ไทยพีบีเอส ร่วมมือภาคีฯ เปิดพื้นที่ทบทวนบทเรียน "สึนามิ"

The Active ไทยพีบีเอส และภาคีเครือข่าย เปิดพื้นที่ทบทวนบทเรียนจากความสูญเสียในอดีต สร้างจินตนาการใหม่รับมือภัยพิบัติใหญ่ที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นอีกและรุนแรงขึ้น เห็นพ้อง ‘อำนาจรวมศูนย์’ ไม่อาจทำให้รอดอีกต่อไป จำเป็นต้องมี ‘ภาคี’ เข้ามามีส่วนร่วม เล็งเสนอ ‘สมุดปกแดง’ ถึง ครม. ชงตั้งกลไกติดตามขับเคลื่อนนโยบายจัดการภัยพิบัติ


องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส โดยศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ หรือ The Active ร่วมกับ UNDP สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) มูลนิธิชุมชนไท และภาคีเครือข่าย จัด Policy Forum ครั้งที่ 26 “20 ปีสึนามิ บทเรียนและจินตนาการใหม่ การจัดการภัยพิบัติ” โดยมีหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากผู้ประสบภัย ภาคประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐ และภาควิชาการ เข้าร่วมกว่า 50 คน เพื่อระดมความคิด นำมาสู่ข้อเสนอ ‘การจัดการภัยพิบัติรูปแบบใหม่’ ที่อนุสรณ์สถานสึนามิบ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา


นางสาวณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส
กล่าวว่า การครบรอบ 20 ปี เหตุการณ์สึนามิในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ที่สำคัญ แต่ยังเป็นโอกาสในการทบทวนข้อมูลและประสบการณ์ที่ได้รับ พร้อมทั้งสะท้อนบทเรียนและจินตนาการใหม่ในการจัดการภัยพิบัติ โดยเฉพาะการสร้างการเรียนรู้เชิงนโยบายผ่านการจัดกิจกรรม Policy Forum ครั้งที่ 26 ซึ่งไทยพีบีเอส ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อหาข้อสรุปและข้อเสนอต่าง ๆ ที่จะช่วยพัฒนาแนวทางการจัดการภัยพิบัติให้ดีขึ้นกว่าเดิม และสามารถนำไปสู่การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาต่อไปในอนาคต


นายตะวัน ทรายอ่อน
เยาวชนวัย 21 ปี จากบ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เล่าว่า ในวันเกิดเหตุสึนามิ พ่อออกทะเลไปกับปู่ และคลื่นยักษ์สูงมากจนเรือล่ม ปู่เสียชีวิต ขณะที่พ่อรอดมาถึงฝั่ง แต่แม่ ย่า และน้องสาวเสียชีวิตที่บ้าน ส่วนตัวเขารอดเพราะแม่อุ้มหนีขึ้นต้นไม้ตอนเขาอายุ 1 ขวบ แม้คลื่นสงบแล้ว แต่สภาพแวดล้อมริมชายฝั่งอันดามันยังเสี่ยง จึงทำให้เขาเริ่มเรียนรู้การเป็นอาสาสมัครตั้งแต่มัธยมต้นตามพ่อ จนปัจจุบันศึกษาอยู่ปีสุดท้าย สาขาจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และฝึกงานที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จ.พังงา

ภัยพิบัติไม่อาจห้ามได้ แต่สามารถป้องกันและรับมือเพื่อลดความเสียหายได้ จึงเปลี่ยนบาดแผลและความสูญเสียให้เป็นพลังในการจัดการภัยพิบัติและช่วยให้ชุมชนที่มีอาชีพประมงอยู่ริมชายฝั่งปลอดภัย” นายตะวัน กล่าวทิ้งท้าย


ศ.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ
กล่าวว่า ถ้าย้อนดูข้อมูลรอยเลื่อนที่แนวอาระกัน ในอดีตแผ่นดินไหวบริเวณนี้ลุกลามไล่ขึ้นมาที่เกาะสุมาตรายาวมาถึงอันดามัน ทำให้เกิดสึนามิเมื่อปี 2547 แต่ยาวมาจนถึงตอนนี้แผ่นดิวไหวบริเวณนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบ และอนาคตก็มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอีก ดังนั้นหากแนวอาระกันเกิดลุกลามขึ้นมาที่อันดามันอีกครั้ง อาจทำให้เกิดผลกระทบเหมือนสึนามิครั้งก่อน เพียงแต่ตอนนี้อาจไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร เป็นการคาดการณ์อนาคตที่ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีโอกาสเกิด สึนามิ ได้อีก การเตรียมความพร้อมจึงสำคัญ โดยเฉพาะการปรับระบบเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพ เช่น ลดขั้นตอนการประกาศเตือนที่ต้องรอคำสั่งจากอธิบดี และปรับให้เสียงไซเรนได้ยินชัดในระยะ 1 กิโลเมตร รวมถึงพัฒนาแจ้งเตือนผ่านโทรศัพท์มือถือทันที นอกจากนี้ ควรบำรุงรักษาป้ายเส้นทางหลบหนีและเพิ่มให้มีทุกระยะ 300 เมตร เพื่อช่วยให้การหนีภัยเป็นไปอย่างทันท่วงที


การซ้อมอพยพอาจดูน่าเบื่อ แต่ควรทำให้สนุกขึ้น เช่น การจำลองสถานการณ์จริงและเพิ่มความท้าทายในการนับป้าย เพื่อกระตุ้นความสนใจของคนรุ่นใหม่” ศ.เป็นหนึ่ง กล่าว


ทางด้าน ดร.เพ็ญ สุขมาก ตัวแทนเครือข่ายนักวิชาการภัยพิบัติภาคใต้ 9 สถาบัน ยอมรับว่า เห็นความตื่นตัวของภาคประชาชนและข้อเสนอที่มีออกมามากมาย จึงไม่อยากปล่อยให้เป็นเพียงกระดาษ ดังนั้นได้รวมพลังกับภาควิชาการหลากหลายคนจากหลายสถาบันมาทบทวนข้อเสนอทั้งหมด นำมาจัดทำเป็น ‘สมุดปกแดง’ เตรียมนำเสนอผ่าน คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) หรือ คณะกรรมการกระจายอำนาจสิทธิชุมชนในการจัดการภัยพิบัติ เพื่อผลักดันไปให้ถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป โดยมี 3 ข้อเสนอสำคัญถึงรัฐบาล คือ

  1. กำหนดให้ ‘ภัยพิบัติเป็นวาระแห่งชาติ’
  2. ให้ความเห็นชอบ สมุดปกแดง หรือ ข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยพร้อมสู้ภัยพิบัติในภาวะโลกเดือด
  3. แต่งตั้ง ‘คณะกรรมการขับเคลื่อนข้อเสนอนโยบาย’ ที่มาจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ภาควิชาการ และภาคเอกชน พร้อมกำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินงานให้ชัดเจน


นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอเชิงนโยบายระดับชาติ และระดับท้องถิ่น ซึ่งมีใจความสำคัญ 4 ประเด็น คือ

  1. การวางแผนการจัดการภัยพิบัติใน 3 ระยะที่ชัดเจน ต้องก่อนเกิดภัยพิบัติ เกิดภัยพิบัติ และหลังภัยพิบัติ
  2. การปรับโครงสร้างทางกฎหมายและกฎระเบียบให้เอื้อต่อการรับมือภัยธรรมชาติต่าง ๆ
  3. การพัฒนาศักยภาพของคนและเครือข่าย
  4. ระบบการสื่อสารและข้อมูล ที่รวบรวมทั้งหมดไว้ในที่เดียวให้ประชาชนเข้าใจ และใช้งานได้ง่าย


ขณะที่ นายสมพันธ์ เตชะอธิก กรรมการสุขภาพแห่งชาติ ตอบรับว่า จะนำ ข้อเสนอสมุดปกแดง ไปพิจารณา แต่ข้อเสนอเหล่านี้อาจต้องมีจุดเชื่อมโยงสุขภาพ 4 มิติ ร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญาด้วย เพราะหน้าที่ของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเป็นแบบนี้ เช่นเดียวกัน นายประภาส ปิ่นตบแต่ง สมาชิกวุฒิสภา มองว่า ข้อเสนอสมุดปกแดงสะท้อนให้เห็นปัญหาของการจัดการด้วยระบบรวมศูนย์ที่ใช้ไม่ได้อีกต่อไป และการมีภาคีหลายเครือข่ายเข้ามาช่วยกัน จะทำให้ทุกคนอยู่รอดและปลอดภัย แต่จะทำอย่างไรให้เกิดขึ้นได้จริง ต้องทำให้เกิดการจัดการร่วมกันผ่านกฎหมายนโยบาย และที่จริงแล้ว สส. มีคณะกรรมาธิการสามัญภัยพิบัติอยู่ ถ้าให้คณะกรรมการชุดนี้ได้ศึกษาข้อเสนอเหล่านี้ เป้าหมายที่จะมีนโยบายจัดการภัยพิบัติที่มีชุมชนเป็นส่วนร่วมคงอยู่ไม่ไกล บทเรียนที่ผ่านมาจะเกิดคุณูปการมากกว่านี้ถ้าใช้ความสูญเสีย มาสร้างจินตนาการใหม่ แม้ไม่รู้ว่าเส้นทางจะยาวไกลเพียงใด แต่เมื่อยังมีหวัง และภัยพิบัติใหญ่ยังมีโอกาสเกิดขึ้นอีก จึงอยากชวนให้ทุกคนคิดกันต่อ ร่วมกันผลักดัน และติดตามให้นโยบายการจัดการภัยพิบัติรูปแบบใหม่นี้เกิดขึ้นได้จริง


ไม่พลาดทุกข่าวสาร สาระความรู้ และคอนเทนต์คุณภาพ ติดตามไทยพีบีเอสทุกช่องทางออนไลน์ ได้ที่

▪ Website : www.thaipbs.or.th   
▪ Application : Thai PBS
▪ Social Media Thai PBS : Facebook, YouTube, X , LINE, TikTok, InstagramThreadsLinkedin

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวประชาสัมพันธ์

บทสัมภาษณ์ผู้บริหาร

ข่าวกิจกรรม

กลับขึ้นด้านบน