ไทยพีบีเอส และ อว. ลงนาม MOU เพื่อพัฒนาศักยภาพ เสริมทักษะการดำรงชีวิตให้กับประชาชน

วันที่ 4 สิงหาคม 2564 องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมลงนามความร่วมมือ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนเนื้อหาและถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคคล ให้เกิดการตระหนักรู้ ฝึกฝนทักษะอาชีพและการดำรงชีวิตให้กับประชาชน

โดยพิธีลงนามฯ ดังกล่าว ได้รับเกียรติจาก ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงฯ รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานกรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) และ รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

ประเด็นสำคัญของความร่วมมือระหว่าง ส.ส.ท. หรือ ไทยพีบีเอส และ อว. ที่วางแนวทางร่วมกันคือร่วมสนับสนุนการสื่อสารแนวความคิดระบบเศรษฐิกิจใหม่ BCG (BIO-CIRCULAR-GREEN) จากมิติทางการเกษตรและอาหาร พลังงานสุขภาพและการแพทย์ การท่องเที่ยวและบริการ ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสในการพัฒนาประเทศให้พ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง สื่อสารการขับเคลื่อนที่สำคัญประเด็น BCG ภายใต้การประชุม APEC ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในปี 2565 ผลักดันประเด็นความรู้ด้านสังคมศาสตร์ และการนำเอาเนื้อหาด้านเด็กจาก ALTV ช่อง 4 ทีวีเรียนสนุก มาสนับสนุนงานส่งเสริมวิทยาศาสตร์ของ อว.และผลักดันให้เครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏนำเนื้อหาจาก ALTV ไปใช้ในการเรียนการสอนของเด็ก รวมถึงนำสาระความรู้มิติต่าง ๆ มาสร้างสรรค์เนื้อหารายการ เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน

 

ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ กล่าวว่า “เป็นความน่ายินดีที่ความร่วมมือในครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ในระยะเวลาต่อจากนี้คือก้าวแรกของการทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง ซึ่ง อว. มีหน่วยงานในสังกัดและสถาบันอุดมศึกษามากมาย เป็นคลังความรู้และขุมทรัพย์ทางปัญญาของชาติ มีหน่วยงานด้านวิจัยและนวัตกรรม 16 แห่ง และมี อพวช. ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ดีที่สุดอันดับต้น ๆ ของเอเชีย เพียงแต่การเผยแพร่และประชาสัมพันธ์อาจยังไม่มากพอหรือยังเข้าไม่ถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างจริงจัง ซึ่งไทยพีบีเอสจะเข้ามาช่วยเสริมในจุดนี้ อว. ต้องการที่จะเผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยต่าง ๆ และความรู้ด้านประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ โลกคดีศึกษา คือสิ่งที่อยากให้อยู่คู่กับคนไทยต่อไป อยากให้มีการศึกษาค้นคว้าในเรื่องนี้ควบคู่ไปกับการผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยหวังว่าความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายจะทำให้ศักยภาพการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น กระจายสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง เป็นแหล่งขุมทรัพย์ทางปัญญา และนี่คือมิติใหม่แห่งการเรียนรู้นอกโรงเรียนอย่างแท้จริง”

 

ด้าน ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “อว. มีพันธกิจหลักในการผลิตบุคลากรการสร้างงานวิจัยและค้นคว้าในศาสตร์ทุก ๆ ด้าน มีหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยมากมายที่มีผลงานระดับชาติพร้อมเผยแพร่สู่สาธารณชน ตนได้เห็นว่าในอดีต อว. ได้มีการร่วมงานกับไทยพีบีเอสมาแล้ว อาทิ รายการเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ของ สวทช. รายการสารคดีต่าง ๆ ด้านงานวิจัยและนวัตกรรม อยากให้ในอนาคตมีการนำเสนองานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และโลกคดีศึกษามากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อว. มั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าด้วยความร่วมมือนี้จะสร้างแพลตฟอร์มใหม่ให้เกิดขึ้นสู่สาธารณชน เป็นช่องทางใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการสื่อสารประเด็นต่าง ๆ เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นหรือเป็นวาระแห่งชาติ เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 การใช้ชีวิตในยุค New Normal และเรื่องงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์บนพื้นฐานความเป็นไทยเพื่ออนุรักษ์และสืบสานต่อไป จะร่วมมือกันเป็นสื่อกลางแห่งการสื่อสารเรื่องราวดี ๆ ในอนาคต”

 

ทั้งนี้ รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. กล่าวถึงแนวทางความร่วมมือว่า “การร่วมมือระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กับไทยพีบีเอสในครั้งนี้ ความสำคัญไม่ใช่เพียงแค่การลงนามกัน แต่ต้องเกิดผลที่เป็นรูปธรรมจริง ๆ อว. และ ไทยพีบีเอส มีบทบาทหน้าที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งไทยพีบีเอสไม่ใช่เพียงสื่อโทรทัศน์เพียงอย่างเดียว แต่ไทยพีบีเอสยังเป็นโรงเรียนของสังคม ที่มีทั้งช่องโทรทัศน์ไทยพีบีเอส หมายเลข 3 และ ALTV หมายเลข 4 พร้อมด้วยแพลตฟอร์มที่หลากหลาย เราสามารถเชื่อมสัมพันธ์สนับสนุนซึ่งกันและกันได้ เพราะเป็นโรงเรียนและมหาวิทยาลัยของสังคมเหมือนกัน และทราบว่าขณะนี้ อว.ได้ให้ความสนใจและศึกษาในประเด็น BCG ซึ่งประเทศไทยมีความได้เปรียบเรื่องอาหาร การบริการด้านสุขภาพ การบริการด้านการท่องเที่ยว ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องพยายามผลักดันให้เกิดความได้เปรียบทางเศรษฐกิจใหม่ เพราะฉะนั้นความร่วมมือระหว่าง อว. และ ไทยพีบีเอส อาจทำให้ความฝันของประเทศไทยเป็นจริงได้มากขึ้น”

 

รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ให้ความเห็นว่า “ในนามของ ส.ส.ท. มีความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ไทยพีบีเอสได้รับโอกาสในการเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยกันเผยแพร่สาระความรู้ต่าง ๆ โดยเฉพาะที่อยู่บนฐานของระบบเศรษฐกิจใหม่ ฐานด้านวัฒนธรรม ด้านสังคมศาสตร์ ด้านมนุษยศาสตร์ และด้านศิลปกรรม ที่จะช่วยกันนำพาประเทศนี้ให้หลุดพ้นจากกับดักของความยากจนหรือการลดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น โดยเป็นเป้าหมายที่สอดคล้องกันกับไทยพีบีเอส นอกจากนั้น ไทยพีบีเอสพยายามเปิดแพลตฟอร์มหรือบริการใหม่ ๆ ให้ต่อเนื่อง เพื่อทำให้สื่อสาธารณะแห่งนี้สามารถเข้าถึงประชาชนที่มีความหลากหลายและกระจายตัวอยู่มากมายทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3 ที่เป็นสถานีหลักที่นำเสนอเนื้อหาให้กว้างขวาง ครอบคลุมทุกมิติ เราเปิดสถานีโทรทัศน์ ALTV หรือ Active Learning TV ทีวีเรียนสนุกขึ้น ตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยนอกจากจะตอบสนองการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ครู และครอบครัวในช่วงล็อกดาวน์แล้ว เราตั้งใจทำให้ ALTV เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ที่จะส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่สำคัญเราเห็นโอกาสในการที่จะทำให้ ALTV เป็นสื่อที่เชื่อมต่อความรู้ในท้องถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่นต่าง ๆ ที่จะช่วยพาให้เด็ก ๆ จากภูมิภาค ได้พัฒนาและเชื่อมต่อความรู้ในระดับบุคคลอีกด้วย

และนอกจากนี้ ไทยพีบีเอสยังมี On Demand คือช่อง VIPA ที่จะนำเสนอเนื้อหาตามความสนใจ ใหม่ ๆ ของกลุ่ม Young Audience ที่กระตุ้นความตื่นตัวใหม่ ๆ ของเด็กในเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วัฒนธรรม และที่สำคัญ VIPA จะอยู่บนฐานคิดของการเคารพความหลากหลายของคนต่างกลุ่ม เรายังมีพื้นที่ แพลตฟอร์มของกลุ่มภาคพลเมือง เช่น นักข่าวพลเมือง ที่นักศึกษาจากราชภัฏทั่วประเทศ สามารถเข้ามาฝึกฝนเป็นนักข่าวพลเมืองรายงานข่าวในท้องถิ่นได้มากยิ่งขึ้น ดังนั้น เราจึงมีเครื่องมือหรือแพลตฟอร์มรองรับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายตลอดเวลา ซึ่งความร่วมมือระหว่าง ไทยพีบีเอส และ อว. ครั้งนี้ จะนำไปสู่การส่งเสริมเนื้อหาการเรียนรู้ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม โดยใช้ ALTV เป็นฐานในการเผยแพร่ และจะทำให้เห็นโอกาสที่จะพัฒนาโครงการร่วมกับเครือข่ายราชภัฏที่อยู่ในสังกัดของ อว. มากขึ้น รวมถึงการสื่อสารผลักดันประเด็นความรู้ด้านสังคมศาสตร์ผ่าน 5 วิทยสถาน โดยทั้งหมดนี้จะเป็นความร่วมมือและโอกาสที่จะพัฒนางานร่วมกันมากขึ้น”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวประชาสัมพันธ์

บทสัมภาษณ์ผู้บริหาร

ข่าวกิจกรรม

กลับขึ้นด้านบน