15 ปี Thai PBS คุณค่าที่ยึดโยงกับประชาชน พร้อมยกระดับ Digital First สู่องค์กรสื่อแห่งอนาคต

ครบรอบ 15 ปีไทยพีบีเอส ในฐานะสื่อสาธารณะที่ยืนหยัดเคียงข้างประชาชน ผู้อำนวยการ ส.ส.ท.ประกาศพร้อมยกระดับ Digital First ขับเคลื่อนองค์กรสื่อแห่งอนาคต ชูความเชื่อมโยงการทำงานเป็นหนึ่งเดียวด้วย One Thai PBS เพื่อให้รูปแบบและเนื้อหาเข้าถึงประชาชนได้ตรงตามความสนใจ พร้อมประกาศภายใน 1 ปีนำการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาแบบ IP Management เคียงข้างการมีส่วนร่วมของภาคพลเมือง ด้วย C-Site Application และคำนึงถึงมิติเพศสภาพที่หลากหลายในองค์กร และเดินตามเป้าหมายลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ ส.ส.ท. เปิดเผยในโอกาสครบรอบ 15 ปี การก่อตั้งไทยพีบีเอสในฐานะองค์กรสื่อสาธารณะที่ไม่แสวงหาผลกำไรแห่งแรกของประเทศไทย โดยระบุว่า ไทยพีบีเอสได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2551 ตลอดการเดินทางบนเส้นทางระยะเวลา 15 ปี แม้จะมีอายุยังไม่มากเมื่อเทียบกับสื่อสาธารณะเก่าแก่อย่าง BBC ที่ครบ 100 ปีไปเมื่อปีที่ผ่านมา หรือ NHK ที่มีอายุ 97 ปีแล้ว โดย 15 ปีของไทยพีบีเอสนับว่าเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงกลไกความเข้มแข็งและตื่นรู้ของภาคพลเมืองนั้นได้เกิดขึ้นและเติบโตในสังคมไทยอย่างมีคุณค่า

 

ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ยังกล่าวอีกว่า ไทยพีบีเอสได้จุดประกายให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมมากมาย ทั้งในด้านสังคม-เศรษฐกิจ-วัฒนธรรม และประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม และได้มีส่วนสร้างมาตรฐานใหม่ให้แก่วิชาชีพสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะ 5 ปีที่ผ่านมานี้ ไทยพีบีเอสให้ความสำคัญในการก้าวทันเทคโนโลยี เพื่อเป็นหลักประกันให้สังคมว่า จะยังคงมีสื่อที่เชื่อถือและวางใจได้ ในการร่วมนำพาประชาชนฝ่าวิกฤติการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ Digital First เชื่อมโยงองค์กรให้ทุกส่วนงานเป็นหนึ่งเดียวกัน

ด้วยการพัฒนาระบบการทำงาน ทั้งการออกแบบและพัฒนาเนื้อหาแบบวัฒนธรรมไทย (Very Thai Project) พร้อมให้การทำงานในองค์กรเชื่อมต่อกันเป็น One Thai PBS นำเสนอเนื้อหาตามความสนใจของผู้ชมผู้ฟัง (Personalized Content) เพื่อรองรับการใช้งานที่ง่าย สะดวก และเพิ่มความรู้สึกผูกพัน

“เราจะเดินหน้าทุ่มเท จริงจัง กับการเป็น Trusted Media โดยมีเป้าหมายภายในหนึ่งปีจากนี้ ที่จะต้องได้ใช้กลไก Fact Checking ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานของ IFCN (International Fact Checking Network) และสามารถนำระบบการบริหารสื่อแบบ Intellectual Property Management (IP) หรือการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา โดยเปลี่ยนวิธีบริหารสื่อจากที่เคยผลิตตามงบประมาณที่ได้รับจัดสรร มาเป็นการผลิตโดยมีแผนบริหารจัดการ IP"

"อีกทั้งเราจะยกระดับมาตรฐานการมีส่วนร่วมของภาคพลเมือง ด้วย C-Site Application คำนึงถึงการนับรวม (Inclusiveness) ในการทำงานที่คำนึงถึงมิติเพศสภาพและสมรรถภาพทางกาย โดยจะเพิ่มสัดส่วนของบุคลากรเพศทางเลือก LGBTQ และคนพิการ เพิ่มขึ้น 4% - 8% ของจำนวนบุคลากรทั้งหมดภายใน 7 ปี และจะผลักดันให้เป็นองค์กรสื่อที่มีส่วนร่วมขับเคลื่อนประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย โดยกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2573” รศ. ดร.วิลาสินี ระบุ

ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ยังกล่าวย้ำว่า ในฐานะตัวแทนทีมบริหารและพนักงานทุกคนของไทยพีบีเอส ขอยืนยันว่า

เราพร้อมที่จะร่วมกันส่งต่อศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจที่ทุกคนได้สร้างไทยพีบีเอสมาจนครบ 15 ปีนี้ ให้ไปสู่ปีต่อ ๆ ไปในฐานะสื่อสาธารณะแห่งยุค Digital First เพื่อให้สังคมมั่นใจว่า จะยังคงมีสื่อที่เชื่อถือและวางใจได้ ในการร่วมนำพาประชาชนฝ่าวิกฤติการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้ต่อไป

ในโอกาสนี้ สามารถรับชมคลิปสัมภาษณ์ รศ. ดร.วิลาสินี ในโอกาสครบรอบ 15 ปีไทยพีบีเอส ได้ทาง www.thaipbs.or.th/15thAnniversary และยังติดตามข่าวสารและประเด็นที่น่าสนใจได้ทุกช่องทางของ Thai PBS Website : www.thaipbs.or.th Facebook : ThaiPBS YouTube : @ThaiPBS และ LINE : Thai PBS

เกี่ยวกับไทยพีบีเอส

องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai Public Broadcasting Service) หรือ ส.ส.ท. ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2551 เป็นองค์กรสื่อสาธารณะที่ไม่แสวงหาผลกำไรแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อดำเนินการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ที่สนับสนุนการพัฒนาสังคม ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไทยที่มีความเที่ยงตรง เป็นธรรม สมดุล และซื่อตรงต่อจรรยาบรรณ มีคณะกรรมการนโยบายที่ผ่านการสรรหาโดยกระบวนการที่เป็นอิสระและโปร่งใส เป็นผู้กำหนดนโยบาย และควบคุมการดำเนินงานของผู้อำนวยการและคณะกรรมการบริหารองค์การฯ มีการทำงานร่วมกับผู้ผลิตอิสระ นักข่าวพลเมืองทั่วประเทศ

ขับเคลื่อนโดยมีเป้าหมายสู่การเป็นสื่อสาธารณะระดับภูมิภาค อีกทั้งยังมีสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการซึ่งมีสมาชิกจำนวน 50 คน จากตัวแทนของประชาชนในภูมิภาคและกลุ่มต่าง ๆ ที่หลากหลายเพื่อรับฟังความคิดเห็นและคำแนะนำจากประชาชนในวงกว้าง ต่อการผลิตรายการขององค์การ มีการทำงานร่วมกับผู้ผลิตอิสระ นักข่าวพลเมืองทั่วประเทศ ขับเคลื่อนโดยมีเป้าหมายสู่การเป็นสื่อสาธารณะระดับภูมิภาค อีกทั้งยังมีสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการซึ่งมีสมาชิกจำนวน 50 คน จากตัวแทนของประชาชนในภูมิภาคและกลุ่มต่าง ๆ ที่หลากหลายเพื่อรับฟังความคิดเห็นและคำแนะนำจากประชาชนในวงกว้าง ต่อการผลิตรายการขององค์การ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวประชาสัมพันธ์

บทสัมภาษณ์ผู้บริหาร

ข่าวกิจกรรม

กลับขึ้นด้านบน