ไทยพีบีเอส จัดเสวนาเทคโนโลยี AI กับความรับผิดชอบทางจริยธรรมในงานสื่อ ชี้ AI มาใช้ในงานสื่อสารมวลชนมีทั้งแง่บวก - ลบ ยอมรับเร็วกว่าและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน แต่ยังขาดความแม่นยำ ห่วงใช้ AI ไร้การควบคุมจากมนุษย์ เกิดความผิดพลาดหรือผลลัพธ์ที่ไม่คาดคิด
นางสาวกนกพร ประสิทธิ์ผล กรรมการบริหาร และผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส
นางสาวกนกพร ประสิทธิ์ผล กรรมการบริหาร และผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส กล่าวในงานเสวนา "เทคโนโลยี AI กับความรับผิดชอบทางจริยธรรมในงานสื่อ" ซึ่งจัดโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส ว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมสื่อได้ใช้ AI มาช่วยในเรื่องต่าง ๆ มากขึ้น สำหรับไทยพีบีเอส ได้นำเทคโนโลยี AI มาใช้ 8 ด้าน คือ
- AI generated illustrations หรือการผลิตภาพประกอบจาก AI
- AI generated Speed to Text หรือ เทคโนโลยีช่วยแปลงเสียงคำพูดให้กลายเป็นตัวอักษร
- AI generated News & Program Chatbot หรือ โปรแกรมแชทบอท
- AI generated Visual and Audio AI ผู้ประกาศและบริการอ่านให้ฟัง
- AI Voice on Spot Promote หรือ เสียงสปอตโปรโมทจาก AI
- AI generated Vertical Production หรือ การชมสดแบบแนวตั้ง
- AI generated Personalized Content เพื่อ Analyze Audience และเสิร์ฟคอนเทนต์ให้ตรงกับผู้คนมากขึ้น
- AI generated Text Summaries หรือ สรุปด้วย AI
"ในแง่บวก AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ลดเวลาการทำงาน สามารถเข้าถึงผู้ชมได้กว้างขึ้น และสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้องค์กรได้มากขึ้น ขณะเดียวกันในแง่ลบอาจเสี่ยงกับความถูกต้องแม่นยำ การพึ่งพา AI อย่างเดียวนั้นขาดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์" นางสาวกนกพร กล่าว
ขณะเดียวกันก็มีความกังวลเกี่ยวกับ AI ในอุตสาหกรรมสื่อ โดยผลสำรวจความเห็นพบว่า ความกังวลสูงสุด คือ AI ทำงานโดยปราศจากการควบคุมดูแลของมนุษย์ อาจนำไปสู่ความผิดพลาดหรือผลลัพธ์ที่ไม่คาดคิด รวมทั้งยังกังวลเรื่องความถูกต้องของข้อมูลที่ AI สร้างขึ้น เนื่องจาก AI อาจเรียนรู้จากข้อมูลที่ผิดพลาดหรือมีอคติจากข้อมูลที่ถูกนำมาฝึกสอน ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติหรือการบิดเบือนข้อมูล
นางสาวศิริลักษณ์ รุ่งเรืองกุลดิษฐ์ นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ กองลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา
นางสาวศิริลักษณ์ รุ่งเรืองกุลดิษฐ์ นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ กองลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า สหภาพยุโรปได้ผ่านพระราชบัญญัติว่าด้วยการ ควบคุมการใช้ปัญญาประดิษฐ์ของสหภาพยุโรป (The EU Artificial Intelligence Act) ซึ่งนำมาใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 67 โดยแบ่งประเภท AI ตามระดับความเสี่ยงทั้งหมด 4 ระดับ เพื่อบอกว่าจะต้องดำเนินการโดยวิธีใดบ้าง หากพบเจอการนำ AI ไปใช้เพื่อสิ่งเหล่านี้ ได้แก่
- ความเสี่ยงที่ยอมรับไม่ได้ เช่น การให้คะแนนทางสังคม ความเสี่ยงนี้ห้ามนำ AI ไปใช้โดยสิ้นเชิง
- ความเสี่ยงสูง เช่น สาธารณูปโภค, การศึกษา, การจ้างงาน หากนำ AI ไปใช้จะต้องมีการประเมินเพื่อแสดงให้เห็นว่าระบบของ AI นั้นสอดคล้องกัน
- ความเสี่ยงจำกัด เช่น Chatbot, Deepfake ต้องอยู่ภายใต้ความโปร่งใส มีการใส่ลายน้ำหรือข้อความแจ้งเตือนอย่างชัดเจนว่านี่คือ AI
- ความเสี่ยงน้อยสุด เช่น AI ในวิดีโอเกมหรือตัวกรองสแปม
รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล นักวิชาการอิสระ Founder Spectrum Podcast
รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล นักวิชาการอิสระ Founder Spectrum Podcast กล่าวโดยสรุปว่า มี 3 สิ่งที่น่ากังวลเกี่ยวกับการใช้ AI ในวงการสื่อ 3 ข้อ คือ 1. Fake ทั้งภาพและเสียง 2. Copyright ข้อมูลที่ Input เข้ามาให้ AI ได้เรียนรู้มีความน่าเชื่อถือแค่ไหน 3. รายได้ขององค์กรสื่อ AI ลิงก์กับ Algorithm ใครเป็นคนควบคุม การผูกขาดคอนเทนต์ที่ไม่สร้างความหลากหลาย
สามารถติดตามไทยพีบีเอสทุกช่องทางออนไลน์ ได้ที่
▪ Website : www.thaipbs.or.th
▪ Application : Thai PBS
▪ Social Media Thai PBS : Facebook, YouTube, X , LINE, TikTok, Instagram, Threads, Linkedin