องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส โดยรายการสถานีประชาชน ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม มูลนิธิกระจกเงา จัดกิจกรรมโครงการยกระดับศูนย์คนหายไทยพีบีเอส “คนหายต้องได้กลับบ้าน” ขยายเครือข่ายระดับชุมชน ในจังหวัดปทุมธานี โดยมีตัวแทนชาวชุมชนหน้าไม้ ม.5 ชุมชนคูขวาง - อสม.รพ.สต.คลองพระอุดม อำเภอลาดหลุมแก้ว และ อสม.รพ.สต.บางเตย หมู่ 1 อำเภอสามโคก, อสม.รพ.สต.คูบางหลวง ม.1 และ ม.6 สังกัด อบจ.ปทุมธานี กว่า 150 คน เข้าร่วม เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 68 ณ ห้องประชุมโรงเรียนสามโคก อ.สามโคก จ.ปทุมธานี
โดยร้อยตำรวจเอกหญิง ดร.รัชดาภรณ์ มรม่วง ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบการติดตามคนหายและการพิสูจน์ศพนิรนาม สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และนางสาวพัชร์ชิสา พชิระธารีรัตน์ รองนายก อบจ.ปทุมธานี ซึ่งได้รับมอบหมายจากพล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เป็นตัวแทนกล่าวต้อนรับ

ดร.อมรเทพ พลศึก นักนิติวิทยาศาสตร์ชำนาญการ กลุ่มบริหารจัดการฐานข้อมูลบุคคลสูญหายและศพนิรนาม กล่าวว่า การป้องกันโรคอัลไซเมอร์ สามารถทำได้หลายวิธี โดยเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและดูแลสุขภาพให้แข็งแรงทั้งร่างกาย และจิตใจ พร้อมสร้างการรับรู้ในกิจกรรมเก็บก่อนหาย ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เล็งเห็นความสำคัญในเชิงการป้องกัน ซึ่งกลุ่มเสี่ยงต่อการสูญหายออกจากบ้าน คือ ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ในเขตเมือง ผู้มีภาวะสมองเสื่อม หรือ มีความเสี่ยงโรคสมองเสื่อมทุกช่วงวัย ผู้ที่มีอาการจิตเวชทุกช่วงวัย สำหรับการจัดทำฐานข้อมูลทางนิติวิทยาศาสตร์ใช้เป็นฐานข้อมูลตั้งต้นในการพิสูจน์บุคคล หากอนาคตกลุ่มเสี่ยงเกิดการสูญหาย สามารถแจ้งกลับมายังสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อให้สถาบันฯ นำข้อมูลและภาพ ที่เก็บไว้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในการติดตามคนหายผ่านทางช่องทางต่าง ๆ ต่อไป

ขณะที่นางสาวปาณิศา เขื่อนแก้วภากูล ผู้สื่อข่าวอาวุโสรายการสถานีประชาชน ในฐานะหัวหน้าศูนย์คนหายไทยพีบีเอส กล่าวว่า โครงการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มการเข้าถึงข้อมูล แจ้งเบาะแสข้อมูลคนหาย บุคคลนิรนาม คนไร้บ้าน รวมถึงการให้ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับอัตลักษณ์บุคคลในการพิสูจน์บุคคล และการป้องกันคนหายเชิงรุกกับกิจกรรมเก็บก่อนหายในกลุ่มผู้สูงอายุที่เสี่ยงหายเพราะป่วยอัลไซเมอร์ รวมถึงการเฝ้าระวังผู้สูงอายุพลัดหลง เพื่อให้คนหายได้กลับคืนสู่ครอบครัวได้มากที่สุด
“ไทยพีบีเอส ในฐานะสื่อสาธารณะ ทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูล สร้างการรับรู้ และสร้างความร่วมมือ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการค้นหาและช่วยเหลือผู้ที่สูญหายได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และที่สำคัญการให้กำลังใจและสร้างความหวัง การนำเสนอเรื่องราวของผู้ที่เคยหายตัวไปและได้รับการช่วยเหลือ จะช่วยสร้างกำลังใจและสร้างความหวังให้กับญาติและผู้ที่กำลังตามหาผู้สูญหาย”นางสาวปาณิศา กล่าว
นอกจากนี้ ศูนย์สื่อสารและส่งเสริมการตลาดเพื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส ยังได้เข้าร่วมจัดกิจกรรม “ไทยพีบีเอส รู้ใจวัยเก๋า” เล่นเกมฝึกสมอง สร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุให้เข้าถึงสื่อที่มีประโยชน์ และปลอดภัย ซึ่งได้รับความสนใจจากพี่ ๆ ในชุมชม และอสม. ที่มาร่วมงานเป็นอย่างมาก

สำหรับกิจกรรมขยายเครือข่ายระดับชุมชน ยกระดับศูนย์คนหายไทยพีบีเอส จะมีการจัดอย่างต่อเนื่อง ตลอดทั้งปี สัญจรไปยังพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่สำนักงานเขตมีนบุรีในวันที่ 25 ก.ค. 2568 นี้ และสามารถติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรมที่น่าสนใจผ่านทาง "รายการสถานีประชาชน" ได้ทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 14.05 - 15.00 น. ทางไทยพีบีเอส หมายเลข 3 หรือติดตามชมย้อนหลังได้ที่ www.thaipbs.or.th/People
ไม่พลาดทุกข่าวสาร สาระความรู้ และคอนเทนต์คุณภาพ ติดตามไทยพีบีเอสทุกช่องทางออนไลน์ ได้ที่
▪ Website : www.thaipbs.or.th
▪ Application : Thai PBS
▪ Social Media Thai PBS : Facebook, YouTube, X , LINE, TikTok, Instagram, Threads, Linkedin