ไทยพีบีเอสเข้าร่วมงานประชุม ABU (Asia-Pacific Broadcasting Union) Con-Fest 2025 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 - 10 กรกฎาคม 2568 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เวทีระดับภูมิภาคที่รวบรวมองค์กรสื่อมวลชนจากประเทศสมาชิก ABU ทั้งในกลุ่มหนังสือพิมพ์ วิทยุ - พอดแคสต์ โทรทัศน์และสื่อดิจิทัล มาร่วมแลกเปลี่ยนพร้อมนำเสนอแนวปฏิบัติ ด้านนวัตกรรมและเนื้อหา เพื่ออนาคตของวงการสื่อสารมวลชนในภูมิภาค

ในปีนี้ นางสาวกนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส ได้นำเสนอนวัตกรรม AI ของไทยพีบีเอส ที่นำมาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับการเข้าถึงเนื้อหาทางเว็บไซต์ ทั้งข่าว บทความ และวิดีโอคอนเทนต์ ให้ตอบโจทย์พฤติกรรมการรับชมเนื้อหาของผู้บริโภคในยุค AI Transformation ทั้งความต้องการในประเภทสื่อที่หลากหลาย การให้ความสะดวกในเนื้อหาที่ถูกคัดกรองให้เหมาะสมเฉพาะบุคคล และยังสะท้อนแนวทางการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ขององค์กร ในการปรับตัวสู่อนาคตของสื่อสารมวลชน โดยไทยพีบีเอสมุ่งมั่นจะเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยี AI ให้เข้ามามีบทบาท ในการช่วยสร้างสรรค์เนื้อหา ช่วยปรับกระบวนการผลิต การทำงานให้มีประสิทธิภาพ และการเข้าถึงที่ครอบคลุมและเป็นธรรม เพื่อให้ "ทุกคนเข้าถึงสื่อสาธารณะได้อย่างเท่าเทียม" โดย 3 ความสามารถของ AI ที่ถูกนำมาปรับใช้กับเว็บไซต์ไทยพีบีเอส ได้นำมาเสนอในหัวข้อ "AI Show Cases" เรื่อง "3 AI Features for Smarter Websites" ประกอบด้วย

1. อ่านให้ฟัง : เปลี่ยนทุกข่าวเป็นเสียงที่ทุกคนเข้าถึงได้ในทุกที่

ไทยพีบีเอสนำเทคโนโลยี Text-to-Speech (TTS) ประยุกต์ใช้กับเนื้อหาข่าว ด้วยการผสมผสานเสียง AI กับเสียงอัตลักษณ์ของผู้ประกาศข่าวไทยพีบีเอส เพื่อให้เสียงมีความเป็นธรรมชาติและสร้างความคุ้นเคยให้กับผู้ฟัง พร้อมสร้างประสบการณ์ความสะดวกด้วยฟังก์ชันการใช้งาน อาทิ ปรับความเร็วหรือช้าในการฟัง, เลือกเสียงตามต้องการ, โหมดฟังต่อเนื่องมีบริการ Audio Playlist ที่จัดหมวดหมู่ข่าวให้ง่ายต่อการเลือกฟัง เช่น ข่าวสังคม ข่าวการเมือง สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ผ่านทาง www.thaipbs.or.th/AIAudioNews ออกแบบให้รองรับผู้ใช้งานทุกกลุ่ม รวมถึงผู้สูงอายุ และผู้พิการ ทางสายตา ช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงข่าวสารอย่างเท่าเทียม สร้างการมีส่วนร่วมกับผู้อ่าน ผู้ฟังด้วยการร่วมพัฒนา ภาษาการอ่านของ Bot ผ่านความคิดเห็นและการให้คะแนน
2. AI in Brief : สรุปเนื้อหาสั้น กระชับ เข้าใจง่าย

ไทยพีบีเอสตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคข่าวสารยุคใหม่ ที่ต้องการ "อ่านเร็ว เข้าใจไว" ด้วยบริการ AI in Brief ที่ใช้เทคโนโลยี Text Summarization ในการย่อข่าวหรือเนื้อหาให้สั้นกระชับ และตรงประเด็น โดยยังคงแก่นสาระสำคัญของเนื้อหาเอาไว้ครบถ้วน ให้ผู้อ่านเข้าถึงเนื้อหาสาระสำคัญได้ ภายในระยะเวลาอันสั้น เพิ่มประสิทธิภาพการรับรู้อย่างเป็นระบบ และสลับการอ่านฉบับเต็มได้ ผู้ใช้งานสามารถเลือกอ่านเนื้อหาในรูปแบบสรุปย่อได้ที่ www.thaipbs.or.th/Now นอกจากนี้ ผู้ชมยังสามารถมีส่วนร่วมโหวตประเมินคุณภาพความเข้าใจในเนื้อหาที่สรุปย่อให้ได้อีกด้วย
3. Playlist for you : แนะนำเนื้อหาที่ตรงใจคุณเฉพาะคุณ

บนแพลตฟอร์ม VIPA OTT www.VIPA.me ไทยพีบีเอสประมวลผลฐานข้อมูลการรับชม (Big Data) ในหลายมิติ และพฤติกรรมของผู้ใช้งาน เพื่อนำเสนอ Personalized Content ซึ่งใช้ AI ในการวิเคราะห์ความสนใจของผู้ใช้งาน แนะนำรายการที่สอดคล้องกับรสนิยม และพฤติกรรมการรับชมเฉพาะบุคคล
แนะนำรายการแบบรายบุคคลจากฐานข้อมูลรายการข่าว รายการสารคดี และเนื้อหาสร้างสรรค์ จากคลังรายการของไทยพีบีเอส รองรับการใช้งานทั้งผ่านเว็บไซต์ www.VIPA.me และแอปพลิเคชัน VIPA บนมือถือ ช่วยให้ผู้ชมค้นพบรายการที่อาจไม่เคยเห็นมาก่อน แต่มีแนวโน้มสอดคล้องกับความสนใจของตน นอกจากจะช่วยยกระดับประสบการณ์ผู้ใช้งานแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ผู้ชมเข้าถึงเนื้อหาคุณภาพจากสื่อสาธารณะอย่างหลากหลายมากยิ่งขึ้น และมีอิสระในการเลือกรับชมมากขึ้นในยุคของแพลตฟอร์มดิจิทัล

นอกเหนือจากการนำเสนอนวัตกรรม AI ของไทยพีบีเอสแล้ว ภายในงานประชุมตลอดสามวัน ยังเต็มไปด้วยการแบ่งปันประสบการณ์จากองค์กรสื่อต่างประเทศ ในวันแรก เน้นเทคนิคพอดแคสต์ ตั้งแต่การเลือกหัวข้อ จนถึงการโปรโมตบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม พร้อม Showcase จากผู้ผลิตพอดแคสต์ในมาเลเซียและออสเตรเลีย วันที่สอง เปิดมุมมองใหม่กับแนวโน้มแพลตฟอร์มและเนื้อหา จาก SONY MUSIC, RRI, Walkabout Asia และ RTM การจัดการภัยพิบัติและการเข้าถึงข้อมูล หรือ Disaster Management ที่มีสมาชิกจากประเทศต่าง ๆ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา ร่วมนำเสนอผลงานและแนวปฏิบัติ

ในการประชุมครั้งนี้ ยังมีการบรรยายพิเศษโดย Dr. Seemantani Sharma, Legal Manager of Asia-Pacific Broadcasting Union (ABU) กล่าวถึงประเด็นสำคัญในหัวข้อ "Intellectual Property Laws and AI Generated Content" ไว้ว่าปัจจุบันมีการแยกประเภทเนื้อหาที่สร้างโดย AI ออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่
- Autonomously Generated Content: เนื้อหาที่ AI สร้างขึ้นโดยสมบูรณ์โดยไม่มีการมีส่วนร่วมของมนุษย์
- AI-assisted Content: เนื้อหาที่เกิดจากการใช้ AI เป็นเครื่องมือภายใต้การกำกับหรือป้อนแนวคิดจากมนุษย์
โดยเน้นว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) สามารถส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ได้ แต่กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ยังคงให้ความสำคัญกับมนุษย์ คำแนะนำสำหรับผู้สร้างสรรค์ผลงานเนื้อหาด้วย AI คือต้องให้เครดิตระบุเครื่องมือที่ใช้สร้าง AI, หากคุณฝึก AI ด้วยข้อมูลที่มีลิขสิทธิ์ ให้ขอสิทธิในการใช้งานจากเจ้าของเนื้อหา, ใช้ผลลัพธ์จากเครื่องมือ AI ที่น่าเชื่อถือ และควรเก็บหลักฐานของกระบวนการสร้างสรรค์ (Creative Process) เช่น ภาพหน้าจอ, ขั้นตอนในความคิดสร้างสรรค์ไว้

ปิดท้ายในวันที่สาม ด้วยเนื้อหาเน้นเรื่อง AI การบรรยายพิเศษ "Evolution of AI in media" โดย Craig McCosker จาก ABC ออสเตรเลีย ที่พูดถึงการใช้ AI ในงานผลิตสื่อ พร้อมกับวิเคราะห์แนวโน้มเนื้อหาดิจิทัลและโซเชียลมีเดีย โดยผู้เชี่ยวชาญจากมาเลเซียและตุรกี ที่ร่วมแชร์กลยุทธ์การสร้างสรรค์เนื้อหาให้ตอบโจทย์ผู้ชมแต่ละแพลตฟอร์ม
รวมถึงการเปิดมุมมองจาก Shiva Ruppeni, Media Strategist, Malaysia เธอทำงานกับพอดแคสต์อันดับ 1 ของประเทศมาเลเซีย Keluar Sekejap เคยร่วมงานกับแพลตฟอร์มระดับโลกอย่าง TikTok, Apple เป็นหนึ่งใน Session ที่ตอกย้ำความจำเป็นของการปรับแนวคิดในอุตสาหกรรมสื่อ ให้เท่าทันกับผู้ชมยุคใหม่ ที่ไม่เพียงแต่รับข้อมูล แต่ยังมีบทบาทเป็นผู้มีเสียง ผู้มีพลัง และพร้อมจะเลือกเฉพาะสิ่งที่ "ตรงใจ" เท่านั้น เธอย้ำว่าหากผู้ผลิตสื่อยังยึดติดกับรูปแบบเดิม ที่ไม่ได้ตอบสนองต่อความต้องการผู้ชมรุ่นใหม่ก็อาจถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง ท่ามกลางโลกที่เนื้อหาและผู้ชมกำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว

นางสาวกนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส และ Shiva Ruppeni
ทั้งหมดสะท้อนเป้าหมายร่วมกันของสื่อสาธารณะในภูมิภาคที่มุ่งนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาช่วยให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูล และเนื้อหาคุณภาพได้มากขึ้นในยุคดิจิทัล การประชุม ABU Con-Fest 2025 จึงไม่เพียงเป็นเวทีแสดงนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสื่อเท่านั้น แต่ยังสะท้อนบทบาทสำคัญของความร่วมมือระดับภูมิภาค ในการขับเคลื่อนวงการสื่อสารมวลชนให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล โดยมุ่งสร้างระบบนิเวศสื่อที่เปิดกว้าง เป็นธรรม และเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมสำหรับทุกคน

ไม่พลาดทุกข่าวสาร สาระความรู้ และคอนเทนต์คุณภาพ ติดตามไทยพีบีเอสทุกช่องทางออนไลน์ ได้ที่
▪ Website : www.thaipbs.or.th
▪ Application : Thai PBS
▪ Social Media Thai PBS : Facebook, YouTube, X , LINE, TikTok, Instagram, Threads, Linkedin