Thai PBS Podcast และ The Active จับมือภาคีเครือข่าย จัดงาน "แก้กับดักนโยบายพลังงานสะอาด สร้างโอกาสประเทศ" นำเสนอผลการศึกษา "ปลดล็อกโซลาร์บนหลังคาพาไทยถึงเป้าพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน" แลกเปลี่ยนมุมมองผ่าน Policy Forum พร้อมเปิดตัวรายการ "สะอาด Podcast" ไขข้อสงสัยเกร็ดความรู้เกี่ยวกับพลังงานสะอาด
องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส โดยไทยพีบีเอสพอดคาสต์ ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ หรือ The Active ร่วมกับสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ERI) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และภาคีเครือข่าย จัดงาน "แก้กับดักนโยบายพลังงานสะอาด สร้างโอกาสประเทศ" เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็น ชวนมองโอกาส และข้อจำกัด ระดมความคิดไปสู่ข้อเสนอเพื่อปลดล็อกนโยบายให้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด สร้างโอกาสให้ประเทศได้มากขึ้น ใน "Policy Forum ครั้งที่ 17 : ปลดล็อกนโยบายพลังงานสะอาด สร้างโอกาสประเทศ" เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2567 ที่ Co-Working Space ไทยพีบีเอส
ดร.สิริภา จุลกาญจน์ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ERI) ได้นำเสนอผลการศึกษา "ปลดล็อกโซลาร์บนหลังคาพาไทยถึงเป้าพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน" ว่า ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้เองจากการติดตั้งโซล่าร์บนหลังคา หรือที่เรียกว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบกระจายศูนย์ (distributed PV) ปัจจุบันภาครัฐยังไม่มีการตั้งเป้าหมายโดยตรง หรือออกมาตรการทางนโยบายและแรงจูงใจที่เหมาะสมมาใช้เพื่อสนับสนุนให้เกิดการผลิตพลังงานหมุนเวียน อีกทั้งในร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือแผน PDP 2024 ไม่ได้ระบุถึงทิศทางและนโยบายสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์บนหลังคา
"การผลิตไฟฟ้าใช้เอง มีบทบาทในการช่วยลดการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ ดังนั้นภาครัฐจำเป็นต้องเร่งเครื่องการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างจริงจัง รวมทั้งอาจเปิดให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่และโซลาร์พร้อมแบตเตอรี่ เพื่อทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 ได้อย่างยั่งยืนและมั่นคงจากพลังงานสะอาดภายในประเทศ" ดร.สิริภา กล่าว
อีกหนึ่งกิจกรรมไฮไลต์ของงานมีนักวิชาการและตัวแทนผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ทำธุรกิจไฟฟ้าวิสาหกิจชุมชนและครัวเรือน มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงโอกาสและข้อจำกัดในการยกระดับไฟฟ้าพลังงานสะอาดของไทย ใน "Policy Forum ครั้งที่ 17 : ปลดล็อกนโยบายพลังงานสะอาด สร้างโอกาสประเทศ" นำโดย อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการนโยบายพลังงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวถึงการร่างแผน PDP 2024 ว่า เมื่อเดือนที่ผ่านมา การพิจารณาร่างฯ ใกล้แล้วเสร็จ เหลือเพียงข้อเดียวที่ต้องทบทวนคือการผลิตไฟฟ้าด้วยไฮโดรเจน ทั้งที่ยังมีเสียงของภาคประชาชนอยากให้ปรับร่างใหม่ มีใจความสำคัญหลัก ๆ ให้ลดสัดส่วนการสร้างโรงงานไฟฟ้าขนาดใหญ่จากก๊าซและโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำลง และเปิดเสรีไฟฟ้าให้อย่างน้อยภาคเอกชนสามารถร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันเองได้ เป็นโอกาสดีที่อยู่ในช่วงรอยต่อการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ถือเป็นช่วงหลุมอากาศมีโอกาสเสนอให้เปลี่ยนร่างแผน PDP 2024 ได้ใหม่ ดังนั้นที่ร่างแผน PDP 2024 ตั้งเป้าเพิ่มไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้เกินครึ่งภายในปี ค.ศ. 2037 จะทำได้จริงหรือไม่ และอีก 13 ปีต่อจากนี้ที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 จะสำเร็จไหมในเมื่อแผนขับเคลื่อนระยะสั้นยังมีอุปสรรค
"ราคาค่าไฟที่เป็นธรรมสำหรับตลาดเสรีด้วยพลังงานสะอาดคือ ราคาค่าไฟที่เป็นไปตามกลไกตลาด รวมกับต้นทุนค่าความมั่นคง ในระยะยาวควรพัฒนาตลาดไฟฟ้าในบ้านเราอย่างไรเพื่อตอบสนองความสมดุลทางด้านพลังงานเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน" อารีพร กล่าว
เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center กล่าวว่า การวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพิ่มในร่างแผน PDP 2024 พิจารณาจากสถิติชุดเดิมที่มีการพยากรณ์เกินจริง ทำให้ต้องจ่ายค่าความพร้อมเพื่อการสำรองไฟที่ผลิตได้มากจริง กลายเป็นต้นทุนของผู้ผลิตที่ผลักไปเป็นภาระของประชาชนในรูปแบบของค่าไฟที่แพงขึ้น อย่างไรก็ตามใช่ว่าข้อเสนอเหล่านี้จะทำไม่ได้ ต้องผลักดันต่อผ่านกระบวนการที่มี ไม่ว่าจะเป็นสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาล หรือผลักดันของภาคประชาสังคมโดยตรง
ขณะที่ นที สิทธิประศาสน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน กล่าวว่า ราคาไฟฟ้าไม่จำเป็นต้องถูก แต่ต้องเหมาะสม การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหนึ่งในคำตอบ ขณะเดียวกันอยากให้มองทรัพยากรในประเทศด้วยว่า สามารถผลิตไฟฟ้าชีวมวลได้ แม้ราคาชีวมวลจะแพงกว่าโซลาร์ แต่ทำให้เกิดการจ้างงานคนในพื้นที่ ทำให้เกิดการอุดหนุนซื้อเศษสินค้าการเกษตร และทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในชุมชน 4 เท่า อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ก็ยังเป็นต้นทุนที่ถูกกว่า เมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซธรรมชาติ
ทั้งนี้ The Active ไทยพีบีเอส ได้รวบรวมข้อมูลการแลกเปลี่ยนครั้งนี้ใน "Policy Watch" แพลตฟอร์มที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยสื่อกลางการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะของประเทศที่เชื่อมโยงกับประชาชน สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.thaipbs.or.th/policywatch
ภายในงานยังมีการเปิดตัวรายการ "สะอาด Podcast" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทยพีบีเอสพอดแคสต์ และโครงการพลังงานสะอาดเข้าถึงได้และมั่นคง สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ CASE (Clean, Affordable, and Secure Energy for Southeast Asia ) โดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมกับสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ERI) เป็นรายการเกี่ยวกับการไขข้อสงสัยและเกร็ดความรู้เกี่ยวกับพลังงานสะอาด ออกสํารวจเรื่องพลังงานและสิ่งใกล้ตัวเรา ที่ทุกคนใช้กันทุกวันตลอด 24 ชม. ว่าทำไมหัวใจสําคัญของพลังงานเหล่านี้จึงต้อง "สะอาด" ดำเนินรายการโดย ใบหม่อน ทรรศิกา สิงห์ตุ้ย และ โบ้ท ชาคร เลิศนิทัศน์ ออกอากาศทุกเย็นวันศุกร์ ทางแอปพลิเคชัน https://thaip.bs/AppThaiPBSPodcast และที่เว็บไซต์ www.thaipbspodcast.com/podcast/Saatpodcast
สามารถติดตามไทยพีบีเอสทุกช่องทางออนไลน์ ได้ที่
▪ Website : www.thaipbs.or.th
▪ Application : Thai PBS
▪ Social Media Thai PBS : Facebook, YouTube, X , LINE, TikTok, Instagram, Threads, Linkedin