ไทยพีบีเอส จัดเสวนาสะท้อนคุณภาพเนื้อหา "กลุ่มสารคดี" ผลักดันสารคดีฝีมือคนไทย ให้โดนใจทั้งไทยและต่างประเทศ

องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาสื่อสาธารณะ จัดงานเสวนาสะท้อนคุณภาพเนื้อหา "กลุ่มสารคดี (Documentary)" เพื่อร่วมพัฒนาคุณภาพและสร้างสรรค์เนื้อหาสารคดีไทยพีบีเอสให้มีความโดดเด่นแตกต่าง และผลักดันสารคดีฝีมือคนไทยให้ก้าวขึ้นไปแข่งขันได้ในระดับสากล โดยในงานเสวนาได้เชิญผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ด้านสารคดี ทั้งในแง่การเล่าเรื่อง การผลิต การขยายผลทางการตลาด ประกอบด้วย ดร.มาโนช ชุ่มเมืองปัก อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คุณภาณุ อารี ประธานฝ่ายจัดจำหน่าย บริษัทเนรมิตหนังฟิล์ม จำกัด และคุณกฤตวิทย์ หริมเทพาธิป ผู้ร่วมก่อตั้ง Documentary Club เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2567


ปัจจุบันการนำเสนอรายการสารคดีบนหน้าจอของช่องดิจิทัลหมายเลข 3 (Thai PBS) มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 37 ของเวลาออกอากาศทั้งหมด โดยเป็นอันดับ 2 รองจากสัดส่วนการเผยแพร่ข่าวและรายการข่าว สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงการให้ความสำคัญกับการนำเสนอสารคดีของไทยพีบีเอส


ทว่าความท้าทายของสารคดีในมุมผู้เชี่ยวชาญ คือ ความคาดหวังของผู้ชมที่เหนือไปกว่าการให้ข้อมูล ความรู้ คือการสร้างอรรถรสความบันเทิง หรือความรู้สึกของผู้ชมที่จะเกิดขึ้นหลังการรับชม ขณะที่เทรนด์การนำเสนอเนื้อหาของบริการวิดีโอสตรีมมิ่งมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับชมของผู้ชมสารคดีไปสู่การเปิดรับเนื้อหาที่เน้นความตื่นเต้น ชวนติดตาม ด้วยการเล่าเรื่องแบบภาพยนตร์ (Cinematic) ทิ้งปมไว้ให้ผู้ชมได้คิดตามในแต่ละจังหวะ หรือแต่ละตอนในกรณีที่ผลิตเป็นซีรีส์ ซึ่งการสร้างสารคดีให้จับใจผู้ชมได้นั้น ผู้ผลิตสารคดีควรตั้งเป้าหมาย (Purpose) ว่า ผู้ชมจะต้องเกิดความรู้สึก (Feeling) อย่างไรกับสารคดีนั้น ๆ แล้วจึงมาออกแบบการเล่าเรื่องของสารคดี ซึ่งต้องอาศัยความรักและความหลงใหลในสารคดีของผู้ผลิตมากพอสมควร


เมื่อมองมายังสารคดีไทยพีบีเอส จะพบว่า สารคดีไทยพีบีเอสมีความสามารถในการสื่อสารข้อมูลด้วยความชัดเจน มีคุณภาพการผลิตที่ดี ประกอบกับสารคดีไทยพีบีเอสนั้นได้เข้าไปปักธงในใจของผู้ชม สะท้อนผ่านผลการสำรวจระดับการจดจำสาธารณะของคนไทย (Public Perception Survey) หรือ Top of Mind ซึ่งสำรวจกับกลุ่มตัวอย่างประชาชนทั่วทุกช่วงวัยทุกภูมิภาค (จำนวนทั้งหมด 2,037 ตัวอย่าง) โดยกลุ่มตัวอย่างกล่าวถึง ช่อง Thai PBS ในฐานะเป็นสื่อที่โดดเด่นในด้านสารคดี ที่ประชาชนนึกถึงเป็นอันดับ 1 ทั้งในด้านการส่งเสริมคุณค่าวัฒนธรรมความเป็นไทย ส่งเสริมคุณค่าผู้สูงอายุ และสะท้อนความหลากหลายทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


จากพื้นฐานเรื่องคุณภาพของเนื้อหา การผลิต และภาพลักษณ์ในสายตาของผู้ชม ผู้เชี่ยวชาญทั้งสามท่าน มองเห็นโอกาสในการพัฒนาสารคดีไทยพีบีเอสที่ตรงกัน คือ การนำเสนอเรื่องราวของไทยที่มีวาระความเข้าใจร่วมกันของคนทั่วโลก อาทิ ความเท่าเทียม ความแตกต่างหลากหลายของผู้คน สิ่งแวดล้อม เป็นต้น ด้วยการใช้เทคนิคการเล่าเรื่องแบบภาพยนตร์ที่มีอรรถรส ไปพร้อมกับการชวนให้ผู้ชมขบคิดในมุมที่แตกต่าง หรือพาไปในจุดที่คาดไม่ถึง ตั้งคำถามไปยังสภาพสังคมหรือสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง ปมปัญหาที่เป็นสาเหตุของเรื่องราวในสารคดี ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างบทสนทนาให้กับผู้ชม และผู้คนในสังคม โดยผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าแนวทางนี้จะช่วยให้สารคดีฝีมือคนไทย รวมถึงสารคดีไทยพีบีเอสมีความน่าสนใจและมีศักยภาพทางการแข่งขันในตลาดระดับนานาชาติได้

และในปี 2567 นี้ สารคดีไทยพีบีเอส เตรียมพร้อมออกอากาศมากถึง 9 เรื่อง ได้แก่ คนชายขอบ, Biodiversity in Thailand มหัศจรรย์ธรรมชาติ, What the NAK อะไรกันนากกันหนา, พระพิราพ, koyori หลอมรวม สืบสาน งานหัตถศิลป์, SMILING LAND แดนยิ้ม(คน)ยาก, สยามฉายฉาน พร้อมด้วยสารคดีไฮไลท์ของปี 2567 ได้แก่ "มนตราล้านนา" สารคดีที่ถ่ายทอดตำนานแห่งเรื่องราวของความงาม วัฒนธรรม และความเชื่อ อันเป็นสุนทรียแห่งล้านนา และ การกลับมาอีกครั้งของการเดินทางครั้งใหม่ของ ติ๊ก-เจษฎาภรณ์ ผลดี กับรายการ "Navigator Nature Club" สามารถติดตามรับชมได้ไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3 และที่แอปพลิเคชัน VIPA หรือที่ www.VIPA.me 

สามารถติดตามไทยพีบีเอสทุกช่องทางออนไลน์ ได้ที่

▪ Website : www.thaipbs.or.th   
▪ Application : Thai PBS
▪ Social Media Thai PBS : Facebook, YouTube, X , LINE, TikTok, InstagramThreadsLinkedin

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวประชาสัมพันธ์

บทสัมภาษณ์ผู้บริหาร

ข่าวกิจกรรม

กลับขึ้นด้านบน