ไทยพีบีเอส เปิดพื้นที่ ร่วมหาแนวทาง “ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ COVID-19 ด้วยเครือข่ายแรงงาน”

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ไทยพีบีเอส โดยสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดงานเสวนาออนไลน์ทาง YouTube Live และ Facebook Live Thai PBS จัดเต็ม 2 ชั่วโมง ในประเด็น “ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ COVID-19 ด้วยเครือข่ายแรงงาน” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการและนักสื่อสารหลายด้าน ร่วมเสวนาในครั้งนี้ อาทิ ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ ศูนย์แรงงานและการจัดการ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คุณนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ โฆษกและผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม, คุณวาสนา ลำดี เครือข่ายนักสื่อสารแรงงาน พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย, คุณมานิตย์ พรหมการีย์กุล ผู้นำสหภาพแรงงาน, รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการนโยบายและประธานคณะอนุกรรมการด้านเครือข่ายและการมีส่วนร่วม ไทยพีบีเอส และ ดร.โชคชัย สุทธาเวศ อนุกรรมการด้านเครือข่ายและการมีส่วนร่วม ไทยพีบีเอส ดำเนินรายการโดย คุณวิภาพร วัฒนวิทย์ สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส

โดยหัวใจสำคัญของการเสวนาในครั้งนี้ คือการแลกเปลี่ยนและร่วมกันหาแนวทางในการฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจและแรงงานในขณะนี้ ผ่านประเด็นต่างๆ เช่น สภาพปัญหาด้านแรงงานที่พบในปัจจุบัน ประเด็นด้านกฎหมายแรงงานระหว่างประเทศ การรวมกลุ่มกันของสหภาพแรงงานหรือเครือข่ายแรงงาน การดำเนินการสนับสนุนจากสำนักงานประกันสังคม โดยไทยพีบีเอสเปิดพื้นที่เป็นสื่อกลางการหารือแนวทางแก้วิกฤตในครั้งนี้

ด้าน รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส กล่าวในช่วงการเปิดเสวนาว่า “เครือข่ายหรือกลุ่มแรงงาน เป็นกลุ่มที่สำคัญมาก เพราะการมีสื่อสาธารณะต้องทำงานร่วมกับเครือข่ายในทุกประเด็น โดยในกลุ่มแรงงานก็มีความหลากหลายและมีความซับซ้อน การทำงานของไทยพีบีเอสมีความคล่องตัวในการยกระดับงานสื่อสารได้ตลอดเวลา เนื่องจากไม่ต้องติดเงื่อนไขเรื่องสปอนเซอร์ เชื่อมั่นว่าในทุกวิกฤตของประเทศจะมีไทยพีบีเอสอยู่ด้วยเสมอ ไทยพีบีเอสช่วยกันทุกองคาพยพ มีรายการพิเศษเฉพาะกิจต่าง ๆ รวมทั้งช่อง ALTV ที่มุ่งไปที่การศึกษาของเด็กนักเรียน รายการพิเศษมุ่งหวังให้ทุกคนมาคิดร่วมกัน ว่าจะต้อง Reskill - Upskill กันอย่างไร

นับตั้งแต่มีการระบาดของ COVID-19 ไทยพีบีเอสให้ความสำคัญมาโดยตลอด ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา ไทยพีบีเอสจัดรายการพิเศษทุกวัน วันละ 2 ชั่วโมง ทั้งให้ความรู้ผ่านการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ เปิดสายรับช่วยเหลือผู้เดือดร้อนหรือต้องการหาเตียง รวมถึงการมีมูลนิธิไทยพีบีเอสที่ลงชุมชนไปมอบของ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชุมชน เหตุผลสำคัญ คือ เห็นช่องว่างของการช่วยเหลือภาครัฐ จึงมุ่งให้ความสำคัญไปที่ชุมชนเมือง ในปัจจุบันสถานการณ์ยกระดับ ไปสู่เรื่อง Home Isolation

ในการดำเนินงานอีกมิติหนึ่ง คือการเปิดประเด็นโดยศูนย์สื่อสารวาระทางสังคม ที่สังคมอาจจะยังมองไม่เห็น เช่น คนจนเมือง รวมทั้งการทำข้อมูลที่เป็น Data Visualization หรือ Visual note พยายามปรับให้สามารถเข้าถึงคนทุกภาคส่วนได้มากขึ้น ยกตัวอย่าง การทำประเด็นทางสังคมคลองเตยโมเดล มีความพยายามจะเปิดประเด็นเรื่องคนจนเมืองมากขึ้น ในการทำงานเวทีสาธารณะต่าง ๆ จะไม่จบแค่เวทีสาธารณะ เวทีนี้ก็เช่นเดียวกัน การทำเวทีสาธารณะต่าง ๆ ไทยพีบีเอสมุ่งหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับสนับสนุนสังคม

ล่าสุด ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคม มีความพยายามจับคู่ ชุมชนกับหน่วยงานหรือโรงพยาบาลและภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม ซึ่งคาดหวังว่าจะได้ข้อแนะนำจากนักวิชาการในการเสวนาวันนี้เพิ่มเติม นอกจากนั้น ขณะนี้ไทยพีบีเอสยังจัดตั้งเป็นศูนย์ฉีดวัคซีน ถึงแม้ว่าจำนวนวัคซีนที่ได้รับจัดสรรมีจำกัด แต่ได้มีการวางหลักเกณฑ์ชัดเจนแล้ว ได้กำหนดโควตาการฉีดวัคซีนให้กลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะอีกด้วย”

ความสำคัญของการหารือ “ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ COVID-19 ด้วยเครือข่ายแรงงาน”

ด้าน รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการนโยบายและประธานคณะอนุกรรมการด้านเครือข่ายและการมีส่วนร่วม ไทยพีบีเอส กล่าวว่า “ไทยพีบีเอสเป็นสื่อการเรียนรู้ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เป็นพื้นที่กลางสำหรับหารือหาทางออกในการฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกัน วิกฤตแรงงานครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ในวิกฤติเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องมาจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 รายการไทยพีบีเอส นำเสนอทั้งข่าว สารคดี รายการ รวมทั้ง ได้มีการนำเสนอแนวทางออกอื่น ๆ เกี่ยวกับประเด็นแรงงาน นอกจากนั้น ยังมีการรณรงค์ให้เกิดการตระหนักรู้และเกิดประชาธิปไตยในสถานประกอบการ รวมทั้งความปลอดภัยด้านชีวะอนามัย ในขณะที่ต้องตระหนักถึงเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก มีความจำเป็นต้อง Reskill-Upskill ให้กับแรงงานในช่องทางต่าง ๆ เช่น การมีช่องทาง ALTV ที่จะช่วยเพิ่มช่องทางการเรียนรู้ตามอัธยาศัยของทุกช่วงวัยได้อีกทางหนึ่ง โดยมุ่งหวังให้เกิดตลาดแรงงานที่เป็นธรรม แรงงานมีความรู้เรื่องสิทธิ สวัสดิภาพอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์”

สภาพปัญหาด้านแรงงงานที่พบในปัจจุบัน

คุณวาสนา ลำดี ตั้งคำถามเบื้องต้นว่า สภาพปัญหาระดับนี้จะฝ่าฟันไปได้อย่างไร ? ประกันสังคมจะช่วยเหลืออย่างไร ? แรงงานที่ป่วยไม่มีเตียงรออยู่บ้าน ทำให้แพร่กระจายไปยังคนในครอบครัวจะทำอย่างไร ? เน้นปัญหาของแรงงานข้ามชาติหรือแรงงานนอกระบบ ที่มีปัญหาเยอะมากและหนักมาก รับรู้ได้ถึงความเจ็บปวดในหัวใจของคนกลุ่มนี้ ทั้งเรื่องความปลอดภัย เรื่องวัคซีน และสวัสดิภาพความเป็นอยู่ ยกตัวอย่าง ช่วงที่ผ่านมา ที่รัฐบาลมีมาตรการสั่งปิดแคมป์คนงาน แรงงานข้ามชาติ แรงงานนอกระบบกระจายออกไปจำนวนหนึ่ง ส่วนบางคนที่ไปไหนไม่ได้ ขณะนี้ยังไม่มีมาตรการดูแลความเป็นอยู่ แม้ในวันนี้ (9 ก.ค. 64) ก็เช่นกัน ศบค. มีมาตรการล็อกดาวน์เข้มงวดขึ้น แรงงานข้ามชาติจะได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์นี้อย่างไร รัฐบาลยังไม่ได้แก้ปัญหาที่มีอยู่ก่อนสั่งปิดล็อกดาวน์ในวันนี้ ทุกวันนี้ที่เห็นคือ แรงงานออกมาร้องไห้เนื่องจากทำมาหากินไม่ได้ ไม่มีเงิน ไม่มีอาหารยังชีพ เพราะทุกวันนี้เมื่อปิดแคมป์คนงานแล้วไม่ได้มีการตรวจคัดกรองแยกคนติดออกจากคนไม่ติด ปัญหาคนงานจึงมีความรุนแรงยิ่งขึ้น

คุณมานิตย์ พรหมการีย์กุล กล่าวว่า ต้องเข้าใจพื้นฐานของแรงงานก่อน แรงงานส่วนมากเป็นแรงงานเข้มข้น มาจากต่างจังหวัด พื้นฐานการศึกษาไม่ค่อยมาก เมื่อมาทำงานต่างคาดหวังความมั่นคงในการทำงาน เพื่อให้ดำรงอยู่ในสังคมได้ในระดับหนึ่ง ทุกวันนี้การจ้างงานเปลี่ยนไป แต่วิถีใหม่ของการจ้างไม่เหมือนเดิม บริษัทได้รับผลกระทบ แรงงานที่เคยอยู่ได้ด้วย OT ก็ทำไม่ได้อีกแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ในปัจจุบันส่วนใหญ่แรงงานถูกลดค่าจ้างค่าแรง และสวัสดิการต่าง ๆ อีกด้วย ทุกบริษัทจะเริ่มใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาทำงานแทนคน หลาย ๆ บริษัทมีการเลิกจ้าง มีนโยบาย WFH และการลดคนงานลง สวัสดิการต่าง ๆ ก็เปลี่ยนไป อยากจะเรียนว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายรัฐ นักวิชาการ น่าจะมีการพูดคุย ระดมความคิดเห็นมากขึ้นว่าจะรักษางานให้แรงงานมีงานทำในอนาคตได้อย่างไร โควิดวันนี้สถานการณ์แรงงานลำบากมาก บริษัทส่วนมากพบการแพร่ระบาดของ COVID-19 ดังนั้น สิ่งที่จะต้องแก้ปัญหาเร่งด่วน คือต้องเร่งฉีดวัคซีนในสถานประกอบการ ให้ได้มากที่สุด เพราะในปัจจุบันและอนาคตเรายังจะต้องอยู่กับโควิดเสมือนเป็นโรคประจำถิ่น

ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ เห็นว่าในสถานการณ์เฉพาะหน้ามีทั้งปัญหาระยะสั้นและปัญหาระยะยาว ปัญหาระยะสั้น ได้แก่ สินค้าบริการ มีความต้องการน้อยลง ความต้องการแรงงานก็น้อยลงเช่นกัน ส่วนปัญหาระยะยาว เช่น การ Disruption ทางด้านเทคโนโลยี ทำให้ความต้องการแรงงานลดลง ถ้าไม่ได้เตรียมคนให้สามารถเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ จะทำให้แรงงานอยู่ในฐานะที่ต้องตั้งรับ ถือเป็นสถานะที่ลำบาก จะเห็นว่าเราลงทุนด้านความรู้ทักษะเหล่านี้น้อยมาก ในปัจจุบัน เมื่อพูดถึงปัญหาแรงงาน น่าจะหมายถึง แรงงานนอกระบบที่มีทั้งคนงานและแรงงานข้ามชาติ แรงงานนอกระบบกฎหมายเหล่านี้ เข้าไม่ถึงการคุ้มครองของรัฐ เข้าไม่ถึงระบบการประกันสังคมต่าง ๆ ดังนั้นจึงไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาเพราะสวัสดิการต่าง ๆ คุ้มครองเฉพาะคนที่มีตัวตนทางกฎหมาย ดังนั้นเมื่อกลไกของรัฐไปไม่ถึงคนเหล่านี้ เครือข่ายแรงงานจึงสำคัญมากที่จะโยงใยช่วยเติมเต็มช่องว่างที่ขาดหายไป

ประเด็นด้านกฎหมายแรงงานระหว่างประเทศ

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ เปิดประเด็นเรื่อง อนุสัญญา ILO (International Labor Conference: ILC) ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม ถือเป็นอนุสัญญาที่เป็นหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญที่สุดหลักการหนึ่งที่เชื่อกันว่าจะเป็นการสร้างหลักประกันสำคัญให้กับคนทำงาน และจะนำมาซึ่งสังคมที่เป็นธรรมและสันติสุข โดยกล่าวว่า สถานการณ์ด้านแรงงานจะดีกว่านี้ หากรัฐบาลไทยลงนามรับรองอนุสัญญาฉบับนี้ ด้วยเชื่อว่าสหภาพแรงงานที่สามารถรวมกลุ่มในการทำงานอย่างเข้มแข็ง มีกลไกที่มีประสิทธิภาพ ระบบแรงงานจะถ่วงดุลกัน เกิดเป็นประชาธิปไตยในสถานประกอบการ

ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ เสริมในประเด็น อนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98 สรุปสาระโดยย่อว่า ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว (Freedom of Association and Protection of the Right to Organise) ส่วนฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง (Right to Organise and Collective Bargaining) ซึ่งการรวมตัวกัน สามารถรวมตัวกันข้ามสายอาชีพได้ ถ้ารับรองเสรีภาพตรงนี้ แรงงานจะสามารถรวมตัวกันได้อย่างหลากหลาย ซึ่งจะเข้าถึงการดูแลเยียวยาของรัฐได้มากขึ้น เพราะเครือข่ายแรงงานที่มาจากอนุสัญญาฯ ประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน (ที่ก้าวหน้าน้อยกว่าไทย) ก็มีการรับรองแล้วถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะเกิดความเป็นธรรมในการจ้างงานและประชาธิปไตยในสถานประกอบการ ซึ่งสหภาพแรงงานจะทำให้ระบบแรงงานดีขึ้น เกิดประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ดังนั้นถ้าหากประเทศไทย มีเครือข่ายแรงงานที่เข้มแข็งมากกว่านี้ จะช่วยแก้ปัญหาด้านแรงงานที่เป็นอยู่ได้อย่างมาก

การรวมกลุ่มกันของสหภาพแรงงานหรือเครือข่ายแรงงาน

ประเด็นสหภาพแรงงาน คุณวาสนา ลำดี มองว่าเป็นความหวังเพราะถ้าแรงงานรวมกลุ่มกันได้เข้มแข็งก็จะมีอำนาจในการต่อรอง สหภาพแรงงานจะมีอำนาจต่อรองในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองดูแล ประโยชน์ ค่าจ้าง สิทธิหรือสวัสดิภาพต่าง ๆ รวมไปถึงอำนาจการต่อรองทางการเมืองในอนาคต ซึ่งไม่ใช่ส่งผลเพียงสถานประกอบการของตนเอง แต่เป็นเรื่องผลประโยชน์ของประเทศโดยรวม เช่น การดูแลทางสังคม ทั้งแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ

คุณมานิตย์ พรหมการีย์กุล กล่าวว่า การมีสหภาพแรงงาน คือ การมีอำนาจต่อรอง ช่วงวิกฤตที่ผ่านมา บริษัทที่ไม่มีสหภาพจะไม่ได้รับการเยียวยาเท่าที่ควร สหภาพแรงงานเป็นองค์กรที่มีส่วนในการเติมเต็มข้อมูลให้นายจ้าง ที่นายจ้างอาจจะไม่รู้รายละเอียดเนื้องานในหน้างาน ทำให้นายจ้างและสหภาพแรงงานสามารถต่อรองระหว่างกันได้ หากสหภาพกับนายจ้างเป็นมิตรที่ดีต่อกัน นอกจากนั้น องค์กรสหภาพจะเป็นส่วนเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไป ไม่ว่าจะเป็น เครือข่ายภาคประชาชน การส่งต่อข้อมูลปัญหาให้กับภาครัฐ ดังนั้น ปัจจุบันและอนาคต สหภาพแรงงานคือกลไกสำคัญในการบริหารจัดการด้านแรงงานได้อย่างถูกทาง

ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ กล่าวว่า การรวมตัวของแรงงานเป็นธรรมชาติ การรวมตัวรุ่นแรก ๆ รวมตามอุตสาหกรรม ทำงานที่เดียวกัน แต่ทุกวันนี้มีแรงงานที่เป็น Platform มากขึ้น เช่น พนักงานส่งอาหาร Grab ถือเป็นแรงงาน Platform ที่ไม่มีใครเป็นนายจ้าง ไม่สามารถเรียกร้องกับใครได้ ประเด็นคือ ไม่มีระบุประเภทตามกฎหมายแรงงาน ดังนั้น ถ้ารวมกลุ่มกันเอง โดยไม่ต้องพึ่งเกณฑ์จากรัฐแรงงานจะกำหนดกันเองได้ แต่รัฐไม่กระตือรือร้นที่จะสนับสนุนในส่วนนี้ รัฐไทยไม่สนับสนุนการรวมตัวกันของลูกจ้าง ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่า ตอนนี้ถ้าถามนายจ้าง นายจ้างไม่อยากให้มีสหภาพ ถามลูกจ้าง ลูกจ้างไม่อยากมีสหภาพเพราะสังคมไทยไม่เป็นสังคมประชาธิปไตย ลองย้อนไปดูในประวัติศาสตร์ของสังคมโลก สิทธิต่าง ๆ ของแรงงานไม่ได้มาจากการหยิบยื่นจากภาครัฐก่อน แต่ล้วนมาจากการต่อสู้ต่อรองทั้งสิ้น ปัญหาตอนนี้ คือ ความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ สิ่งเหล่านี้เกิดจากแรงงานไม่มีอำนาจต่อรอง คนที่มีอำนาจมากกว่ามีโอกาสมากกว่า จึงต้องเปิดโอกาสให้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อต่อรอง สิทธิประโยชน์ของตนเอง แรงงานที่รวมตัวกันข้ามอาชีพก็เช่นกัน เป็นเรื่องการต่อรองทางสังคม เศรษฐกิจ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความเท่าเทียม โดยส่วนรวมของประเทศ

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ เห็นด้วยกับการมีเครือข่ายแรงงาน หรือสหภาพแรงงาน ซึ่งนอกจากในมิติด้านเศรษฐกิจ การต่อรอง การจ้างงานแล้ว อีกมิติคือ การพัฒนาแรงงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น จากการมีทรัพยากรพื้นฐานที่ดีเพียงพอ ซึ่งในประเด็นนี้ สำนักงานประกันสังคมเข้ามาช่วยได้เยอะ ถ้าแรงงานเข้มแข็ง และมีคุณภาพ จะช่วยพลิกฟื้นจากโควิดได้ ทั้งในทางเศรษฐกิจและทางการเมือง

การดำเนินการสนับสนุนจากสำนักงานประกันสังคม

ดร.โชคชัย สุทธาเวศ กล่าวถึงความสำคัญของระบบประกันสังคม และสหภาพแรงงาน โดยตั้งคำถามว่า ประกันสังคมแบบไหนที่สามารถตอบสนองปัญหาแรงงานในสภาวะโควิดได้ ? และ ทำอย่างไรถึงจะทำให้แรงงานเป็นสมาชิกสหภาพเพิ่มขึ้น ? เพราะแรงงานในสภาวะโควิดนี้ บริษัทที่มีสหภาพแรงงานจะเคลื่อนตัวได้ดีกว่า แต่ปัจจุบันแรงงาน 39 ล้านคน มีสมาชิกเพียง 7-8 แสนเท่านั้น มีคำถามเพิ่มว่า ประกันสังคมควรเป็นอย่างไร

  • เมื่อบริษัทจำเป็นต้องปิดกิจการ ทำให้มีความเดือดร้อนทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ประกันสังคมน่าจะช่วยสมทบ เพื่อให้กิจการดำเนินต่อไปได้ ไม่ควรชดเชยแค่ตอนเลิกจ้างเท่านั้น ดังนั้น อัตราเงินสมทบในขณะนี้ เหมาะสมเพียงพอหรือไม่
  • การนำเงินกู้มาเสริมพลังให้ประกันสังคม เพื่อเพิ่มการชดเชยช่วยเหลือประชาชน เป็นไปได้หรือไม่
  • การปรับกฎหมายประกันสังคม หากขยับอัตราการสมทบที่มากขึ้น และเพิ่มให้ครอบคลุม การดูแลให้มากขึ้น เป็นไปได้หรือไม่ เพราะถ้าประกันสังคมเข้มแข็ง นายจ้างก็ได้ประโยชน์เช่นกัน

คุณนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ในฐานะผู้แทนจากสำนักงานประกันสังคม ให้ข้อมูลว่า เงินคงคลังประกันสังคมตอนนี้และในอนาคต อยู่ในระดับที่มั่นคง มีการบริหารกองทุนอย่างระมัดระวัง เงิน 2.2 ล้านล้าน ส่วนใหญ่ เป็นเงินเก็บกองทุนชราภาพ ที่ลูกจ้างจ่ายและนายจ้างจ่ายสมทบ นอกจากนั้น มีเงินสำหรับใช้จ่ายในหลายกรณี เช่น 1.5% สำหรับการเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ซึ่งผู้ประกันตนจะเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้มากขึ้น เช่น การฟอกไต 0.5% สำหรับประกันผู้ว่างงาน เป็นต้น การประกันสังคมเป็นการออมขั้นพื้นฐาน เป็นการบังคับออม ไม่ควรนำออกมาใช้ก่อน สำหรับคำถามว่าการนำประกันสังคมออกมาเป็นอิสระ ไม่ใช่ราชการดีหรือไม่ ขออธิบายว่าสำนักงานประกันสังคมทำทุกอย่าง เพื่อผู้ใช้แรงงานเข้าใจในสิทธิและการดูแลคนงาน โดยเฉพาะสถานการณ์โควิด ก็ได้พยายามเข้าถึงแรงงานอย่างเต็มที่ ส่วนปัญหาแคมป์คนงานใน กทม. เป็นเรื่องการบริหารจัดการที่สำนักงานประกันสังคม และ กทม. ดำเนินการคนละแนวทาง ส่วนแรงงานที่ไม่ได้เงินชดเชยจะเป็นแรงงานนอกที่ไม่ครอบคลุมการดูแลจากสำนักงานประกันสังคม ทุกวันนี้รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมทุกคน ต่างช่วยกันทำให้สังคมไปต่อได้ กล้าพูดว่าไม่มีสำนักงานประกันสังคมประเทศไหน ทำให้แรงงานได้เยอะเท่าประเทศไทยแล้ว ทั้งเรื่องวัคซีน ทั้ง Swap ทั้งช่วยเหลือ ด้านอื่น ๆ โดยเน้นย้ำว่า งานของสำนักงานประกันสังคมทุกวันนี้สำเร็จเพราะเครือข่ายแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเครือข่าย Safety เครือข่าย HR บ้าน วัด โรงเรียน โรงงาน ซึ่งช่วยทำให้แรงงานนอกระบบมีความรู้เข้าสู่ระบบได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

สามารถติดตามรับชมการเสวนา ประเด็น “ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ COVID-19 ด้วยเครือข่ายแรงงาน” อีกครั้งทาง YouTube Live Thai PBS : https://thaip.bs/YouTubeLive

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวประชาสัมพันธ์

บทสัมภาษณ์ผู้บริหาร

ข่าวกิจกรรม

กลับขึ้นด้านบน