ไทยพีบีเอส เข้ารายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2560 ต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส เข้ารายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2560 ต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยผู้เข้าร่วมรายงาน 5 ท่าน ได้แก่ รศ.จุมพล รอดคำดี ประธานกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. นายอนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ด้านปฏิบัติการ นางสาวสุวรรณา สมบัติรักษาสุข รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ด้านบริหารกิจการ และ นายเจษฎา อนุจารี กรรมการบริหารอื่น

ประเด็นหลักที่ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. รายงานต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังนี้

ส.ส.ท. ได้ดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ มาตรา 7 ของ พ.ร.บ. ซึ่งจัดเป็นภารกิจได้ 3 กลุ่มหลัก

  1. ดำเนินกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ที่ยึดถือประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ
  2. ส่งเสริมการเข้าถึงข่าวสารอย่างเท่าเทียมของประชาชน
  3. สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดทิศทางสื่อสาธารณะ

ภารกิจที่หนึ่ง ส.ส.ท. ได้ผลิตข่าวสาร สารประโยชน์ และสาระบันเทิงจำนวน 927 ล้านบาท ผ่านช่องทางหลัก 3 ประเภท คือ

  1. สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ที่ออกอากาศวันละ 21 ชั่วโมง มีผู้ชมเฉลี่ยกว่า 3.4 ล้านคนต่อวัน หรือ 55,000-170,000 คนต่อนาที
  2. ช่องทางสื่อใหม่ ซึ่งมีผู้ติดตามเข้าชมและใช้บริการ รวมจำนวน 654 ล้านครั้ง เติบโตจากปี 2559 ถึง 3 เท่าตัว
  3. สถานีวิทยุออนไลน์ทั้งเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน และเชื่อมรายการผ่านเครือข่ายวิทยุท้องถิ่น และวิทยุสถาบันการศึกษากว่า 25 สถานี

ไทยพีบีเอส ผลิตข่าว รายการวิเคราะห์ข่าว ในสัดส่วน ร้อยละ 49 และผลิตรายการสารประโยชน์ ร้อยละ 51 โดยเป็นรายการส่งเสริมการเรียนรู้ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เด็กและเยาวชน ถึง 2 ใน 3 รองลงมา คือ รายการบันเทิงที่สร้างสรรค์ ส่งเสริมคุณค่าที่ดีงามของสังคม ส่งเสริมคุณค่าความเป็นไทย ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และสนับสนุนผู้ขาดโอกาสในสังคม

ภารกิจที่สอง คือ ส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน ใช้งบประมาณ 289 ล้านบาท ให้บริการเครือข่ายสัญญาณออกอากาศจำนวน 168 สถานี ดำเนินการได้ตามแผนข้อตกลงกับ กสทช.เป็นรายแรก ครอบคลุมร้อยละ 95 ของประชากรทั้งประเทศ นอกจากนี้ ไทยพีบีเอส ได้ยึดหลักการให้บริการแก่คนทั้งมวลได้ผลิตคำบรรยายแทนเสียง คำบรรยายแทนภาพ และล่ามภาษามือ เฉลี่ยวันละ 3 ชม. 11 นาที ซึ่งมากกว่าระเบียบที่ กสทช. กำหนดไว้สามเท่า และได้มุ่งขยายช่องทางสื่อใหม่ครบทุกประเภท เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารและสารประโยชน์ไปถึงประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งสื่อใหม่ไทยพีบีเอส อาทิ Facebook อยู่ในลำดับที่ 6 จาก 25 ช่องในกลุ่มสถานีโทรทัศน์ มียอดผู้ติดตาม ณ สิ้นปี 2560 อยู่ที่ 4 ล้านคน และ Twitter อยู่ในลำดับที่ 2 มียอดผู้ติดตาม 2.5 ล้านคน เป็นต้น

ภารกิจที่สาม คือ ส่งเสริมการมีส่วนร่วม สนับสนุนผู้ผลิตอิสระ พัฒนาศักยภาพสื่อ เช่น ได้สร้างเครื่องมือสื่อสารของภาคพลเมือง คือ C-Site Application รองรับนักข่าวพลเมืองจำนวนกว่า 4,000 คนทั่วประเทศการพัฒนาความเข้มแข็งของเครือข่ายสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการที่เป็นกลไกรับฟังและตรวจสอบการผลิตรายการตาม พ.ร.บ.ส.ส.ท. รวมถึงความร่วมมือเพื่อพัฒนาศักยภาพสื่อมวลชนของไทยกับองค์กรนานาชาติ เช่น การพัฒนาทักษะการผลิตและสร้างสรรค์รายการสำหรับเด็ก การรู้เท่าทันสื่อ และการรายงานข่าวด้านภัยพิบัติ เป็นต้น

ผลลัพธ์สำคัญในการดำเนินงานตลอดทั้งปี 2560 ประกอบด้วย 4 ประเด็นหลัก ได้แก่

ผลลัพธ์ประการที่หนึ่ง เกิดจากการร่วมทำให้วาระสำคัญๆ ของชาติส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคม โดยไทยพีบีเอส ได้กำหนดเป็นแผนดำเนินงานที่มีทั้งการนำเสนอข่าวและสารประโยชน์ ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนทางสังคม ร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน และประชาสังคม มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงกลุ่มคนที่มุ่งหวังจะทำเรื่องดีๆ ไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม ตัวอย่างของวาระที่ไทยพีบีเอสร่วมผลักดัน ได้แก่

1. วาระการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชา มีประชาชนที่เข้าถึงโครงการ “แสงจากพ่อสู่ความยั่งยืน” ตลอด 6 เดือน ผ่านการชมรายการ จำนวนเฉลี่ย 75,000 – 117,000 คนต่อนาที ยอดติดตาม 2.3 ล้านทางสื่อใหม่ และผู้เข้าร่วมทำกิจกรรมกว่า 15,000 คน โดยมีผลประเมินเบื้องต้นว่าไทยพีบีเอสได้ช่วยขยายการรับรู้สาธารณะ เชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ ที่น้อมนำศาสตร์พระราชา และขยายไปสู่รูปธรรมอื่นๆ เช่น การรณรงค์เทศกาลข้าวใหม่ ตลาดสีเขียว และการสนับสนุนนโยบายรัฐแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรด้วยเกษตรยั่งยืน ทั้งนี้ ไทยพีบีเอสได้ทำวาระพิเศษนี้ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ในชื่อวาระว่า “ดอกผล ของความยั่งยืน”

2. วาระเตรียมพร้อมคนไทยสู่สังคมสูงวัย โดยทำโครงการต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2559 สื่อสารทัศนคติเชิงบวก ความรู้ความเข้าใจสำหรับคนกลุ่มวัยอื่นๆ และผลักดันนโยบายรองรับสังคมสูงวัย โดยมีผลประเมินการเข้าถึงผู้ชมที่สูงวัยถึงร้อยละ 42 ของผู้ชมทั้งหมด และได้ต่อยอดความร่วมมือกับหน่วยงานภาคนโยบาย อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการทำโครงการสื่อสารเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง

3. วาระลดปัญหาหนี้สินของประชาชน โดยมีรายการต่างๆที่นำเสนอจนถึงปัจจุบัน และมีการจัดคลินิกทั้งทางการเงินและทางกฎหมายให้คำปรึกษาเพื่อลดปัญหาหนี้นอกระบบ ผลประเมินในเชิงคุณค่า คือ การที่ได้ขยายความร่วมมือกับอัยการจังหวัด ศูนย์ดำรงธรรม ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ DSI ในหลายจังหวัด จนเกิดผลรูปธรรม(ใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม) การผลักดันวาระหนี้สินนี้ มีส่วนเสริมหนุนการทำงานร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้วย

ผลลัพธ์ประการที่สอง เกิดจากการริเริ่มประเด็นข่าวที่ส่งผลกระทบเชิงนโยบาย ไทยพีบีเอสได้ทำข่าวเจาะลึกทั้งสิ้น 22 ประเด็น มีประเด็นที่ส่งผลไปสู่การเปลี่ยนแปลง อาทิ กรณี “วิกฤตขยะนครศรีธรรมราช” ที่ส่งผลให้หน่วยงานจังหวัดเร่งจัดการปัญหาจนยุติ / กรณี “ความขัดแย้งการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่” จนรัฐบาลให้มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพใหม่ / กรณี “ผลกระทบจากสารเคมีเกษตร และโรคเนื้อเน่าในจังหวัดหนองบัวลำภู” ที่กระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ขยายต่อเนื่องถึงการรณรงค์ยกเลิกสารเคมีทางการเกษตรบางชนิดในปีนี้ / และกรณี “ชุมชนอนุรักษ์สถานีรถไฟ” ที่ จ.แพร่ และ จ.นครราชสีมา จนทำให้การรถไฟแห่งประเทศไทยยกเลิกการรื้อย้าย และพัฒนาให้เป็นตลาดชุมชน เป็นต้น

ผลลัพธ์ประการที่สาม เกิดจากการสร้างการเรียนรู้ของสังคม ไทยพีบีเอสเน้นส่งเสริมทักษะชีวิต การพัฒนาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และศิลปวัฒนธรรม โดยมีทั้งกลุ่มรายการที่ผลิตขึ้นสำหรับการเรียนรู้ของเด็ก และกลุ่มรายการสารคดีที่ผลิตโดยฝีมือคนไทย เน้นสร้างความเข้าใจในรากเหง้าและคุณค่าทางวัฒนธรรม ของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สารคดีชุดโยเดีย ที่คิดไม่ถึง (ได้รับรางวัลดีเด่น) ผลประเมินพบว่า มีการนำความรู้จากรายการไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยเฉพาะเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ระดับบุคคล การจัดการขยะระดับชุมชน จนเกิดเป็นชุมชนปลอดขยะในหลายพื้นที่ และการนำสารคดีต่างๆ ไปเป็นชุดสื่อการเรียนรู้ในสถาบันการศึกษา รวมถึงการนำไปใช้ฝึกอบรมทักษะการสอนด้าน STEM ให้ครูระดับประถมศึกษาในหลายจังหวัด เป็นต้น

ผลลัพธ์ประการที่สี่ เกิดจากการเป็นสื่อกลางเชื่อมประสานระหว่างประชาชนที่เดือดร้อน กับหน่วยงานที่มีหน้าที่แก้ไข รายการสถานีประชาชนและร้องทุกข์ลงป้ายนี้ ได้นำเสนอและติดตามประเด็นร้องทุกข์ทั้งสิ้น 968 ประเด็น เป็นประเด็นลดความเหลื่อมล้ำมากที่สุด 548 ประเด็น ได้รับการแก้ไขปัญหาแล้ว 670 เรื่อง ที่เหลืออยู่ระหว่างการประสานหน่วยงานแก้ไข ด้านศูนย์คนหายไทยพีบีเอส มีรายงานคนหายจำนวน 210 คน สามารถนำกลับคืนแล้ว 112 คน และอยู่ระหว่างการติดตามอย่างต่อเนื่อง

ผลการประเมินโดยคณะผู้ประเมินภายนอก ในภาพรวมประชาชนให้คะแนนด้านความน่าเชื่อถือ รักษาจรรยาบรรณสื่อ และเป็นที่พึ่งของสาธารณะในระดับมากที่สุด รองลงมา คือ ด้านบทบาทความเป็นสื่อสาธารณะ การผลิตรายการสาระมีคุณภาพ และมีความหลากหลาย ทั้งนี้ ประชาชนเห็นว่าไทยพีบีเอส มีความโดดเด่นในการนำเสนอและขับเคลื่อนเนื้อหาทางสังคม โดยประเด็นปฏิรูปการศึกษามีความโดดเด่นที่สุด รองลงมา คือ ประเด็นการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น และประเด็นปฏิรูปการเมือง ตามลำดับ ในด้านการปรับตัว ผลประเมินชี้ว่า ไทยพีบีเอสมีความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนและทันการณ์ ในการหลอมรวมช่องทางและพัฒนานวัตกรรมสื่อ ทำให้สามารถเพิ่มปริมาณการเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ ได้อย่างเด่นชัด

รางวัลปี 2560 ที่แสดงถึงคุณภาพและคุณค่า รวม 24 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลด้านข่าวและรายการ 16 รางวัล รางวัลด้านสถานีโทรทัศน์ 7 รางวัล เช่น รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ประเภทรายการส่งเสริมความรู้ทั่วไปดีเด่น รางวัลช่อสะอาด สาขาข่าว รางวัลแสงชัยสุนทรวัฒน์ด้านสารคดีข่าวยอดเยี่ยม และรางวัลชมเชยข่าวสืบสวน รางวัลข่าวออนไลน์ดีเด่น รางวัลสื่อมวลชนเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รางวัลสถานีสำหรับเด็ก เยาวชน สตรี และครอบครัวดีเด่น รางวัลสถานีส่งเสริมความรู้และศิลปวัฒนธรรมดีเด่น เป็นต้น

การตรวจสอบภายในของคณะกรรมการตรวจสอบ ระบุว่า ส.ส.ท. มีระบบการควบคุมภายในที่มีความเพียงพอเหมาะสม และมีการปรับปรุงต่อเนื่อง โดยรับข้อเสนอแนะในด้านการติดตามประเมินผลแผนปฏิบัติงานการบริหารความเสี่ยง แผนธรรมาภิบาล และการตรวจสอบภายในที่มีการดำเนินการด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

การตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้รับรองงบการเงินของ ส.ส.ท. โดยไม่มีเงื่อนไข

ในด้านปฏิบัติ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารเงินทุน เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การบริหารเงิน และการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน และการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาเทคโนโลยสารสนเทศ ระยะสามปี

การตรวจสอบของคณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน มีรับเป็นเรื่องร้องเรียนจำนวน 6 เรื่อง โดยได้ปรับปรุงตามข้อแนะนำของอนุกรรมการฯ และจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านจริยธรรมอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับปี 2561 นี้ ไทยพีบีเอสได้ปรับตัวให้เข้าถึงพลเมืองยุคดิจิทัลมากขึ้น เน้นสร้างสรรค์เนื้อหาเฉพาะบนช่องทางต่างๆ ตามพฤติกรรมของผู้ใช้สื่อ ด้านการนำเสนอข่าวได้เพิ่มความเข้มข้นของหลักความถูกต้อง เที่ยงธรรม และรอบด้าน เป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนเชื่อถือได้ โดยเฉพาะเมื่อสังคมเกิดวิกฤต หรือเมื่อมีวาระสำคัญๆ ของชาติ ด้านการนำเสนอเนื้อหาสารประโยชน์ ได้เน้นนำเสนอวาระปฏิรูปประเทศเพื่อหนุนเสริมการมีส่วนร่วม สร้างความเข้าใจและลดความขัดแย้งในสังคม ด้านความเป็นสถาบันสื่อสาธารณะ เน้นชูบทบาทการเป็นสื่อสร้างการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ และเป็นโรงเรียนของสังคม ในด้านการบริหารจัดการองค์กร เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพ ความโปร่งใส และตั้งมั่นอยู่บนประโยชน์สาธารณะ

ทั้งนี้หลังจาก ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ได้รายงานผลการดำเนินงานต่อที่ประชุมแล้วนั้น สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีความเห็น และข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆ อาทิ ให้ ส.ส.ท. ยึดมั่นในเจตนารมย์ที่ทำมาอยู่แล้วให้หนักแน่นยิ่งขึ้น ทำรายการที่แตกต่างที่ประชาชนไม่สามารถรับชมได้จากสื่ออื่น เป็นสื่อที่เน้นย้ำและ ยืนหยัดในเรื่องของจริยธรรม จรรยาบรรณ เช่น การนำเสนอข่าวทีมหมูป่าติดถ้ำ มีข้อมูลที่ครบถ้วนแม่นยำ เคารพต่อประเด็นที่ละเอียดอ่อน ทำให้มีผู้ติดตามมากเป็นลำดับต้น และโดดเด่น จึงขอให้รักษาคุณภาพเช่นนี้ไว้ รวมทั้งให้ความสำคัญต่อนวัตกรรมเพื่อผู้พิการในรูปแบบต่างๆ เพราะนี่คือหัวใจของการก่อตั้งไทยพีบีเอส

นอกจากนั้นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีการอภิปรายเพื่อขอคำอธิบายในเรื่องต่างๆ อาทิ การบริหารจัดการงบประมาณ สถานะของมูลนิธิไทยพีบีเอส และการจัดทบทวนพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย เมื่อครบ 10 ปี โดยคณะผู้บริหาร ส.ส.ท. ได้ตอบข้อซักถาม และชี้แจงประเด็นต่างๆ ต่อที่ประชุมฯ อย่างครบถ้วน

ก่อนสิ้นสุดการรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2560 ต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประธานกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “การทำงานของไทยพีบีเอส ไม่ได้มุ่งแสวงหากำไรเป็นหลัก แต่กำไรของเราคือการได้ให้สติปัญญา ความคิดที่ดีต่อสังคม ได้ให้ประโยชน์ ให้ความรู้ และเป็นแหล่งเรียนรู้ของสังคม รวมไปถึงการให้ความเสมอภาคให้เกิดขึ้นในเชิงของข่าวสารและการรับรู้ข่าวสารต่างๆ ให้กับประชาชนทั่วไป เพราะฉะนั้น เราในฐานะที่เป็นสื่อสาธารณะจึงยึดมั่นและดำเนินการในสิ่งเหล่านี้ต่อไป ไทยพีบีเอสขอรับรองว่าเราจะพยายามดำเนินงานตามพระราชบัญญัติ ตามระเบียบและหลักของจริยธรรม และกรอบธรรมาภิบาลต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราได้ยึดถือมาโดยตลอด”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวประชาสัมพันธ์

บทสัมภาษณ์ผู้บริหาร

ข่าวกิจกรรม

กลับขึ้นด้านบน