ไทยพีบีเอส เข้ารายงานผลการปฏิบัติงานของ ส.ส.ท. ประจำปี 2563 ต่อที่ประชุมวุฒิสภา

วันที่ 8 กันยายน 2565 องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส เข้ารายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2563 ต่อที่ประชุมวุฒิสภา โดยมีผู้เข้าร่วมรายงาน 4 ท่าน ได้แก่ รศ. ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. นายอนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ด้านปฏิบัติการและเทคโนโลยี นายเจษฎา อนุจารี กรรมการบริหารอื่น

รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. นำเสนอรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2563 ต่อที่สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นการรายงานผลตามวัตถุประสงค์มาตรา 7 และมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.ส.ส.ท. โดยเป็นการรายงานผลประจำปี 2563 เชื่อมโยงบางประเด็นสู่รายงานผลประจำปี 2564 และขอกล่าวในนามผู้แทนของพนักงาน ส.ส.ท. และภาคีเครือข่ายสื่อสาธารณะทั่วประเทศ

พวกเราเชื่อมั่นว่าในยามที่สังคมไทยเผชิญวิกฤติอย่างต่อเนื่องนี้ ส.ส.ท. ยิ่งเป็นที่ต้องการของสังคมมากขึ้น เพราะด้วยการดำเนินงานที่ปราศจากอิทธิพลทางการเมืองและผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ ทำให้ส.ส.ท. พร้อมทำหน้าที่สื่อในภาวะวิกฤติของชาติ คือการเตรียมพร้อมคนในสังคมไทยให้มองเห็นความเป็นไปได้ในทุกความท้าทาย โดยเฉพาะการปรับตัวเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่หลังวิกฤติโควิด-19 และการประคับประคองคนที่กำลังอ่อนแรงลง

มีการนำเสนอเป็น 2 ภารกิจหลัก คือ การให้บริการข่าวสารและสาระเพื่อการเข้าถึงของประชาชนที่หลากหลาย และการดำเนินงานที่สะท้อนคุณค่าหลักการของสื่อ

ภารกิจที่หนึ่ง

การให้บริการข่าวสารและสาระเพื่อการเข้าถึงของประชาชนที่หลากหลาย ไทยพีบีเอสบริการข่าวสารผ่านสื่อทุกช่องทางเพื่อการเข้าถึงทุกที่ทุกเวลา พัฒนาบริการและเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้เข้าถึงประชาชนตามความสนใจที่หลากหลาย และให้ทันกับภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ทั้งช่องทางโทรทัศน์ สื่อเสียง สื่อออนไลน์ สื่อ On Demand และบริการสำหรับผู้มีความบกพร่องทางการได้ยินและการมองเห็น โดยมีผลสำรวจสัดส่วนของกลุ่มผู้ชมที่เข้าถึงบริการแต่ละประเภท สรุปได้ว่าดิจิทัลทีวีช่องไทยพีบีเอส 3HD มีผู้ชมกลุ่มวัย 45 ปีขึ้นไปรับชมมากที่สุด ส่วนดิจิทัลทีวีช่องใหม่ ALTV 4 SD มีผู้ชมกลุ่มเด็ก 4 – 14 ปี และThai PBS World มีผู้รับชมกลุ่มอายุ 25 – 44 โดย C-Site Application เข้าถึงกลุ่ม 18 – 34 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักสื่อสารภาคพลเมือง จากผลสำรวจแสดงให้เห็นถึงการให้มีบริการที่เหมาะสมและหลากหลายเพื่อรองรับความต้องการของประชาชนกลุ่มวัยและกลุ่มความสนใจต่าง ๆ กัน อีกทั้งได้จัดกลุ่มสื่อออนไลน์ทั้งหมดไว้บน www.ThaiPBS.or.th ให้เป็น Web portal ที่สามารถเชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ย่อย

สำหรับดิจิทัลทีวีช่องไทยพีบีเอส 3HD เป็นสถานีหลักที่มีสัดส่วนข่าวร้อยละ 58 สารประโยชน์และสาระบันเทิงร้อยละ 42 โดยมีรายการข่าวเป็นกลุ่มที่มียอดผู้ชมเฉลี่ย 221,000 คนต่อนาที โดยเฉพาะข่าวโควิด-19 มียอดผู้ชมในเดือนเมษายน 2563 สูงถึง 640,000 คนต่อนาที และเดือนพฤษภาคม 2563 มี 343,000 คนต่อนาที ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นที่พึ่งด้านข่าวสารในภาวะที่ประชาชนต้องการ สอดคล้องกับผลการสำรวจในปี 2563 - 2564 ของศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ ที่พบว่ามากกว่า 2 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่าง 2,600 ราย เลือกให้ไทยพีบีเอสเป็นสื่อลำดับที่ 1 ในการติดตามสถานการณ์โควิด-19

จากจุดแข็งของไทยพีบีเอส ในการเป็นสื่อสร้างการเรียนรู้ และในช่วงสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ที่มีเด็กจำนวนมากสุ่มเสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษา จึงให้บริการช่องทีวีดิจิทัล ALTV 4 SD เพื่อนำเสนอเนื้อหาเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน ซึ่งทดลองออกอากาศตั้งแต่กลางปี 2563 และเมื่อมิถุนายนปีนี้ ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ระบบดิจิทัลบริการสาธารณะประเภทที่ 1 เพื่อส่งเสริมความรู้ การศึกษาของเด็กและเยาวชนเป็นเวลา 7 ปี ซึ่งผลสำรวจการรับชมปี 2563 - 2564 พบว่าร้อยละ 80 ของกลุ่มตัวอย่างประมาณ 4,000 คน ติดตามรับชมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 2 วันต่อสัปดาห์ขึ้นไป โดยเห็นว่าจุดเด่นของ ALTV คือ ช่วยกระตุ้นความสนใจเรียนรู้ของเด็ก ช่วยครูสร้างนวัตกรรมการเรียนการสอน และช่วยผู้ปกครองในการส่งเสริมค่านิยมที่ดีและความรับผิดชอบของเด็ก ในแง่ความคุ้มค่าเมื่อพิจารณาในมิติของ Market Failure คือ การลงทุนใน ALTV ทั้งช่องทีวีและออนไลน์ คิดเป็น 45 บาทต่อคนต่อปีสำหรับรองรับการเข้าถึงของนักเรียน 7.32 ล้านคน และที่สำคัญ คือ การรองรับนักเรียนยากจนและเด็กนอกระบบการศึกษา 1.81 ล้านคน และการลดช่องว่างด้านการตลาดเพราะทำให้สัดส่วนของเนื้อหาการเรียนรู้สำหรับเด็กในอุตสาหกรรมสื่อทีวีเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 59.75

ด้วยความตระหนักว่าสื่อสาธารณะต้องให้บริการทั่วถึง ทำให้ไทยพีบีเอสมุ่งพัฒนาช่องทางและใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้สื่อของคนหลากหลายกลุ่ม เช่น ให้บริการ On Demand ในชื่อ “VIPA” ที่คัดสรรเนื้อหาคุณภาพมานำเสนอ มีจำนวนสมาชิกที่เข้าชมผ่าน Mobile Application และ Website ที่เติบโตจากช่วงทดลองเผยแพร่เมื่อปี 2563 เกินกว่าร้อยละ 100 คือ มีผู้เข้าชมกว่า 10 ล้านครั้ง มีสมาชิก 96,000 ราย นอกจากนี้ช่องทางสื่อออนไลน์ Social Media ต่าง ๆ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2563 มียอดเข้าชมรวมกัน 1.6 พันล้านครั้ง และ 2.1 พันล้านครั้งในปี 2564 โดยเข้าชมเนื้อหาที่เป็นข่าว คลิปสารคดีสั้น และ Realtime Content มีการผลิตชุดข้อมูลแบบ Data Visual ที่นำข้อมูลจำนวนมากบอกเล่าแบบ Multimedia เช่น ในเรื่องการพัฒนาเมืองแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การปรับตัวในยุคโควิด-19 และข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อลดผลกระทบด้านปากท้อง การศึกษา คนจนเมือง ที่ได้รับการนำไปอ้างอิงอย่างกว้างขวาง

นอกจากนี้ ได้พัฒนาพื้นที่ออนไลน์ให้นักสื่อสารภาคพลเมืองได้ร่วมแบ่งปันเรื่องราวร่วมแก้โจทย์ปากท้อง ด้วยการดึงพลังร่วมของคนรุ่นใหม่ไปเพิ่มพลังให้ท้องถิ่น ผ่าน C-Site Application เช่น โครงการชุมชนสู้โควิดที่ทำในปี 2563 มีสมาชิกในชุมชนออนไลน์ประมาณ 8,000 คน นอกจากนี้มีการพัฒนาสื่อเสียงในรูปแบบ Podcast ให้สอดรับกับพฤติกรรมของยุคสมัยที่นิยมฟังตามเวลาสะดวก มีการเข้าฟังผ่าน Website ประมาณ 1 ล้านครั้ง มีสมาชิก 38,000 ราย และมีเครือข่ายพันธมิตรที่เป็นสถานีวิทยุการศึกษา วิทยุต่างจังหวัด 214 แห่ง เลือกถ่ายทอดรับสัญญาณรายการไปสู่ผู้ฟังภูมิภาคทั่วประเทศ จุดเด่นอีกเรื่องหนึ่ง คือ การผลิตบริการสำหรับคนพิการในระบบ AD และ CC ในสัดส่วน 6.3 ชั่วโมงต่อวันในปี 2563 และ 9 ชั่วโมงต่อวันในปี 2564 และล่ามภาษามือที่ดูได้จากหน้าจอโทรศัพท์ การแปลเป็นภาษาเมียนมาร์ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และ Text To Speech หรือบริการอ่านข่าวให้ฟังโดยใช้เทคโนโลยี AI และการผลิตสื่อเสียงร่วมกับสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย รวมถึงการดูแลโครงข่ายทีวีดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพที่สุด เพื่อเข้าถึงทุกครัวเรือน

ภารกิจที่สอง

การดำเนินงานที่สะท้อนคุณค่าหลักการของสื่อ การดำเนินงานที่สะท้อนคุณค่าตามหลักการสื่อสาธารณะ กรณีบทบาทในสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ ได้ประเมินความคุ้มค่าและผลตอบแทนทางสังคมจากบทบาทของไทยพีบีเอส พบว่าเฉลี่ยทุกเกณฑ์อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องรอบด้าน และเป็นตัวกลางผสานความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่ส่งผลต่อการกำหนดมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ของภาครัฐ โดยได้รับความพึงพอใจเฉลี่ยที่ 8.79 จาก 10 และจากการประเมินความคุ้มค่าในทางเศรษฐศาสตร์ซึ่งเป็นข้อมูลของปี 2564 มีมูลค่าของผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นเท่ากับ 11.13 เท่า ของมูลค่าเงินลงทุนในการทำผังรายการพิเศษและศูนย์ประสานฉุกเฉินที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563

ในการเป็นที่พึ่งด้านข้อมูลข่าวสารนั้น ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ ได้สำรวจความพึงพอใจจากประชาชนในปี 2563 พบว่าสูงสุดในด้านการรายงานข่าวที่มีความถูกต้อง รอบด้าน เคารพความเป็นมนุษย์ และมุ่งหาทางออกให้สังคม และในปี 2564 ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ ได้ชี้ว่ามีประสิทธิผลสูงในการเป็นหลักสำคัญด้านวารสารศาสตร์ภายใต้กระแส “Disinformation/ข้อมูลบิดเบือน” โดยมีค่าคะแนนที่ 3.5 จาก 5 รวมถึงการได้รับรางวัลเป็นที่ยอมรับในวงการวิชาชีพสื่อ 28 รางวัลในปี 2563 และ 27 รางวัลในปี 2564 อาทิ รายการข่าวยอดเยี่ยม “ข่าวค่ำมิติใหม่” สกู๊ปข่าวยอดเยี่ยม “เมืองเหมือง ชะตาชุมชน ชะตาประเทศไทย” “ทวงคืนสมบัติชาติจากอุ้งมือสหรัฐ” ละครยอดเยี่ยม “รียูเนี่ยน เรียนอยู่นี่” และ “Tea Box ชายชรากับหมาบ้า” และได้รับการจัดลำดับเป็นแบรนด์ที่น่าเชื่อถือด้านข่าวลำดับที่ 1 ของไทย 2 ปีซ้อน จากการสำรวจของสถาบันรอยเตอร์ที่รายงานผลในปี 2564 และ 2565 สารคดียอดเยี่ยม ชุด “คนจนเมือง” รางวัลนาฏราช ปี 2564

ในแง่การสร้างความแตกต่างด้วยงานผลิตสื่อสร้างสรรค์ที่มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมสังคมคุณภาพคุณธรรมสะท้อนได้จาก ผลงานละครที่โดดเด่นหลายเรื่อง เช่น “จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี” สารคดีด้านศิลปวัฒนธรรม ชุด “โนรา ภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน” ที่เผยแพร่ในต้นปี 2565 และสารคดีที่ผลิตและเผยแพร่ทั้งในปี 2563 และ2564 ที่ได้รับรางวัลคือ ชุด “จากรากสู่เรา” ที่เชื่อมโยงความเข้าใจเรื่องตัวตนของเรากับประวัติศาสตร์ของยุครัตนโกสินทร์ รวมถึงสารคดีหลายเรื่องที่เป็นการบันทึกเหตุการณ์ การพัฒนานวัตกรรมการรักษาและการเสนอฉากทัศน์ของประเทศจากวิกฤติโควิด-19 ของปี 2563 เช่น สารคดีเปิดเรื่องใหญ่ไทยสู้โควิด-19 สารคดีโลกหลังโควิด และสารคดีอีกหลายเรื่องที่เชิดชูบทบาทของจิตอาสาทั่วประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้จะกลายเป็นทรัพยากรความรู้ที่มีคุณค่าของประเทศต่อไป

ในด้านภารกิจเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผลิตรายการเด็กและครอบครัวอย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบ Multimedia ที่ต่อยอดการรับชมทางทีวี ไปสู่การดาวน์โหลดเนื้อหาบน Online และ On Sight เช่น การเรียน Coding สำหรับเด็กประถมศึกษา การเรียนรู้เพื่อสร้างความตระหนักด้านภัยพิบัติและสิ่งแวดล้อม โดยได้ทำความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นำสื่อของไทยพีบีเอสเข้าสู่โรงเรียนทั่วประเทศ ในด้านของบทบาทสื่อสารกับสากลนั้น ได้เพิ่มรายการคิดวิเคราะห์ผลกระทบจากทั่วโลกต่อไทย และมุมมองของไทยสู่ชาวโลกในรูปแบบสื่อภาษาอังกฤษ Thai PBS World ที่มียอดผู้ชมทางออนไลน์เติบโตต่อเนื่องพร้อมไปกับการถูกอ้างอิงจากสำนักข่าวต่างประเทศเพิ่มขึ้น

ในด้านของการบริหาร ไทยพีบีเอสได้ปรับปรุงพัฒนาองค์กรอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้องค์กรมีสมรรถภาพในการขับเคลื่อนงานด้วยความคุ้มค่า และเป็นองค์กรที่โปร่งใสตรวจสอบได้ โดยมีคะแนน ITA ปี 2564 และ 2565 ในระดับAA คือ 95.58 และ 97.24 ตามลำดับ ซึ่งขึ้นจาก 86.33 ในปี 2563 และมีแผนพัฒนาสู่การเป็นองค์กร Digital Driven อย่างต่อเนื่อง

แนวทางหลักของไทยพีบีเอส ที่กำหนดไว้ในแผนปี 2565 ต่อถึงปี 2655 คือ การนำศักยภาพของทั้งองค์กรมาทำวาระสำคัญคือ การสื่อสารเพื่อกระตุ้นและผลักดันให้เกิดการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การต่อยอดคุณค่าและทุนทางวัฒนธรรม Soft Power เพื่อสร้างโอกาสของไทย การสร้างเครือข่ายสื่อสาธารณะภูมิภาค และมุ่งนำสื่อสาธารณะแห่งนี้ไปเป็นที่ยอมรับในอาเซียน พร้อมกับการเป็นที่พึ่งด้านข่าวสารรายงานอย่างเที่ยงตรง สมดุล เป็นธรรม และการตรวจสอบทุจริตต่าง ๆ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ นี่คือการสรุปผลการดำเนินงาน บนความมุ่งมั่นของสื่อสาธารณะ ที่จะยึดโยงและอยู่เคียงข้างประชาชน

รายงานผลการปฏิบัติงานของ ส.ส.ท. ประจำปี 2563 ต่อที่ประชุมวุฒิสภา

รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท.

รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานกรรมการนโยบาย ส.ส.ท.

ผู้ร่วมอภิปรายโดยสมาชิกวุฒิสภา

  • นายนิพนธ์ นาคสมภพ ประธานคณะอนุกรรมาธิการ
  • นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา
  • นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา
  • นายเฉลา พวงมาลัย สมาชิกวุฒิสภา
  • นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา

รับชมการรายงานผลการปฏิบัติงานของ ส.ส.ท. ประจำปี 2563 ต่อที่ประชุมวุฒิสภา ได้ที่ www.thaipbs.or.th/Report2563YouTube

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวประชาสัมพันธ์

บทสัมภาษณ์ผู้บริหาร

ข่าวกิจกรรม

กลับขึ้นด้านบน