ล่ามภาษามือ สปป.ลาว ดูงานไทยพีบีเอส ต้นแบบ "Big Sign" ภาษามือใหญ่เต็มจอ..หนึ่งเดียวในไทย

ล่ามภาษามือ สปป.ลาว เข้าศึกษาดูงานไทยพีบีเอส เรียนรู้บริการ "Thai PBS Big Sign" ที่ช่วยให้คนพิการทางการได้ยินเข้าถึงข้อมูลได้เท่าเทียม พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อพัฒนาการทำงานล่ามภาษามือในลาว


เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 68 คณะนักศึกษาล่ามภาษามือจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จำนวน 14 คน ได้เข้าศึกษาดูงาน ณ ไทยพีบีเอส ภายใต้โครงการอบรมล่ามภาษามือของหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาล่ามภาษามือ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เพื่อเรียนรู้กระบวนการทำงานล่ามภาษามือทางโทรทัศน์ รวมถึงการผลิตรายงานข่าวและการทำงานร่วมกัน ในการศึกษาดูงานครั้งนี้คณะได้เข้าชมเบื้องหลังการทำงานของห้องล่ามภาษามือรายการวันใหม่วาไรตี้ และสตูดิโอข่าวรายการจับตาสถานการณ์ พร้อมทั้งได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ คุณกนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล ในหัวข้อ "Thai PBS Big Sign ภาษามือใหญ่เต็มจอ สำหรับคนพิการทางการได้ยิน" ซึ่งเป็นบริการต้นแบบที่ส่งเสริมความเท่าเทียมในการเข้าถึงสื่อของทุกคนในสังคม

คุณกนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล

คุณกนกพร กล่าวว่า "Thai PBS Big Sign" เป็นบริการล่ามภาษามือเต็มจอหนึ่งเดียวในประเทศไทย ที่ออกแบบมาเพื่อให้คนพิการทางการได้ยินสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและสาระบันเทิงได้อย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป บริการนี้เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 62 ในการถ่ายทอดสดเวที "เลือกตั้ง'62 ส่งเสียงประชาชน" เพื่อให้ข้อมูลการเลือกตั้งของประเทศไทย ได้รับการสื่อสารและเข้าถึงทุกกลุ่ม และมีการพัฒนาบริการเรื่อยมา ทั้งด้านเนื้อหาที่ต้องตอบโจทย์กับกลุ่มคนหูหนวก รูปแบบการนำเสนอที่เหมาะสม วิธีการผลิตที่ผสมผสานกับการใช้เทคโนโลยีและ AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ช่องทางการเผยแพร่ที่ปรับให้สะดวกกับการเข้าชม รวมไปถึงการสื่อสารและความร่วมมือต่าง ๆ


ปัจจุบันไทยพีบีเอสได้เผยแพร่บริการ Thai PBS Big Sign ผ่าน 2 กลุ่มช่องทาง คือ

  1. ช่องทางของ VIPA OTT บริการสตรีมมิงออนไลน์แบบไม่มีค่าใช้จ่ายและไม่มีโฆษณา ได้แก่ เว็บไซต์ www.VIPA.me , แอปพลิเคชัน VIPA บนสมาร์ทดีไวซ์ เช่น มือถือ แท็บเล็ต สมาร์ททีวี และ Connect TV โดยมีจุดเด่นคือการพัฒนาปุ่ม SL หรือ Sign Language บน Video Player ที่ทำให้ผู้ชมสามารถเลือกสลับการชมเนื้อหาระหว่างหน้าจอปกติกับหน้าจอที่มีล่ามภาษามือแบบ Big Sign ได้ทันที
  2. ช่อง YouTube "Thai PBS Big Sign" www.youtube.com/ThaiPBSBigSign ที่รวบรวมคอนเทนต์ย้อนหลังเพื่อให้เข้าถึงได้สะดวกยิ่งขึ้น


ทั้งนี้ คุณกนกพร ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า แนวคิดของการพัฒนาบริการให้มีปุ่ม "Sign Language" เกิดจากทำงานร่วมกับกลุ่มล่ามภาษามือรุ่นใหม่ ที่เติบโตมากับครอบครัวที่มีสมาชิกหูหนวก ซึ่งมักพบปัญหาการรับชมคอนเทนต์ที่ไม่สามารถดูร่วมกันได้ จึงเกิดเป็นแนวคิดว่า "ความสุขในครอบครัว ควรเกิดจากการเข้าถึงและรับชมคอนเทนต์ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะมีข้อจำกัดใด ๆ" จึงเป็นที่มาของการใช้เทคโนโลยีพัฒนารูปแบบ

การนำเสนอ ปัจจุบัน Big Sign เป็นหนึ่งในบริการบน VIPA OTT ที่มีเนื้อหารวม 61 รายการ กว่า 750 วิดีโอ ที่ครอบคลุมทุกช่วงวัย ใน 4 ประเภทเนื้อหา ได้แก่ ละคร - ซิทคอม 54.1%, สารคดี 32.8%, วาไรตี้ - ไลฟ์สไตล์ 9.8% และรายการเด็ก 3.3%


ทางด้าน คุณภริมา วินิธาสถิตย์กุล อาจารย์ประจำหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาล่ามภาษามือ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า ตนมีโอกาสร่วมงานกับไทยพีบีเอสในฐานะล่ามภาษามือ ซึ่งถือเป็นสถานีโทรทัศน์ที่ให้บริการด้านล่ามภาษามืออย่างครบถ้วน และเป็นมิตรกับผู้พิการทางการได้ยินอย่างแท้จริง ปัจจุบันให้บริการล่ามภาษามือผ่านทางหน้าจอทีวี ในรายการวันใหม่วาไรตี้, จับตาสถานการณ์ และข่าวเที่ยง นอกจากนี้ ยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และถ่ายทอดเทคนิคการเป็นล่ามภาษามืออย่างมืออาชีพให้กับคณะดูงานเพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนางานด้านล่ามภาษามือในลาวต่อไป


คุณโสภา เฮียงฤทธิ์ หนึ่งในคณะศึกษาดูงาน กล่าวว่า การมาศึกษาดูงานที่ไทยพีบีเอสครั้งนี้เป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าและได้รับประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะการได้เห็นการทำงานของสื่อสาธารณะที่มุ่งเน้นการเข้าถึงของคนพิการทางการได้ยินอย่างแท้จริง พร้อมทั้งกล่าวขอบคุณไทยพีบีเอสที่เปิดโอกาสในการเรียนรู้ โดยลาวมีล่ามภาษามือทั่วประเทศประมาณ 10 คน ถือเป็นรุ่นแรกที่จบการศึกษาหลักสูตรนี้ พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ลาวเพิ่งเริ่มต้นการมีล่ามภาษามือในโทรทัศน์ 1 ปี และยังไม่มีหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยตรง อย่างไรก็ตามกำลังอยู่ระหว่างการผลักดันให้ล่ามภาษามือเป็นอาชีพที่ได้รับการยอมรับและสามารถพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต


ไม่พลาดทุกข่าวสาร สาระความรู้ และคอนเทนต์คุณภาพ ติดตามไทยพีบีเอสทุกช่องทางออนไลน์ ได้ที่

▪ Website : www.thaipbs.or.th   
▪ Application : Thai PBS
▪ Social Media Thai PBS : Facebook, YouTube, X , LINE, TikTok, InstagramThreadsLinkedin

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวประชาสัมพันธ์

บทสัมภาษณ์ผู้บริหาร

ข่าวกิจกรรม

กลับขึ้นด้านบน