ไทยพีบีเอส ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย เปิดโครงการยกระดับความรู้และเตรียมความพร้อมรับมือวิกฤตฝุ่นพิษ PM 2.5 ขยายผล 405 โรงเรียนทั่วกรุง
องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส โดยศูนย์สื่อสาธารณะเพื่อเด็กและการเรียนรู้ กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และภาคีเครือข่าย จัดพิธีเปิดโครงการยกระดับองค์ความรู้สำหรับเด็กและเยาวชน เพื่อการตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพในพื้นที่เสี่ยง ต่อปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กสู่นโยบายสาธารณะ และกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ "ห้องเรียนสู้ฝุ่น" โดยมีโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมจำนวน 405 โรงเรียน เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันในการเตรียมความพร้อมและการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยฝุ่น PM 2.5 เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 67 ที่ห้องประชุม Co - Working Space อาคาร D ไทยพีบีเอส
นางสุชาดา ภู่ทองคำ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์สื่อสาธารณะเพื่อเด็กและการเรียนรู้ ได้กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า เป็นโอกาสดีที่ไทยพีบีเอส และ ALTV ได้ช่วยขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกช่วงวัยดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการสร้างความเข้าใจและการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นภัยที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของคนในสังคม จึงได้เปิดพื้นที่เพื่อจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ "ห้องเรียนสู้ฝุ่น" มีผู้อำนวยการโรงเรียน หรือตัวแทนครูโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมอบรม ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สนับสนุน ยกระดับองค์ความรู้ และเสริมทักษะ เพื่อเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย
นายทรงศร กัลยา ณ สุนทร รองผู้อำนวยสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความสำคัญของ "ห้องเรียนสู้ฝุ่น" กับภาคการศึกษาว่า ได้ตระหนักถึงปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อสุขภาพนักเรียน ครู บุคลากร รวมถึงพ่อแม่และผู้ปกครอง ที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านสุขภาพจากการสัมผัสฝุ่นละอองดังกล่าว ซึ่งมีผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนและคุณภาพการเรียนของนักเรียน จึงได้ขับเคลื่อนและบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง
โดยเฉพาะโครงการฯ นี้ ได้เกิดโรงเรียนต้นแบบรับมือฝุ่น PM 2.5 ในสังกัดกรุงเทพมหานครแล้ว จำนวน 32 โรงเรียน และครั้งนี้ขยายผลอีก 405 โรงเรียน รวมถึงโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร สำนักพัฒนาสังคม จำนวน 10 โรงเรียน เพื่อให้ครูและนักเรียนในโรงเรียนต่าง ๆ ได้รับความรู้และเตรียมพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 อย่างมีประสิทธิภาพ
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า กรุงเทพมหานครได้กำหนดนโยบายสำคัญในการผลักดันโครงการนี้ การทำให้คนตระหนักว่าฝุ่นมาจากไหน และช่วยกันลดฝุ่นได้อย่างไรเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเราเป็นคนที่สร้างฝุ่นโดยไม่รู้ตัวเหมือนกัน การสร้างห้องเรียนสู้ฝุ่นไม่ใช่จบแค่เรื่องของการเตือนแต่เป็นการนำเอาความรู้ไปใส่ในเรื่องการศึกษาด้วย
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้กำหนดนโยบายเสริมการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมในห้องเรียน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในระดับโรงเรียน ตั้งแต่การแยกขยะ เรื่องฝุ่นละออง และการรับมือกับความร้อน เช่น การเฝ้าระวังปัญหาฮีลสโตก (Heat Stroke) ที่เกิดจากอากาศร้อนจัด รวมถึงการเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนและครูในเรื่องการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ไม่พลาดทุกข่าวสาร สาระความรู้ และคอนเทนต์คุณภาพ ติดตามไทยพีบีเอสทุกช่องทางออนไลน์ ได้ที่
▪ Website : www.thaipbs.or.th
▪ Application : Thai PBS
▪ Social Media Thai PBS : Facebook, YouTube, X , LINE, TikTok, Instagram, Threads, Linkedin