องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส โดยสำนักข่าว ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงานเสวนา Thai PBS NEWS FORUM ครั้งที่ 1 หัวข้อ "20 ปี สึนามิ จุดเปลี่ยน...ภัยพิบัติ" เพื่อร่วมรำลึก 20 ปีเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิที่ถล่ม 6 จังหวัดทางภาคใต้ของไทย มุ่งหวังถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา ทบทวนมาตรการที่ใช้ในการรับมือภัยพิบัติ และประเมินความพร้อมในการรับมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในปัจจุบัน ที่สตูดิโอ 3 ไทยพีบีเอส
เริ่มการเสวนาด้วย นายไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท และอดีตผู้ประสบเหตุสึนามิ จ.พังงา เล่าเหตุการณ์ในวันนั้นว่า หลังจากที่เกิดสึนามิถล่มชายฝั่งอันดามันของไทย เขาเห็นภาพศพจำนวนมากกองระเกะระกะ และซากปรักหักพัง ที่เหลืออยู่เพียงบ้านสองชั้น ซึ่งเข้าใจว่าโลกได้ถูกน้ำท่วมทั้งหมดและคิดว่าพวกเขาคงเป็นกลุ่มคนสุดท้ายที่รอดชีวิต จากทั้งหมดที่เหลือมีแค่ทะเลกว้าง
"ผมตัดสินใจเก็บเศษขยะที่ลอยมาต่อแพ และนำศพกับคนพิการขึ้นไปบนแพ โชคดีที่พบศพพ่อในบ้าน จึงนำศพออกมาได้ เมื่อเห็นคนเจ็บเริ่มคลานเข้ามา ก็รู้สึกโล่งใจที่ยังมีคนรอดชีวิตอยู่ และเราก็หนีต่อไป" นายไมตรี กล่าว
แพทย์หญิงคุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า กรณีสึนามิไม่ควรมองว่าเป็นแค่ภัยพิบัติ แต่ควรมองเป็นสถานการณ์วิกฤต เพื่อที่จะเข้าใจปัญหามากขึ้น ในช่วงนั้น ปัญหาหลักคือ รัฐยังไม่พร้อม เช่น นายกรัฐมนตรีให้รัฐมนตรีดูแลแต่ละจังหวัด แต่พื้นที่ที่ต้องบริหารมีมากเกินไป หรือแม้กระทั่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ก็ไม่สามารถทราบจำนวนผู้เสียชีวิตได้ ตำรวจก็มองเป็นเรื่องอาชญากรรม ดังนั้น การบริหารจัดการในสถานการณ์แบบนี้ต้องใช้วิธีการพิเศษ ไม่ใช่ตามโครงสร้างปกติ
"ทุกอย่างจึงเป็นการแก้ไขปัญหาทีละวัน และค่อย ๆ แก้ไขปัญหาไป โดยต้องลดความเสี่ยง และอยากให้มีการถอดบทเรียน เพราะถ้าทำได้ดีจะช่วยให้เราเรียนรู้และนำไปใช้ประโยชน์ได้" แพทย์หญิงคุณหญิง พรทิพย์ กล่าวทิ้งท้าย
นายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ปภ.ได้เตรียมการซักซ้อมการแจ้งเตือนภัยอย่างสม่ำเสมอ มีการอบรมแผนเผชิญเหตุ และระบบการบริหารจัดการเหตุการณ์ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และผู้บริหารท้องถิ่น รวมถึงการเน้นให้จังหวัดปรับปรุงพื้นที่เสี่ยงภัยและซักซ้อมแผนการอพยพประชาชน นอกจากนี้ ยังมีการฝึกซ้อมการอพยพกับประชาชนในพื้นที่ 6 จังหวัดที่เสี่ยงภัย รวมถึงการออกแบบสิ่งปลูกสร้างที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการอพยพด้วย
สำหรับระบบการแจ้งเตือนภัย ปภ.จะรับข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา สทนช. กรมทรัพยากรธรณี และกรมทรัพยากรน้ำ เพื่อนำมาวิเคราะห์และตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงภัย ก่อนที่จะประกาศแจ้งเตือน เมื่อมั่นใจว่าเกิดเหตุการณ์ในพื้นที่ ปภ.จะแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานราชการ เพื่อให้เตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือ และส่งข้อมูลเตือนภัยไปยังประชาชน ผ่านโซเชียลมีเดียหรือ SMS ซึ่งข้อความจะไม่เกิน 70 เป็นภาษาไทย หากเป็นภาษาอังกฤษจะมีข้อความยาวเป็นสองเท่า ระบบนี้จะแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า 12 - 24 ชั่วโมง หรือในกรณีฉุกเฉินจะมีการแจ้งเตือน 6 - 12 ชั่วโมง หากเข้าหลักเกณฑ์แจ้งเตือนภัย 5 ระดับ รวมถึงทุกช่องทาง เพื่อให้ประชาชนมีความพร้อมในการเฝ้าระวัง
ปัจจุบัน ปภ. มีทุ่นเตือนภัยจำนวน 2 ทุ่นที่ทำงานร่วมกับอินโดนีเซีย และหอสัญญาณ 130 แห่งในอันดามัน ซึ่งจะส่งสัญญาณเตือนภัยพร้อมกันเมื่อเกิดเหตุ และทุกวันพุธ เวลา 08.00 น. จะมีการทดสอบระบบเพื่อให้ประชาชนคุ้นเคยกับการแจ้งเตือน
นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าว ไทยพีบีเอส กล่าวว่า แม้เหตุการณ์สึนามิจะเกิดขึ้นมาแล้ว 20 ปี แต่ภัยพิบัติจากธรรมชาติยังคงมีอยู่และใกล้ตัวเราเสมอ การพูดถึงเหตุการณ์นี้อีกครั้งจึงเป็นการทบทวนและมองไปข้างหน้า ว่าควรทำอะไรเพิ่มเติม งานนี้มุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และภาควิชาการ ได้มาร่วมกันหาทางออกและดำเนินการเพื่อป้องกันภัยพิบัติในอนาคต
ภัยพิบัติจากธรรมชาติจะยังคงเป็นปัญหาสำคัญในอนาคต โดยเฉพาะภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งไม่ใช่แค่โลกร้อน แต่เป็นปัญหาที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ การพูดถึงภัยพิบัติในหลายรูปแบบ ทั้งสึนามิและภัยพิบัติอื่น ๆ เช่น เหตุการณ์น้ำท่วมที่แม่สาย เป็นการเรียนรู้และเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบที่กว้างขวางจากภัยพิบัติ เช่น การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต การขาดแคลนทรัพยากร และผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ดังนั้น การทำงานร่วมกันเพื่อเตรียมความพร้อมและลดความเสียหายจากภัยพิบัติจึงเป็นสิ่งสำคัญ นายก่อเขต กล่าว
ทั้งนี้ ตลอดเดือนธันวาคม 2567 ไทยพีบีเอสจะนำเสนอเนื้อหาพิเศษเกี่ยวกับสึนามิผ่านรายการต่าง ๆ แล้ว ในช่วงระหว่างวันที่ 24 - 27 ธันวาคม 2567 จะไปร่วมจัดกิจกรรมในพื้นที่ ณ อนุสรณ์สถานสึนามิบ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา โดยจะมีถ่ายทอดสัญญาณจาก จ.พังงา ผ่ายรายการข่าวต่าง ๆ ตลอดทั้งวัน รวมถึงรายการพิเศษ "20 ปี สึนามิ จุดเปลี่ยนภัยพิบัติ" ที่จะนำเสนอภาพบรรยากาศรําลึกจาก 4 ประเทศที่เคยได้รับผลกระทบจากสึนามิ ได้แก่ อินโดนีเซีย บังคลาเทศ มัลดีฟส์ และอินเดีย
นอกจากนี้ ยังมีการจัด "Policy Forum ครั้งที่ 26 : 20 ปี สึนามิ บทเรียนและจินตนาการใหม่ การจัดการภัยพิบัติ" ระดมความคิดเห็นเพื่อผลักดันการจัดทำนโยบายการจัดการภัยพิบัติอย่างยั่งยืน พร้อมนำเสนอข้อมูลและการติดตามนโยบายภัยพิบัติ จากแพลตฟอร์ม Policy Watch และเปิดตัวสารคดี "คลื่นเปลี่ยนเรา คลื่นเปลี่ยนโลก" (The Wave that changed the world) เรื่องราวของการตระหนักรู้และเตือนภัยธรรมชาติจากคลื่นยักษ์ สารคดีฝีมือคนไทย โดยความร่วมมือของ 10 ประเทศสมาชิกสหภาพวิทยุและโทรทัศน์แห่งภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก หรือ ABU ที่จะฉายครั้งแรกในโลก ณ บ้านน้ำเค็ม จ.พังงา ด้วย
มาร่วมกันเรียนรู้จากอดีต เพื่อสร้างความพร้อมในปัจจุบัน และมุ่งหน้าสู่การจัดการภัยพิบัติที่ครอบคลุมและยั่งยืน ทางไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3 ทุกช่องทางออนไลน์ และ www.thaipbs.or.th/Disaster ตลอดเดือนธันวาคม 2567
ไม่พลาดทุกข่าวสาร สาระความรู้ และคอนเทนต์คุณภาพ ติดตามไทยพีบีเอสทุกช่องทางออนไลน์ ได้ที่
▪ Website : www.thaipbs.or.th
▪ Application : Thai PBS
▪ Social Media Thai PBS : Facebook, YouTube, X , LINE, TikTok, Instagram, Threads, Linkedin