ไทยพีบีเอส ชวน "ล้วงจิต มิจฉาชีพ" อัปเดตกลโกงป้องกันไม่ตกเป็นเหยื่อ

รายการสถานีประชาชน ไทยพีบีเอส เปิดเวที "ล้วงจิต มิจฉาชีพ" ชวนอัปเดตกลโกงในโลกออนไลน์ พร้อมแนวทางการป้องกันตัวเองไม่ตกเป็นเหยื่อ ชวนดู "อาชญาโกงไซเบอร์เดอะซีรีส์" ละครสั้น 5 ตอน เรื่องจริงของเหยื่ออาชญากรรมออนไลน์ ตีแผ่เป็นอุทาหรณ์สอนใจ


องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส โดยรายการสถานีประชาชน จัดกิจกรรมเวที Talk "ล้วงจิต มิจฉาชีพ" รู้ทันกลโกงไซเบอร์ เพื่อไม่ให้คนไทยตกเป็นเหยื่อ จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันภัยไซเบอร์ มี ธิดารัตน์ อนันตรกิตติ พิธีกรรายการสถานีประชาชน เป็นผู้ดำเนินรายการ พร้อมเปิดตัว "อาชญาโกงไซเบอร์ เดอะ ซีรีส์" ละครสั้น 5 ตอน ที่นำเรื่องราวจากชีวิตจริงของเหยื่ออาชญากรรมออนไลน์มาตีแผ่เป็นอุทาหรณ์ สร้างความตระหนักว่า ไม่ว่าใครก็ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้ ออกอากาศทุกวันศุกร์ ในรายการวันใหม่วาไรตี้ เวลา 08.15 – 08.30 น. และสามารถดูย้อนหลังได้ที่ www.thaipbs.or.th/CyberCrime 


พลตำรวจตรี นิเวศน์ อาภาวศิน
รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กล่าวถึงสถานการณ์ Digital Crime กับตำรวจไซเบอร์ว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มูลค่าความเสียหายจากภัยออนไลน์มีมูลค่ามหาศาลรวมเกือบ 70,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มมิจฉาชีพพุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น โดยจะมีวิธีการหลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันดูดเงิน หลอกให้ลงทุน การทำภารกิจ และอีกหลากหลายรูปแบบ ซึ่งวิธีการรับมือภัยออนไลน์ ประชาชนต้องรู้วิธีการสังเกตมิจฉาชีพ เช่น FACEBOOK จริงหรือปลอมสามารถดูได้ที่ เมนู "เกี่ยวกับ" ในช่องความโปร่งใสของเพจ สังเกตว่าเปลี่ยนชื่อบ่อยหรือไม่ เกิดขึ้นนานหรือยัง ผู้ดูแลรับผิดชอบเพจเป็นใคร เป็นต้น หรือหากมีความไม่สบายใจสงสัยว่าเป็นมิจฉาชีพ ขอให้โทรมาที่สายด่วน 1441 โดยจะไม่มีการรับแจ้งความผ่านทาง LINE และ FACEBOOK


ดร.โกเมน พิบูลย์โรจน์
ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ กล่าวถึง "การป้องกันก่อนหมดตัว" ใช้โทรศัพท์อย่างไรห่างให้จากมิจฉาชีพว่า ขอให้ประชาชนมีสติในการใช้โทรศัพท์มือถือ อย่ากดลิงก์แปลก ๆ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะถูกดูดเงิน หรือ ฝังมัลแวร์ในโทรศัพท์ได้ โดยมีวิธีป้องกันตัวดังนี้

  1. วิธีการตั้งรหัสต่าง ๆ ไม่ควรใช้รหัสวันเดือนปีเกิด ไม่ใช้รหัสเข้ามือถือเป็นรหัสเดียวกับรหัสบัญชีธนาคาร ไม่ใช้รหัส E-Banking เป็นรหัสเดียวกันทุกธนาคาร และไม่จดรหัสไว้ที่เคสโทรศัพท์ หรือกระเป๋าสตางค์
  2. หากถูกหลอก ให้รีบโทรสายด่วน 1441 อย่างรวดเร็ว
  3. ควรเปิดระบบแจ้งเตือน SMS และเช็คตลอด แต่ระวังลิงค์ที่มากับ SMS มักเป็นมิจฉาชีพ
  4. ถ้าเผลอกดลิงก์ให้รีบปิดเครื่องทันที เพื่อไม่ให้ OTP ส่งมาได้หรือรีบอายัติบัญชีธนาคารทันที


ในงานเสวนามีผู้สูงอายุ และประชาชนทั่วไปกว่า 50 คน เข้าร่วมงาน โดยประชาชนรายหนึ่งร่วมแบ่งปันประสบการณ์ว่า ที่ผ่านมามีเบอร์โทรศัพท์แปลกๆ โทรเข้ามาหา อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่รู้ทันว่าเป็น แก็งคอลเซนเตอร์เพราะติดตามข่าวตลอดจึงกดวางสาย ปัจจุบันมีผู้สูงอายุเป็นเหยื่อจากภัยออนไลน์จำนวนมาก ครั้งนี้มาร่วมงาน หวังมีภูมิคุ้มกันและรู้เท่าทันกลโกงใหม่ ๆ มากขึ้น


สำหรับประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากภัยออนไลน์ ถูกหลอก ถูกโกง สามารถแจ้งความได้ที่สายด่วน 1441 หรือ www.thaipoliceonline.go.th และติดตาม "รายการสถานีประชาชน" อีกหนึ่งรายการที่จะยกระดับช่วยป้องกันภัยออนไลน์ ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ ในการทำหน้าที่สื่อสาธารณะของไทยพีบีเอสที่เป็นมากกว่าสถานีโทรทัศน์ (More than TV) ทุกวันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 14.05 – 15.00 น. ทางไทยพีบีเอส หมายเลข 3 หรือติดตามชมอีกครั้งได้ที่ www.thaipbs.or.th/People

สามารถติดตามไทยพีบีเอสทุกช่องทางออนไลน์ ได้ที่

▪ Website : www.thaipbs.or.th   
▪ Application : Thai PBS
▪ Social Media Thai PBS : Facebook, YouTube, X , LINE, TikTok, InstagramThreadsLinkedin

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวประชาสัมพันธ์

บทสัมภาษณ์ผู้บริหาร

ข่าวกิจกรรม

กลับขึ้นด้านบน