ไทยพีบีเอส เข้ารายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2561 ต่อที่ประชุมวุฒิสภา

วันที่ 3 กันยายน 2562 องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส เข้ารายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2561 ต่อที่ประชุมวุฒิสภา โดยผู้เข้าร่วมรายงาน 5 ท่าน ได้แก่ รศ.จุมพล รอดคำดี ประธานกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. รศ.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. นายอนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ด้านปฏิบัติการ นางสาวสุวรรณา สมบัติรักษาสุข รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ด้านบริหารกิจการ และ นายเจษฎา อนุจารี กรรมการบริหารอื่น

รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. นำเสนอรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2561 ต่อที่สมาชิกวุฒิสภา โดยเป็นการรายงานผลตามวัตถุประสงค์ มาตรา 7 ของ พ.ร.บ. ซึ่งจัดกลุ่มการเสนอเป็น 3 ภารกิจหลัก ดังนี้

ภารกิจที่หนึ่ง การดำเนินกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และการผลิตเนื้อหาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาสังคมที่มีคุณภาพคุณธรรม และยืดถือผลประโยชน์สาธารณะ ไทยพีบีเอสยึดมั่นในหลักการนี้ จึงมุ่งรายงานข่าวสารด้วยความเที่ยงตรง รอบด้าน สมดุล ซื่อตรงต่อจรรยาบรรณ และรายงานแบบร่วมค้นหาทางออกให้สังคม การที่ไทยพีบีเอสให้น้ำหนักกับการสื่อสารเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติมาโดยตลอดนั้น ได้ทำให้ในช่วงปีที่ผ่านมา ไทยพีบีเอสสามารถทำภารกิจได้อย่างคุ้มค่า โดยมีผลงานที่โดดเด่น อย่างเช่น ปฏิบัติการถ้ำหลวง ที่มีทั้งรายงานข่าวแบบ ON AIR, ONLINE และสารคดี 5 ตอน บันทึกประวัติศาสตร์ที่เล่าจากผู้อยู่เบื้องหลังภารกิจจำนวนมาก และกิจกรรม ON GROUND สร้างพลังบวกของสังคมจากบทเรียนนี้ การทำหน้าที่ของไทยพีบีเอสได้รับการโหวตจากเครือข่ายสังคมออนไลน์ให้เป็นสื่อที่รายงานปฏิบัติการถ้ำหลวงได้ดีที่สุด และหลังจากเหตุการณ์ถ้ำหลวง ไทยพีบีเอสได้ให้พื้นที่และเวลาข่าวกับประเด็นภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง มีการยกผังรายการบางช่วงจัดรายการพิเศษ เกาะติดภัยพิบัติ เช่น พื้นที่เสี่ยงดินถล่มที่จังหวัดน่าน และดอยช้าง จังหวัดเชียงราย และต่อเนื่องมาจนถึงภัยจากฝุ่น PM2.5 ไฟไหม้ป่าพรุควนเคร็ง พายุโพดุล และขณะนี้กำลังทำรายงานพิเศษรับมือพายุคาจิกิ ที่อาจส่งผลกระทบในบางพื้นที่

นอกจากนี้ ตัวอย่างของงานสื่อสารที่ไทยพีบีเอส มีบทบาทร่วมขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับความรู้และเชิงโครงสร้าง ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่ไทยพีบีเอสติดตามต่อเนื่อง อาทิ การแก้ปัญหาหนี้ที่ไม่เป็นธรรม การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ การทวงคืนผืนป่า หลายประเด็นนำไปสู่ความตระหนักของสังคม และเกิดเป็นโมเดลแก้ไขปัญหา โดยความร่วมมือของภาครัฐและชุมชน นอกจากนี้มีข่าวการตรวจสอบทุจริตที่ทำตลอดทั้งปี จำนวน 440 ข่าว เช่น ทุจริตอาหารกลางวัน ทุจริตเงินผู้สูงอายุและคนพิการ รวมถึงการให้น้ำหนักกับข่าวและรายการด้านปฏิรูปการศึกษา ที่เน้นส่งเสริมคุณภาพของครูและนวัตกรรมการเรียนการสอน

ในภาพรวม การเข้าถึงไทยพีบีเอสช่องทางสื่อต่าง ๆ มีอัตราเพิ่มขึ้น จำนวนผู้ชมเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 62,000 คนต่อนาที หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากปี 2560 แยกเฉพาะกลุ่มรายการข่าวมีผู้ชมเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 114,000 คนต่อนาที จำนวนผู้ติดตามผ่านช่องทางสื่อใหม่ทุกประเภท เฉลี่ย 885 ล้านครั้ง หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 47 และจำนวนผู้ฟังสะสมทางวิทยุออนไลน์ 33.94 ล้านครั้ง หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ซึ่งในช่วงวิกฤตและเหตุการณ์สำคัญของประเทศ เช่น ปฏิบัติการถ้ำหลวง มีจำนวนผู้ชมสูงสุดที่ 1.7 ล้านคน ผู้ชมสดทางออนไลน์ 14.4 ล้านครั้ง และการจัดผังพิเศษถ่ายทอดสดวาระการเลือกประธานสภาของปีนี้ มีผู้ชมสูงสุดที่ 998,000 คน

ชมสดออนไลน์ 614,000 ครั้ง จึงเป็นการแสดงให้เห็นจุดแข็งของไทยพีบีเอส ในฐานะแหล่งข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนเชื่อถือได้ในภาวะสำคัญของประเทศ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภารกิจของสื่อสาธารณะ มิได้จำกัดอยู่แค่การผลิตข่าวสารรายการทางโทรทัศน์ แต่ครอบคลุมถึงการผลิตและสร้างสรรค์งานผ่านช่องทางใหม่ ๆ การลงทุนกับสื่อสร้างการเรียนรู้ การเปิดพื้นที่สาธาณะให้แก่กลุ่มคนที่เปราะบางขาดโอกาส ซึ่งอาจไม่มีมูลค่าทางการตลาดแต่มีคุณค่าทางสังคม การสร้างการมีส่วนร่วมที่เป็นพื้นฐานของประชาธิปไตยเชิงสร้างสรรค์ หรือแม้แต่ถ่ายทอดสดกีฬาที่เน้นการฟื้นฟูวัฒนธรรมชุมชนควบคู่ไปกับการสร้างพลังความสามัคคี เป็นต้น

ผลประเมินจากคณะผู้ประเมินภายนอก สรุปว่า ผู้ชมให้คุณค่าเรื่องความน่าเชื่อถือของไทยพีบีเอสสูงสุดในด้านการเป็นที่พึ่ง และด้านการรักษาจรรยาบรรณสื่อ รองลงมา คือ คุณค่าเรื่องการรักษาพันธกิจสื่อสาธารณะในด้านการผลิตข่าวสาร รายการที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ลำดับถัดมาคือคุณค่าเรื่องความหลากหลายมุมมอง และคุณค่าด้านแนวคิดสร้างสรรค์

ภารกิจที่สอง เรื่องการส่งเสริมให้ความรู้แก่ประชาชน และส่งเสริมเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสาร ไทยพีบีเอสให้ความสำคัญกับเนื้อหาซึ่งสื่อเชิงพาณิชย์ไม่พร้อมลงทุน เช่น รายการสำหรับเด็กและครอบครัว รายการคุ้มครองผู้บริโภค รายการของภาคพลเมือง รายการสารคดีที่ผลิตโดยฝีมือคนไทย ซึ่งสะท้อนคุณค่า วัฒนธรรม และการอยู่ร่วมกันโดยเคารพความหลากหลาย รายการข่าวภาษาอังกฤษเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบจากโลกสู่ไทยและเชื่อมมุมมองไทยสู่โลก และรายการที่นำวาระปฏิรูปประเทศจากภาคนโยบายและภาคประชาชน มาผลักดันให้เกิดผลความเปลี่ยนแปลง

ไทยพีบีเอส มุ่งสร้างความเท่าเทียมให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร โดยให้บริการสัญญาณออกอากาศทีวีดิจิทัล ครอบคลุมร้อยละ 95 ของครัวเรือน นำร่องพัฒนาบริการเพื่อคนพิการทางการได้ยิน และการมองเห็น ด้วยล่ามภาษามือ คำบรรยายแทนเสียง และเสียงบรรยายภาพ เฉลี่ยวันละ 3 ชั่วโมง 42 นาที ของผังรายการ มากกว่าเกณฑ์ กสทช. กำหนดไว้ถึง 3 เท่า รวมถึงการขยายช่องทางสื่อใหม่ต่าง ๆ เพื่อให้เข้าถึงพลเมืองดิจิทัลมากขึ้น เช่น สื่อสังคมออนไลนและเว็บไซต์ไทยพีบีเอส มีจำนวนผู้ติดตาม 23 ล้านครั้ง และมีการใช้แอปพลิเคชัน C-Site ที่เป็นพื้นที่สื่อสารระดมปัญญาของภาคพลเมืองในการร่วมเปลี่ยนแปลงชุมชน เกือบ 3,000 ประเด็นจากสมาชิกนักสื่อสารพลเมืองกว่า 2,000 คน เช่น ปัญหาฝุ่นคลุมเมืองในภาคเหนือ การรักษาพื้นที่ชายหาดสมิหลา จังหวัดสงขลา รวมถึงบทบาทของศูนย์ภูมิภาคไทยพีบีเอส ในการเปิดพื้นที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วมหาทางออกผ่านรายการฟังเสียงประเทศไทย (คำตอบอยู่ในหมู่บ้าน)

ผลประเมินชี้ว่าร้อยละ 75 ของผู้ชมได้รับความรู้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในระดับมากถึงมากที่สุด และเห็นว่าเนื้อหาที่โดดเด่น ได้แก่ เนื้อหาที่สร้างความปรองดอง ลดความเหลื่อมล้ำ ปฏิรูปการศึกษา และการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงประเมินว่าไทยพีบีเอสโดดเด่นเรื่องความกล้าหาญในการรายงานข่าว และเน้นเนื้อหาที่ไม่ก่อให้เกิดความแตกแยก อันเป็นการยืนยันหลักการความมีอิสระในวิชาชีพของสื่อสาธารณะ ปราศจากอคติ และไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

ภารกิจที่สาม สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดทิศทางของสื่อสาธารณะ ซึ่งถือเป็นจุดแตกต่างจากสื่ออื่น โดยไทยพีบีเอสมีกลไกรับฟังและชี้แนะเชิงนโยบาย จากสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ ที่เป็นตัวแทนของผู้ชมจากภูมิภาคและกลุ่มประเด็นต่าง ๆ จำนวน 50 คน และได้สร้างพื้นที่กลางเชื่อมรัฐกับประชาชนในการแก้ปัญหาความทุกข์ร้อน โดยร้อยละ 85 ของเรื่องร้องทุกข์ได้รับการแก้ไขจบสิ้น ในกรณีของการติดตามคนที่สูญหายกลับคืนสู่ครอบครัว มีการคำนวณมูลค่าผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์ของศูนย์คนหายไทยพีบีเอส สรุปว่าจากการลงทุนผลิตรายการตลอด 5 ปี 57 ล้านบาท สามารถติดตามคนหายได้ร้อยละ 47 ประเมินเป็นมูลค่า 1,370 ล้านบาท หรือในทุก ๆ 1 บาท ก่อให้เกิดประโยชน์ 24 บาท

ผลการประเมิน ประชาชนมีความพึงพอใจที่ไทยพีบีเอสเปิดช่องทางให้เข้าถึงได้อย่างหลากหลายโดยเฉพาะพื้นที่ของภาคพลเมือง ที่เชื่อมต่อกับกระบวนการนโยบายสาธารณะได้อย่างสร้างสรรค์ ด้วยภารกิจของสื่อสาธารณะที่เป็นมากกว่าผลิตสื่อโทรทัศน์ ไทยพีบีเอสจึงมีความร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรวิชาชีพสื่อ สถาบันวิชาการ และเครือข่ายสื่อสาธารณะของสากล พัฒนาความรู้ ทักษะ และจริยธรรมสื่อ เช่น ลดปัญหาข่าวลวง Fake News โดยเพิ่มเครื่องมือตรวจสอบที่เข้มข้นขึ้นในกองบรรณาธิการ จัดกิจกรรมและทำรายการส่งเสริมรู้เท่าทันสื่อ เป็นต้น

สิ่งสะท้อนการยอมรับอีกประการหนึ่ง คือ รางวัลที่ได้รับปี 2561 จำนวน 53 รางวัล เช่น รายการข่าวดีเด่น ข่าวสืบสวนยอดเยี่ยม ข่าวออนไลน์เชิงสืบสวนยอดเยี่ยม สารคดีเชิงข่าวยอดเยี่ยม รายการส่งเสริมเยาวชนดีเด่น สถานีส่งเสริมความรู้และศิลปวัฒนธรรมดีเด่น สถานีส่งเสริมรายการเด็ก เยาวชนและครอบครัวดีเด่น งบประมาณอุดหนุน จำนวน 2,000 ล้านบาท ได้ใช้ตามยุทธศาสตร์จำแนกเป็น ผลิตเนื้อหา 1,093 ล้านบาท หรือร้อยละ 55 ส่งเสริมการเข้าถึงของประชาชน 244 ล้านบาท หรือร้อยละ 12 ด้านพัฒนาเทคโนโลยี 270 ล้านบาท หรือร้อยละ 14 ด้านบุคลากร 369 ล้านบาท หรือร้อยละ 19 ในงบผลิตเนื้อหานั้น จำแนกเป็น ข่าว ร้อยละ 15 รายการตอบสนองวาระปฏิรูป ร้อยละ 21 รายการตอบสนองการพัฒนาความรู้ เด็กเยาวชนและครอบครัว พัฒนาคุณภาพชีวิต ร้อยละ 34 ส่งเสริมคุณค่าชุมชนท้องถิ่น ประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม ร้อยละ 24 รายการของนักข่าวพลเมืองและบริการสังคม ร้อยละ 6

การตรวจสอบจากสำนักการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้รับรองงบการเงิน ปี 2561 ว่าถูกต้องในสาระสำคัญตามมาตรฐานการรายงาน

ครึ่งปีแรกของปี 2562 นี้ ไทยพีบีเอสให้ความสำคัญกับการทำวาระเลือกตั้งให้แตกต่างจากสื่ออื่น โดยการจับมือกับ 8 องค์กร ทำวาระ “ให้เสียงประชาชนไปไกลกว่าการเลือกตั้ง” เปิดพื้นที่ให้เสียงประชาชนจากเวทีรับฟังต่าง ๆ ทั่วประเทศ ได้รวบรวมเป็นข้อเสนอนโยบายต่อพรรคการเมือง นอกจากนี้ได้เพิ่มสัดส่วนรายการเด็ก เป็น 13 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพื่อทดแทนทีวีช่องเด็กที่ยุติไป จัดตั้งศูนย์สื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็กและครอบครัว ผลิตเนื้อหาและรูปแบบใหม่ ๆ ที่เหมาะสมต่อพัฒนาการของเด็ก พัฒนาศูนย์สื่อสารภัยพิบัติเพื่อผลิตเนื้อหาที่มาจากการทำงานร่วมกับเครือข่ายวิชาการและชุมชนป้องกันภัยพิบัติทั่วประเทศ รวมทั้งการทำแผนปรับตัวเองให้ทันกับยุค Media Disruption ด้วยการขยายช่องทางและวิธีการสื่อสารให้เข้าถึงประสบการณ์ของคนรุ่นใหม่มากขึ้น และได้วางทิศทางสำหรับปี 2563 ให้มุ่งเน้นการเตรียมทักษะแห่งอนาคต ให้คนไทยปรับตัวในยุค Disruptive นี้ได้ รวมถึงการวางบทบาทร่วมลดความเหลื่อมล้ำในสังคม การต่อยอดวัฒนธรรมสร้างสรรค์ และส่งเสริมทิศทางการปฏิรูปประเทศอันเป็นวาระที่ทำต่อเนื่อง

ไทยพีบีเอส มีภารกิจสำคัญยิ่งในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารและเนื้อหาที่เชื่อถือได้ ปราศจากอคติทางการเมืองและผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ อันเป็นสิ่งที่ประชาชนในยุคข่าวสารท่วมท้นนี้กำลังแสวงหา และไทยพีบีเอสจะเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้และระดมปัญญาอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างหลักประกันว่าเสียงทุกเสียงและความหลากหลายจะมีโอกาสได้รับฟังเพื่อร่วมกันสร้างสังคมคุณภาพคุณธรรม อันเป็นเป้าหมายของสื่อสาธารณะ โดยมุ่งเน้นให้เกิดความคุ้มค่าและมีธรรมาภิบาลต่อไป

รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. นำเสนอรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2561 ต่อสมาชิกวุฒิสภา

 

ผู้ร่วมอภิปรายโดยสมาชิกวุฒิสภา มีดังนี้

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ สมาชิกวุฒิสภา

นายอำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา

นายเฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ สมาชิกวุฒิสภา

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา

นายเกียว แก้วสุทอ สมาชิกวุฒิสภา

นายไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา

นายจเด็จ อินสว่าง สมาชิกวุฒิสภา

นายพลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา

นางศิรินา ปวโรฬารวิทยา สมาชิกวุฒิสภา

นายชยุต สืบตระกูล สมาชิกวุฒิสภา

นายธานี สุโชดายน สมาชิกวุฒิสภา

นายอนุศักดิ์ คงมาลัย สมาชิกวุฒิสภา

นายนิพนธ์ นาคสมภพ สมาชิกวุฒิสภา

นายจิรชัย มูลทองโร่ย สมาชิกวุฒิสภา

นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา

นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สมาชิกวุฒิสภา

พล.ต.ท.ศานิตย์ มหาถาวร สมาชิกวุฒิสภา

พล.ต.ต.ปรัชญ์ชัย ใจชาญสุขกิจ สมาชิกวุฒิสภา

นายสมชาย ชาญธงค์กุล สมาชิกวุฒิสภา

นายดุสิต เขมะศักดิ์ชัย สมาชิกวุฒิสภา

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา

รศ.วิลาสินี พิพิธกุล ผอ.ส.ส.ท. ชี้แจงเพิ่มเติม การรายงานผลการปฏิบัติงานของ ส.ส.ท.ประจำปี 2561

สามารถรับชมย้อนหลัง การรายงานผลการปฏิบัติงานของ ส.ส.ท.ประจำปี 2561 ต่อสมาชิกวุฒิสภา ได้ที่ลิงก์ www.thaipbs.or.th/Report2561 

ข้อมูลเพิ่มเติม

  • เอกสารรายงานผลการปฏิบัติงาน ประจำปี พ.ศ. 2561 องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) คลิกอ่าน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวประชาสัมพันธ์

บทสัมภาษณ์ผู้บริหาร

ข่าวกิจกรรม

กลับขึ้นด้านบน