ไทยพีบีเอส มุ่งชูเอกลักษณ์มรดกโลก พาสัมผัสวัฒนธรรมโนราต่อเนื่องตลอด 3 วัน ณ วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว จังหวัดพัทลุง

ร่วมสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมนาฏลีลาภาคใต้อย่าง “โนรา” ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ผ่านการจัดงาน “โนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน” ซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติหลังจากที่ยูเนสโกประกาศให้ “โนรา” ศิลปะท้องถิ่นใต้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ หรือมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ เมื่อธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา

 

การจัดงานโนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดินในปี 2566 นี้ จึงเป็นการเปิดประตู “สู่ถิ่นตำนานครูต้นโนรา” ในการสานต่อ ผลักดัน สร้างการรับรู้ และเผยแพร่ให้เหมาะสมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป แต่ยังคงเสน่ห์ทางวัฒนธรรมของโนราในแบบฉบับดั้งเดิมที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

ไทยพีบีเอส มุ่งตอกย้ำในฐานะการเป็นสื่อสาธารณะเพื่อประชาชน รวมพลังโนรา โชว์ภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน โดยมีศูนย์สื่อศิลปวัฒนธรรม ไทยพีบีเอส กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดพัทลุง รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง ร่วมเป็นสะพาน “เชื่อมความรู้ ปลุกความภูมิใจ” ให้ชุมชน

ศูนย์สื่อศิลปวัฒนธรรม ไทยพีบีเอส กับบทบาทการเป็นสื่อสาธารณะตระหนักถึงการร่วมเฉลิมฉลองอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างกระแสการ “รับรู้อย่างเข้าใจ” ให้ผู้คนในพื้นที่ตลอดถึงคนไทยทุกคนร่วมกันส่งเสริม ผลักดันอย่างถูกทิศทางก่อนโนราจะก้าวสู่เส้นทางการเป็น “Soft Power” เหมือนหลายหน่วยงานตั้งใจ

 

นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า โครงการเฉลิมฉลองโนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมร่วมทำงานกับสื่อมวลชนถือเป็นบทบาทหน้าที่หลักในการรักษาอัตลักษณ์ของศิลปะพื้นบ้านโนราให้ดำรงอยู่ รวมถึงเผยแพร่เรื่องราวโนราสู่วงกว้างโดยยังดำรงคุณค่าดั่งเดิมของโนราไว้ เพื่อนำไปสู่การสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้ชาวโนราและผู้เกี่ยวข้อง กระทรวงวัฒนธรรมจึงแสวงหาความร่วมมือเพื่อผลักดันให้เห็นเป็นรูปธรรม เพราะในปีที่ 6 ประเทศไทย ต้องส่งรายงานให้ยูเนสโกได้รับรู้ถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่ได้ส่งเสริม พัฒนา สืบทอด หลังจากที่ยูเนสโกประกาศให้ ศิลปะการแสดงพื้นบ้านโนราเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ

รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) กล่าวถึงบทบาทของไทยพีบีเอสว่า เราตั้งใจจะเป็น “สะพานเชื่อมความรู้” ความภูมิใจในพื้นที่ไปสู่สังคมในวงกว้างให้มากขึ้น แล้วดึงเอาการสนับสนุนจากภาคส่วนอื่น ๆ เข้ามามีส่วนร่วม มากไปกว่านั้นก็คือช่วยในการขับเคลื่อนให้ความภาคภูมิใจของชาวบ้านหรือพื้นที่ กลายเป็นความภาคภูมิใจของทั้งประเทศ นี่คือ หน้าที่ของสื่อสาธารณะในการหลอมรวมวัฒนธรรมที่แตกต่างของชาติด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย สำหรับปีนี้ “โนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน” นำเสนอมิติแห่งภูมิปัญญาของโนราที่มีรายละเอียดลึกซึ้งกว่าเดิม เช่น กิจกรรมโนราประชันโรงที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน

 

โนราเดชา วาทศิลป์ โนราชาวพัทลุง เล่าว่า ครั้งนี้ถือเป็นการรื้อฟื้นประชันโนราในแนวทางโบราณให้ได้ชมกันอีกครั้ง เกือบ 100 ปีแล้วที่ไม่มีใครได้ชมโนราประชันโรงในแบบดั่งเดิมกัน ที่เห็น ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นแนวประยุกต์ทั้งสิ้น รวมถึงการรำโนราบนโรงดินที่ไม่ยกพื้นเวที รำบนลานดิน คนดูนั่งดูเสมอนักแสดง และโรงโนราหันหน้าเข้าหากัน เพื่อให้โนราที่ประชันตอบโต้กลอนกันได้ หากอีกคณะหนึ่งรำเก่งกว่า คณะที่ประชันด้วยต้องรีบแก้แนวทางการแสดงทันที โดยแต่เดิมนั้นจะใช้เวลาประชันกัน 1 คืน 1 วัน แต่งานโนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน ที่วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว จัดประชันโรงแค่ 3 ชั่วโมงในรูปแบบย่อ แต่มีรูปแบบครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นท่ารำ การโต้กลอนสด การทำบท การเฆี่ยนพราย เหยียบลูกมะนาว รำเพลงปี่ ขอเทริด โต้พราน ซึ่งเป็นมนต์ขลังของโนราประชันโรง

 

 

สามารถติดตามเรื่องราวด้านศิลปวัฒนธรรมได้ที่ Facebook ไทยบันเทิง Thai PBS รวมทั้งช่องทางออนไลน์ได้ที่ Facebook @VIPAdotMe และ YouTube @VIPAdotMe, www.VIPA.me และ VIPA Application ทั้ง iOS และ Android รวมถึงติดตามทุกผลงานได้ทาง ไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3 และทางออนไลน์


◾️Website www.thaipbs.or.th
◾️Facebook @ThaiPBS
◾️YouTube @ThaiPBS
◾️Twitter @ThaiPBS
◾️LINE @ThaiPBS
◾️TikTok @ThaiPBS

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวประชาสัมพันธ์

บทสัมภาษณ์ผู้บริหาร

ข่าวกิจกรรม

กลับขึ้นด้านบน