ไทยพีบีเอส เปิดพื้นที่ Policy Forum "โค้งสุดท้าย สว. โอกาสเปลี่ยนประเทศไทย?"

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 67 องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส ร่วมกับสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ภาคประชาสังคม และนักวิชาการจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จัดเวทีเสวนาเชิงนโยบาย Policy Forum ในหัวข้อ "โค้งสุดท้าย สว. โอกาสเปลี่ยนประเทศไทย?" เพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับประชาชนภาควิชาการ และภาคประชาสังคมจากทุกภูมิภาค ให้ได้บทสรุปเป็นข้อเสนอและเจตนารมณ์ส่งต่อความคาดหวังของประชาชนไปยังกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงสุดท้าย


ในช่วงที่ผ่านมา ไทยพีบีเอส ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า จัดเวทีรับฟังเสียงประชาชนในระดับภูมิภาค 4 เวที ทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ผ่านรายการฟังเสียงประเทศไทย เพื่อให้ความรู้และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น สะท้อนความต้องการ และรวบรวมข้อเสนอแนะเกี่ยวกับคุณสมบัติ สว. ที่ประชาชนต้องการ ซึ่งจากภาพรวมแสดงให้เห็นว่า ประชาชนยังมีความหวัง ตั้งตารอ สว. ที่ตั้งใจรับฟังเสียงของประชาชนและกล้าพูดเพื่อประชาชน รวมถึงยังคาดหวังกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศไทย


สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน
ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเลือกตั้ง สว. ในระดับภูมิภาคที่ผ่านมาว่า ระบบและกฎเกณฑ์ของการเลือกตั้ง สว. บังคับให้ภาคประชาชนต้องรวมกลุ่มจัดตั้ง หาพวกพ้องทั้งภายในกลุ่มอาชีพเดียวกันและต่างกันเพื่อให้สามารถเลือกคนที่ดีที่สุดเข้าไปทำหน้าที่ในสภา ซึ่งทราบกันดีว่าด้วยศักยภาพของภาคประชาชนและฝ่ายการเมืองมีศักยภาพในการรวมกลุ่มที่ต่างกัน จึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเลือกตั้งและส่งผลให้ภาคประชาชนมีโอกาสเข้าไปนั่งตำแหน่ง สว. ได้น้อยลง


ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เชื่อว่า สว. ที่ได้จากการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีความหลากหลายทั้งจากภาคประชาชน ภาคธุรกิจ กลุ่มการเมืองและอื่น ๆ ซึ่งสามารถสะท้อนความต้องการของประชาชนในแต่ละกลุ่มได้หลายหลากมากขึ้น แต่ปัญหาหลักคือ สว. ชุดนี้ จะเป็นตัวแทนของใคร แม้จะบอกว่าเป็นแทนกลุ่มอาชีพ เพราะกลุ่มอาชีพเลือกมา แต่ระดับสุดท้ายคือการเลือกไขว้ ไม่ได้มาจากกลุ่มอาชีพของตัวเองอีก สิ่งนี้จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของ สว. ชุดนี้ เมื่อ สว. ไม่ได้มาจากประชาชน จะตอบโจทย์ ตอบสนองประชาชนไหม? แต่ด้วยอำนาจและหน้าที่ของ สว. มิใช่อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด อีกทั้งยังมีสมาชิกสภาผู้ราษฎร (สส.) ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนอยู่ในกระบวนการการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงแสดงให้เห็นว่าอำนาจในระบอบประชาธิปไตยนั้นไม่หายไปจากมือของประชาชน


สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า
เปิดเผยว่า จากผลสำรวจความเห็นของประชาชน สิ่งสำคัญหลัก ๆ ที่ประชาชนอยากเห็นต่อจากนี้พบว่า คือการกลั่นกรองกฎหมาย การให้ความเห็นชอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การตรวจสอบรัฐบาลผ่านการตั้งกระทู้และเปิดอภิปราย รวมถึงการใช้อำนาจกรรมาธิการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน จึงมีความมุ่งหมายที่จะรวบรวมเสียงสะท้อนของประชาชนในประเด็นคุณสมบัติของ สว. ชุดใหม่ รวมถึงความคาดหวังในการเข้าไปทำหน้าที่ตัวแทนประชาชน สรุปเป็นสมุดปกขาว หรือ White Paper ส่งไปถึงกระบวนการเลือก สว. ชุดใหม่ อีกทั้งยังเสนอให้ว่าที่ สว. ชุดใหม่ติดตามความคิดเห็นด้านกฎหมายผ่าน "LawLink" ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับรับฟังความเห็นต่อร่างกฎหมายอีกด้วย

"จาก White Paper นี้ไม่ได้ให้ท่านเฉย ๆ แต่เราจะติดตามว่าท่านได้ดำเนินการตามที่พวกเราคาดหวังหรือไม่" สติธร กล่าวทิ้งท้าย


สำหรับช่วงสุดท้ายของการเสวนา ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าว ไทยพีบีเอส กล่าวสรุปว่า แม้รูปแบบการเลือก สว. จะดู "ไม่ค่อยน่ารัก" แต่ยังมีความหวัง โดยมีคีย์เวิร์ดหนึ่งที่ขอยกขึ้นมาจากวงเสวนาครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า "อย่าทำให้เราผิดหวัง" แสดงว่ายังมีความหวัง ส่วนเรื่องการมีบ้านใหญ่ และการจัดตั้ง ในตอนแรกคิดว่าคงไม่มีใครให้ความสนใจ แต่สิ่งที่เห็นในปัจจุบันกลับพบว่าตอนนี้หลายฝ่ายให้สนใจกับประเด็นนี้ และกล่าวปิดท้ายว่า เวทีนี้ให้ความสำคัญกับกระบวนการ แต่ก็คาดหวังว่า ว่าที่ สว. จะพูดคุยกันว่าจะทำอะไร สะท้อนวิสัยทัศน์ออกมา ซึ่งถือเป็นความคาดหวังและเป็นแนวโน้มที่ดี


ติดตาม เจาะลึก ทุกความคืบหน้าของกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้ทางข่าวไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3 และทาง www.thaipbs.or.th/Senate2567 หรือร่วมจับตาอนาคตประเทศไทย ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการของนโยบายรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐบาลแพลตฟอร์ม Policy Watch เพื่อเป็นสื่อกลางในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะของประเทศที่เชื่อมโยงกับประชาชน ที่ www.thaipbs.or.th/Policywatch 

ชมคลิปย้อนหลัง

สามารถติดตามไทยพีบีเอสทุกช่องทางออนไลน์ ได้ที่

▪ Website : www.thaipbs.or.th   
▪ Application : Thai PBS
▪ Social Media Thai PBS : Facebook, YouTube, X , LINE, TikTok, InstagramThreadsLinkedin

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวประชาสัมพันธ์

บทสัมภาษณ์ผู้บริหาร

ข่าวกิจกรรม

กลับขึ้นด้านบน