ไทยพีบีเอส - ภาคีฯ ชวนจับตาสมการสันติภาพ เปิดเวที Policy Forum ฟังเสียงชายแดนใต้

The Active ไทยพีบีเอส ร่วมกับภาคีฯ เปิดเวที Policy Forum “ประชาชนอยู่ตรงไหน ในสมการสันติภาพ” ชี้ผลสำรวจชายแดนใต้ไม่เห็นความคืบหน้า แต่ยังมีหวัง – ภาคประชาสังคมเสนอเป็นสะพานเชื่อม

องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส โดยศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ หรือ The Active ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัด “Policy Forum : ประชาชนอยู่ตรงไหน ในสมการสันติภาพ” เพื่อร่วมสร้างสรรค์หนทางสู่สันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้ และเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็น ชวนทำความเข้าใจกับสถานการณ์ และหาคำตอบร่วมกัน เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2568 ณ ไทยพีบีเอส


ผศ.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ รักษาการแทนรองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
ยกกรณีศึกษาจากผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PEACE SURVEY) ทั้งสิ้น 7 ครั้ง พบว่า ช่วงแรกที่ทำการสำรวจผู้คนในพื้นที่ไม่มีความไว้วางใจและไม่มีใครอยากตอบคำถาม แต่เมื่อสำรวจหลายครั้ง ผู้คนกล้าตอบคำถามมากขึ้น แล้วมีคำถามกลับมาว่า การพูดคุยสันติภาพนั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คน ทั้งคนในพื้นที่ นอกพื้นที่ มีคนเจ็บ คนตาย จำนวนมาก พวกเขาจึงควรมีสิทธิ์ได้สะท้อนความต้องการที่ชัดเจนต่อกระบวนการสันติภาพ บางคนพูดในฐานะของเหยื่อความรุนแรง จึงอยากให้เสียงของพวกเขามีความสำคัญ

ผศ.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ รักษาการแทนรองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

“ทั้ง 7 ครั้งสะท้อนว่า ผู้คนหนุนกระบวนการพูดคุย ส่วนจะเชื่อมั่นไหม ก็ต้องค่อย ๆ ขยับไป นอกจาก นั้นยังมองเห็นความหวังและอยากให้การพูดคุยมีความก้าวหน้า หากดูจากกราฟจะเห็นว่า การสำรวจทุกครั้งสีจะขยายออกไปตลอด นั่นคือ การสนับสนุนกระบวนการพูดคุย ที่มีเพิ่มขึ้นตลอด ความหวังของผู้คนต่อสันติภาพ เพิ่มสูงขึ้น ความเชื่อมั่นในกระบวนการพูดคุย เพิ่มสูงขึ้น แต่ที่น่าสนใจคือ สัดส่วนความก้าวหน้าของการพูดคุย แทบไม่มีเลย อัตราความก้าวหน้าแทบไม่มีเลย” ผศ.พัทธ์ธีรา กล่าว

ซูกริฟฟี ลาเตะ ที่ปรึกษาประธาน The Patani ฝ่ายการเมืองและสันติภาพ ให้ความเห็นโดยยอมรับว่า การทำสำรวจอย่าง PEACE SURVEY ในพื้นที่ขัดแย้งนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะประชาชนไม่เชื่อมั่น เหตุการณ์ความรุนแรงทำให้เสียงของผู้คนที่ออกมาพูดความต้องการในสภาวะที่มีความขัดแย้งทำได้ยากมาก การทำสำรวจจึงต้องใช้ความพยายาม ดังนั้นการคาดหวังกระบวนการสันติภาพ และการพูดคุย ต้องทำให้กระบวนการเดินไปข้างหน้า เพราะเป็นปัจจัยที่ทำให้ประชาชนเชื่อมั่น และศรัทธา แต่การจะบอกได้ว่าก้าวหน้าหรือไม่นั้น จริง ๆ แล้ว อยู่เหนือการควบคุมของประชาชน แต่เป็นสิ่งที่ภาครัฐ และฝ่ายขบวนการฯ ต้องร่วมกันผลักดัน ว่าจะทำให้กระบวนการเดินไปทางไหน

ซูกริฟฟี ลาเตะ ที่ปรึกษาประธาน The Patani ฝ่ายการเมืองและสันติภาพ

ขณะเดียวกันยังมองว่า หากจะพูดถึงกระบวนการสันติภาพ ก็คงหนีเรื่องประชาธิปไตยไม่ได้ ซึ่งการแสดงออกตลอด 20 ปีมานี้ มีผลต่อความหวาดกลัว เพราะในพื้นที่ประชาชนที่ต้องการส่งเสี่ยงถูกคุกคาม ถูกดำเนินคดี เจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมบ้าน ดังนั้นหากอยากให้สันติภาพเดินต่อได้ รัฐบาลต้องให้ความสำคัญเรื่องประชาธิปไตย และสิทธิเสรีภาพการแสดงออกด้วย

ลม้าย มานะการ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ย้ำว่า หากถามถึงประชาชนอยู่ตรงไหนในกระบวนการสันติภาพ มองว่า อยู่ทุกที่ อยู่เป็นโซ่ข้อกลางให้กับทุกกลุ่ม เชื่อมระหว่างพี่น้องประชาชนที่ไม่กล้าส่งเสียงไปยังรัฐบาล ว่าต้องการสันติภาพจากการพูดคุย ในฐานะตัวแทนชาวพุทธ เราก็ไปมาเลเซีย ไปพูดคุยกับผู้นำมาราปาตานี พลูโล ผู้นำบีอาร์เอ็น จึงทำให้ทราบว่าทั้ง 3 กลุ่ม ต้องการการพูดคุยทั้งนั้น จึงยืนยันว่า แม้ประชาชนไม่ใช่ตัวแปรสำคัญในการพูดคุย แต่เราก็เป็นตัวแปรที่มีปัจจัยต่อการพูดคุยได้เหมือนกัน เราก็อยากให้พูดคุยโดยเร็ว การพูดคุยเป็นขั้นตอนสำคัญ ซึ่งสภาประชาสังคมฯ ยินดี เป็นตัวกลางสื่อสารให้จากโต๊ะเจรจาสันติภาพ เราอยากเป็นคณะติดตามที่รัฐบาลตั้งอย่างเป็นทางการ

ลม้าย มานะการ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้

เช่นเดียวกับ ซูกริฟฟี ที่เชื่อว่า สันติภาพไม่ใช่แค่การพูดคุย แต่ต้องอาศัยปัจจัยทางการเมือง การเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง จะส่งผลต่อกระบวนการสันติภาพทั้งหมด โดยข้อเสนอภาคประชาสังคม เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องมีเจตนำนงที่ชัดเจน ว่า เมื่อไรจะก้าวพ้นความขัดแย้ง ถึงเวลาที่รัฐบาลเพื่อไทยต้องตอบคำถาม ในช่วงที่ประชาชนกำลังจะหมดความหวัง ก็คาดหวังว่ารัฐบาลเพื่อไทยจะให้ความสำคัญกับสันติภาพที่ชายแดนใต้

ติดตามฟังเวที Policy Forum ฟังเสียงประชาชนชายแดนใต้

The Active ไทยพีบีเอส ร่วมสร้างพื้นที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางนโยบาย เพื่อพัฒนาสังคมประชาธิปไตยแบบไตร่ตรอง (Deliberative Democracy) ผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเวทีสาธารณะ นำข้อมูลที่ได้มารวบรวมและนำเสนอผ่านแพลตฟอร์ม “Policy Watch” ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดตามและผลักดันนโยบายสาธารณะ ด้วยข้อมูลที่เชื่อถือได้ เข้าใจง่าย และเข้าถึงได้สำหรับทุกคน นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่สำหรับการสื่อสารความรู้จากภาคพลเมืองอย่างมีส่วนร่วม ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.thaipbs.or.th/PolicyWatch

ไม่พลาดทุกข่าวสาร สาระความรู้ และคอนเทนต์คุณภาพ ติดตามไทยพีบีเอสทุกช่องทางออนไลน์ ได้ที่

▪ Website : www.thaipbs.or.th   
▪ Application : Thai PBS
▪ Social Media Thai PBS : Facebook, YouTube, X , LINE, TikTok, InstagramThreadsLinkedin

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวประชาสัมพันธ์

บทสัมภาษณ์ผู้บริหาร

ข่าวกิจกรรม

กลับขึ้นด้านบน