผลิตรายการประกอบด้วย ขั้นตอนการเตรียมการผลิต การถ่ายทำ การตัดต่อ
    13. ประวัติผลงานที่ผ่านมาของผู้เสนอรายการ และรายละเอียดของทีมงาน
    14. ตัวอย่างรายการ (DEMO) (ถ้ามี)
    15. ตัวอย่างรายการอ้างอิง (Reference) (ถ้ามี)
    16. ข้อเสนอพิเศษอื่น ๆ เช่น แผนกลยุทธ์การสื่อสารรายการ (ถ้ามี)
  3. ใบเสนอราคา จำนวน 5 ชุด (รับรองสำเนาถูกต้อง พร้อมประทับตราบริษัท) และให้เขียนหน้าซองว่า “ใบเสนอราคา” ซึ่งต้องแสดงค่าใช้จ่ายตามแผนงานโดยละเอียด ต้องเสนอค่าใช้จ่ายเป็นรายตอน และรวมจำนวนเงินทั้งหมดตามจำนวนตอนที่กำหนด (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยมีรายละเอียดแยกประเภทของค่าใช้จ่าย ดังต่อไปนี้
    • ค่าจ้างบุคลากร เช่น ค่าผู้ควบคุมการผลิต ค่าผู้กำกับ ค่าผู้เขียนบท ค่าพิธีกร ค่าผู้ร่วมรายการ ค่าผู้บรรยาย ค่าวิทยากร ค่าที่ปรึกษา ค่าช่างแต่งหน้า - ทำผม ค่าผู้จัดหาเสื้อผ้า ฯลฯ
    • ค่าจัดหาหรือเช่าอุปกรณ์ เช่น อุปกรณ์การถ่ายทำ ค่าตัดต่อ ค่าบันทึกเสียง ค่าอุปกรณ์ประกอบฉาก ค่าเช่าสตูดิโอ ค่าสถานที่ ค่าจัดสร้างฉาก ค่าจัดทำไตเติล ค่าจัดทำเพลงประกอบ ฯลฯ
    • ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าลิขสิทธิ์ ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าตอบแทนผู้ให้ข้อมูล ค่าดำเนินการต่าง ๆ ฯลฯ
  4. เอกสารแสดงคุณสมบัติของผู้เสนอรายการ จำนวน 1 ชุด (รับรองสำเนาถูกต้อง พร้อมประทับตราบริษัท) และให้เขียนหน้าซองว่า “เอกสารแสดงคุณสมบัติของผู้เสนอรายการ” โดยมีรายละเอียดดังนี้
    1. ประเภทคณะบุคคล กลุ่มบุคคล หรือนิติบุคคล
      • สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล / ไม่เกิน 6 เดือน
      • หนังสือบริคณห์สนธิ
      • บัญชีรายชื่อหุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้มีอำนาจควบคุม และบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่พร้อมทั้งรับรองสำเนาถูกต้อง และประทับตรา (ถ้ามี) / ไม่เกิน 6 เดือน
      • ใบกรมพัฒนาธุรกิจการค้า, กรมทะเบียนพาณิชย์
      • ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 20)
      • แบบแสดงการลงทะเบียนในระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ e-GP ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
      • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านกรรมการบริษัท, สำเนาข้อตกลงที่แสดงถึงการเข้าเป็นหุ้นส่วน (ถ้ามี), สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เป็นหุ้นส่วน พร้อมทั้งรับรองสำเนาถูกต้อง และประทับตรา (ถ้ามี)
      • ในกรณีผู้เสนอรายการเป็นผู้เสนอราคาร่วมกันในฐานะเป็นผู้ร่วมค้า ให้ยื่นสำเนาสัญญาของผู้ร่วมค้า สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ร่วมค้า และในกรณีที่ผู้เข้าร่วมค้าฝ่ายใดเป็นบุคคลธรรมดาที่มิได้ถือสัญชาติไทย ก็ให้ยื่นสำเนาหนังสือเดินทาง หรือถ้าผู้ร่วมค้าฝ่ายใดเป็นนิติบุคคล ให้ยื่นเอกสารสำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล หนังสือบริคณห์สนธิ บัญชีรายชื่อหุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้มีอำนาจควบคุม และบัญชีรายชื่อ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ พร้อมทั้งรับรองสำเนาถูกต้อง และประทับตรา (ถ้ามี)
      • หนังสือมอบอำนาจ ซึ่งปิดอากรแสตมป์ตามกฎหมาย จำนวน 10 บาท (กรณีมอบอำนาจครั้งเดียว) / จำนวน 30 บาท (ในกรณีมอบอำนาจตลอดการดำเนินงาน) ในกรณีที่ผู้เสนอรายการไม่สามารถเข้ามายื่นเอกสารตัวตนเอง หรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นเป็นตัวแทนในการยื่นเสนอรายการนั้น ๆ
    2. ประเภทคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
      • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านผู้ยื่นเสนอราคา, สำเนาข้อตกลงที่แสดงถึงการเข้าเป็นหุ้นส่วน (ถ้ามี) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้เป็นหุ้นส่วน พร้อมทั้งรับรองสำเนาถูกต้อง และประทับตรา (ถ้ามี)
      • ประวัติผลงานที่ผ่านมา
      • หนังสือแสดงฐานะทางการเงิน
      • หนังสือมอบอำนาจ ซึ่งปิดอากรแสตมป์ตามกฎหมาย จำนวน 10 บาท (กรณีมอบอำนาจครั้งเดียว) / จำนวน 30 บาท (ในกรณีมอบอำนาจตลอดการดำเนินงาน) ในกรณีที่ผู้เสนอรายการไม่สามารถเข้ามายื่นเอกสารตัวตนเอง หรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นเป็นตัวแทนในการยื่นเสนอรายการนั้น ๆ
    3. ประเภทบุคคลธรรมดา
      • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านผู้เสนอราคา
      • ประวัติผลงานที่ผ่านมา
      • หนังสือมอบอำนาจ ซึ่งปิดอากรแสตมป์ตามกฎหมาย จำนวน 10 บาท (กรณีมอบอำนาจครั้งเดียว) / จำนวน 30 บาท (ในกรณีมอบอำนาจตลอดการดำเนินงาน) ในกรณีที่ผู้เสนอรายการไม่สามารถเข้ามายื่นเอกสารตัวตนเอง หรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นเป็นตัวแทนในการยื่นเสนอรายการนั้น ๆ

การส่งเอกสารเสนอรายการ

  • ส่งด้วยตัวเอง (บุคคลที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง)
  • ส่งด้วยผู้ได้รับมอบอำนาจ ที่มีต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจ ให้กระทำการยื่นซองเอกสารเสนอราคา พร้อมติดอากรแสตมป์ตามกฎหมาย และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่นใดที่มีรูป ซึ่งออกให้โดยราชการและ ยังไม่หมดอายุของผู้มีอำนาจและของผู้รับมอบอำนาจ

ระยะเวลาการยื่นเอกสารเสนอรายการ

ตั้งแต่วันที่ 23 - 25 พฤศจิกายน 2563 เวลา 10.00 - 17.00 น. (ไม่พักเที่ยง) ณ ห้องบรีฟวิ่งรูม ชั้น 1 อาคาร A

หมายเหตุ

  • ส.ส.ท. จะไม่มีการรับเอกสารรายการหรือเอกสารใด ๆ ก่อนวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ทั้งสิ้น จะเริ่มรับเอกสารเพียง 3 วัน คือวันที่ 23 - 25 พฤศจิกายน 2563 เวลา 10.00 - 17.00 น. เท่านั้น และจะปิดรับเอกสารทันทีเมื่อถึงเวลา 17.00 น. ของทุกวัน ยกเว้นผู้เสนอรายการที่มาถึงห้องบรีฟวิ่งรูมก่อนเวลา 17.00 น. และรอการยื่นเอกสารอยู่เท่านั้น
  • เอกสารทุกอย่างควรบรรจุอยู่ในซอง, กล่องหรือบรรจุภัณฑ์ และปิดผนึกให้เรียบร้อย เจ้าหน้าที่รับเอกสารจะไม่เปิดดูใด ๆ ทั้งสิ้น เพื่อเป็นการรักษาความคิดสร้างสรรค์ของผู้เสนอรายการ โดยเอกสารรายการจะถูกเปิดพิจารณาโดยคณะกรรมการที่มีหน้าที่พิจารณาคัดสรรรายการเท่านั้น

หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดสรรรายการ

ด้านเนื้อหารายการ ตรงตามขอบเขตเนื้อหารายการที่เปิดรับ

  1. ปากท้อง และเรียนรู้ (ที่เกิดจากผลกระทบ COVID-19) และคุณภาพชีวิต
  2. สิทธิ และบทบาทหน้าที่ของความเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย (Civic Education)
  3. การศึกษา การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning)
  4. การกระจายอำนาจ สังคมสวัสดิการ
  5. สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และความสมดุลทางธรรมชาติ
  6. รายการสำหรับเด็กและครอบครัว

ด้านรูปแบบการนำเสนอ

  1. มีความคิดสร้างสรรค์ มีความแตกต่าง มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
  2. มีความเข้าใจในประเด็นที่จะนำเสนอและลำดับความชัดเจนของเนื้อหาได้อย่างถูกต้อง

ด้านประวัติการทำงานและผลงานที่ผ่านมาของผู้เสนอรายการ

  1. มีผลงานที่มีคุณภาพ
  2. มีทีมงานบุคลากรที่มีคุณภาพ
  3. มีการบริหารจัดการการผลิตที่มีประสิทธิภาพ
  4. มีทัศนคติเชิงบวก เปิดใจรับฟังความคิดเห็น
  5. มี Passion ที่จะช่วยเหลือเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้น

กำหนดการ

27 ต.ค. 63

  • ชี้แจงรายละเอียดการเปิด Commissioning เชิญชวนผู้ผลิตและผู้ที่สนใจเข้ารับฟัง ณ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส บริเวณลานไม้ ภายในอาคาร เวลา 13.00 - 15.00 น.

23 - 25 พ.ย. 63

  • เปิดรับเอกสารเสนอรายการ 3 วัน ณ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส บริเวณห้องบรีฟวิ่งรูม อาคาร A เวลา 10.00 - 17.00 น. (ไม่พักเที่ยง) ขอสงวนสิทธิ์ไม่รับเอกสารนอกเหนือจากวันและเวลาที่กำหนดไว้

26 - 27 พ.ย. 63

  • ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอรายการ

7 - 9 ธ.ค. 63

  • คณะกรรมการคัดสรรรอบแรก (คัดสรรจากเอกสาร)

15 ม.ค. 64

  • ประกาศผลการคัดสรรรอบแรก
    • ประเภทรายการละคร
    • ประเภทรายการสำหรับเด็กและครอบครัว

18 ม.ค. - 4 ก.พ. 64

  • คณะกรรมการคัดสรรรอบสอง (นำเสนอต่อหน้าคณะกรรมการ)
    • ประเภทรายการละคร
    • ประเภทรายการสำหรับเด็กและครอบครัว

29 ม.ค. 64

  • ประกาศผลการคัดสรรรอบแรก
    • ประเภทรายการสารประโยชน์
    • ประเภทรายการสาระบันเทิง
    • ประเภทรายการสารคดี

1 - 18 ก.พ. 64

  • คณะกรรมการคัดสรรรอบสอง (นำเสนอต่อหน้าคณะกรรมการ)
    • ประเภทรายการสารประโยชน์
    • ประเภทรายการสาระบันเทิง
    • ประเภทรายการสารคดี

12 ก.พ 64

  • ประกาศผลการคัดสรรรอบสอง
    • ประเภทรายการละคร
    • ประเภทรายการสำหรับเด็กและครอบครัว

26 ก.พ. 64

  • ประกาศผลการคัดสรรรอบสอง
    • ประเภทรายการสารประโยชน์
    • ประเภทรายการสาระบันเทิง 
    • ประเภทรายการสารคดี

ข้อสงวนสิทธิ์

  • ผู้ยื่นเสนอรายการต้องยอมรับผลการพิจารณาคัดสรรของคณะกรรมการจัดหารายการ และหากมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ให้ถือว่าผลการพิจารณาของคณะกรรมการจัดหารายการถือเป็นที่สิ้นสุด ตามภารกิจและความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายจาก ส.ส.ท.
  • ส.ส.ท. สงวนสิทธิที่จะแก้ไข เพิ่มเติมเงื่อนไข หรือข้อกำหนดในแบบสัญญาให้เป็นไปตามนโยบาย หรือระเบียบของ ส.ส.ท.

ขั้นตอนการคัดสรรรายการ

การคัดสรรรายการ

ส.ส.ท. จะแต่งตั้งคณะกรรมการคัดสรรรายการขึ้นมา 2 ชุด เพื่อดำเนินการคัดสรรรายการ คือ

  • คณะกรรมการชุดที่ 1 ประกอบด้วยผู้บริหาร, พนักงานระดับชำนาญการและระดับอาวุโสของ ส.ส.ท. ทำหน้าที่คัดสรรรายการจากเอกสารรายละเอียดรายการ, DEMO ตัวอย่างรายการ, บทรายการ, ประวัติผลงานผู้ผลิต, งบประมาณการผลิต และอื่น ๆ ตามที่ผู้เสนอรายการเสนอมาอย่างละเอียดครบถ้วน รายการที่ผ่านการคัดสรรจะเข้าสู่การคัดสรรโดยคณะกรรมการชุดที่สองต่อไป ส่วนรายการที่ไม่ผ่านการคัดสรรจะนำส่งเอกสารทั้งหมดคืนต่อผู้เสนอรายการ
  • คณะกรรมการชุดที่ 2 ประกอบด้วยผู้บริหาร, พนักงานระดับชำนาญการและระดับอาวุโสของ ส.ส.ท. พร้อมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านรายการ เพื่อพิจารณาคัดสรรรายการที่มีคุณค่าเหมาะสมกับความเป็นสื่อสาธารณะ และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์และแผนจัดทำรายการของ ส.ส.ท. ทำหน้าที่คัดสรรรายการโดยการเชิญผู้เสนอรายการที่ผ่านการคัดสรรจากคณะกรรมการชุดแรก เข้ามานำเสนอรายการด้วยตนเองต่อหน้าคณะกรรมการ รายการที่ผ่านการคัดสรรจะเข้าสู่กระบวนการพัฒนาคุณภาพรายการต่อไป ส่วนรายการที่ไม่ผ่านการคัดสรรจะนำส่งเอกสารทั้งหมดคืนต่อผู้เสนอรายการ
  • ผลการคัดสรรรายการของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด

การพัฒนารายการที่ผ่านการคัดสรรร่วมกับผู้ผลิต

รายการที่ผ่านการคัดสรรจะเข้าสู่กระบวนการพัฒนาคุณภาพรายการ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิต และถือเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ผลิตกับ ส.ส.ท. เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ทำความเข้าใจในสาระสำคัญของการผลิตสื่อในแบบสื่อสาธารณะ ดังนั้นกระบวนการพัฒนารายการนี้จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับรูปแบบและเนื้อหาของรายการนั้น ๆ รวมทั้งความรู้ความเข้าใจและความพร้อมของผู้ผลิตแต่ละรายซึ่งจะมีข้อแตกต่างกันไป

ทั้งนี้การพัฒนาคุณภาพรายการโดยผู้ควบคุมรายการของ ส.ส.ท. นั้น ถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่ผู้ผลิตจะต้องให้ความร่วมมือ เพื่อประโยชน์คุ้มค่าสูงสุดในการผลิตรายการ และตอบสนองคุณค่าต่อสาธารณะ

การจัดจ้างและการผลิตรายการ

ส.ส.ท. มีแผนประมาณการออกอากาศของรายการที่เปิดรับในครั้งนี้ในกลางปี 2564 - 2565 หากแต่ต้องมีความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของ ส.ส.ท. รายการที่ผ่านการคัดสรรแล้ว ไม่ได้หมายถึงเป็นการผ่านพิจารณาเพื่อจ้างผลิต ดังนั้นการจัดจ้างผลิตรายการจะดำเนินการตามแผนจัดทำรายการและแผนจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเป็นไปได้ว่ารายการที่ผ่านการคัดสรรและการพัฒนารายการแล้วอาจไม่ได้รับการจ้างผลิตโดยทันที หากแต่จะไม่เกิน 6 เดือนนับตั้งแต่วันประกาศผลการคัดสรร หากเกิน 6 เดือนแล้วทาง ส.ส.ท. ยังมิได้ทำสัญญาจ้างกับผู้ผลิต ผู้ผลิตมีสิทธิในการขอยกเลิกการเสนอรายการได้

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

  • โทร. 02-790-2265 ทุกวันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 10.00 - 18.00 น. เว้นวันหยุดราชการ
  • LINE ID : TPBSCOM
  • เว็บไซต์ www.thaipbs.or.th/commissioning 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวประชาสัมพันธ์

บทสัมภาษณ์ผู้บริหาร

ข่าวกิจกรรม

กลับขึ้นด้านบน