เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 66 สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโครงการเสวนาวิชาการมรดกภูมิปัญญาสำรับอาหารไทยสู่ครัวโลก เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้มรดกภูมิปัญญาสำรับอาหารไทยสู่สาธารณะ ต่อยอดองค์ความรู้จากมรดกภูมิปัญญาสำรับอาหารไทยสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศนำ "อาหารไทยสู่ครัวโลก" และส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือด้านไทยศึกษาร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในการสืบสานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทยอย่างเป็นรูปธรรม ณ Siam Tea Room ที่ เอเชียทีค โดยมี นักวิจัย นักวิชาการ อาทิ ศาสตราจารย์พรรัตน์ ดำรุง ผู้ทรงคุณวุฒิจากนักวิชาการด้านศิลปะร่วมสมัยจากสถาบันอุดมศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน, รศ.ฤทธิรงค์ จิวากานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไทยศึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมอาหารไทย บุคลากรด้านการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการร้านอาหาร และ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ ไทยพีบีเอส เข้าร่วมงานในครั้งนี้

โครงการเสวนาวิชาการมรดกภูมิปัญญาสำรับอาหารไทยสู่ครัวโลก เปิดตัวหนังสือ "มรดกภูมิปัญญาสำหรับอาหารไทย 4 ภาค" บรรณาธิการ โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ สุกัญญา สุจฉายา พร้อมทั้งจัดเวทีเสวนาเรื่อง มรดกภูมิปัญญาสำรับอาหารไทย โดยมีวิทยากร ดังนี้
- ศาสตราจารย์กิตติคุณ สุกัญญา สุจฉายา ภาคีสมาชิกสำนักศิลปกรรม สำนักงานราชบัณฑิตยสภา
- ดร.สง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการด้านโภชนาการ
- คุณคุณอัญชลี กิตติอร่าม ผู้ประกอบอาหารไทย
- ดำเนินรายการโดย อาจารย์ตรีดาว อภัยวงศ์ สุขุม
สำรับอาหารไทยเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติที่สะท้อนคุณภาพชีวิตของคนไทย ตั้งแต่การใช้ชีวิตอย่างสมดุล วิถีการดำรงอยู่กับธรรมชาติ การปรับตัวกับสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมการรับประทานอาหาร วัฒนธรรมท้องถิ่น เอกลักษณ์ของท้องถิ่น การเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ตลอดจนการสร้างสรรค์ศิลปะอาหารไทย แนวคิดเหล่านี้ได้รับการบ่มเพาะจนเป็นรูปแบบทางวัฒนธรรมด้านอาหารที่คนไทยยอมรับ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมและผู้คน แต่ก็ยังยึดหลักคิดที่ชัดเจนและทรงคุณค่า ที่สะท้อนว่าวัฒนธรรมการกินอาหารแบบสำรับยังสร้างความสัมพันธ์ของคนในสังคมได้ ทำให้เกิดการแบ่งปัน สร้างความเข้าใจ สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ และสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น

ปัจจุบันอาหารไทยเป็นที่นิยมจากชาวต่างชาติทั่วโลก เห็นได้จากสื่อต่าง ๆ ของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่ชื่นชมอาหารไทยและจำนวนร้านอาหารไทยในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ องค์ความรู้เรื่องมรดกภูมิปัญญาสำรับไทยจะทำให้ผู้บริโภคอาหารไทยได้รู้คุณค่าของอาหารไทยและเข้าใจวัฒนธรรมไทยได้มากกว่าเรื่องรสชาติที่อร่อยถูกปาก และการเสิร์ฟอาหารไทยแบบสำรับยังเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในธุรกิจร้านอาหารไทยที่มีอยู่ทั่วโลกอย่างเป็นที่ประจักษ์ โดยภายในงานมีจัดเสิร์ฟเมนูสำรับอาหารไทยอย่าง หลนหมูสับปลากุเลาเค็มเนื้อปู ต้มยำกุ้งทะเลน้ำพริกเผาน้ำข้น ปลากะพงทอดซอสมะขาม ผัดคะน้าปลากุเลา และกล้วยไข่ไอศกรีมชาไทย ที่ล้วนเป็นมรดกทางภูมิปัญญาไทยทั้งสิ้น

ทิพย์ธิดา ศรัทธาทิพย์ หรือ แอ๊น เจ้าของนามปากกา "ปราณประมูล" นักเขียนบทละครโทรทัศน์เรื่อง "ปลายจวัก" ละครที่นำเสนอวัฒนธรรมอาหารไทยที่มีอัตลักษณ์อันวิจิตร สะท้อนวิถีชีวิตและบริบทสังคมในสมัยรัชกาลที่ 5 ออกอากาศทาง ไทยพีบีเอส กล่าวว่า "นโยบายของ ไทยพีบีเอส เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการเขียนบทละครเรื่อง ปลายจวัก โดยนำข้อมูลที่ผ่านกระบวนการศึกษา ค้นคว้า และวิจัย มาเล่าเรื่องผ่านบทละคร โดยเป็นเรื่องราวของ หญิงไทยที่ทำอาหารให้รัชกาลที่ 5 เสวย หรือเรื่องราวของผู้หญิงในครอบครัวทั่วไป ที่มีหน้าที่จัดเตรียมและทำอาหารให้กับคนในครอบครัว เป็นการเล่าเรื่องราวผ่านกับข้าวชาวบ้าน กับข้าวชาววัง และกับข้าวชาวเมือง"

ดร.สง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการด้านโภชนาการ กล่าวว่าทิ้งท้ายว่า "ขอชื่นชมบทละครเรื่อง ปลายจวัก และการใช้สติปัญญาที่นักเขียนบทละครสามารถนำความเป็นไทยใส่ลงไปให้มีบทบาทในบทละครเรื่องนี้ได้อย่างดี ทำให้คนที่ดูละครเรื่องนี้หลงใหลได้ปลื้มกับละครเรื่อง ปลายจวัก"

อรรถรสจากละคร "ปลายจวัก" ที่ออกอากาศทางไทยพีบีเอส ถือเป็นพลัง Soft Power อย่างหนึ่ง ที่ผสมกลมกลืนนำความเป็นไทยเมื่อครั้งในอดีต มานำเสนอผ่านคอนเทนต์ที่สร้างสรรค์ ทำให้เห็นว่า การนำเสนอละครในรูปแบบของ ไทยพีบีเอส ที่มุ่งมั่นผลักดันและต่อยอดมรดกทางภูมิปัญญาของไทยนั้น ผ่านกระบวนการที่ต้องอาศัยการวิจัยและเก็บข้อมูลที่สามารถสนับสนุนผลงานได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ เพื่อนำเสนอความเป็นไทยอย่างมีคุณภาพ ไทยพีบีเอส ยังคงมุ่งผลักดัน และขับเคลื่อนการสร้างสรรค์ผลงานละครเพื่อสังคมที่ดีขึ้นให้กับประเทศไทย อย่างมีคุณภาพและมีคุณค่าในการเป็นสื่อละครที่สร้างสรรค์ต่อไป ดังนั้น การส่งเสริมและให้ความรู้เกี่ยวกับมรดกภูมิปัญญาสำรับอาหารไทย จะมีส่วนช่วยให้เกิดการสืบสานต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่รู้รสชาติความอร่อยของอาหารไทยเท่านั้น แต่ยังเข้าใจวัฒนธรรม วิถีชีวิตและแนวคิดของคนไทยอย่างชัดเจน
สำหรับละครเรื่อง "ปลายจวัก" เป็นผลงานละครที่ออกอากาศทางไทยพีบีเอส ช่วงปลายปี 62 – 63 โดยนำเสนอวัฒนธรรมอาหารไทยที่มีอัตลักษณ์อันวิจิตร สะท้อนวิถีชีวิตในยุคสมัยตามประวัติศาสตร์ สอดแทรกความสนุกที่เล่าผ่านชะตาชีวิตของตัวละครและบริบทสังคมในสมัยรัชกาลที่ 5 นำแสดงโดย เต๋า - เศรษฐพงศ์ เพียงพอ, ฟาง - ธนันต์ธรญ์ นีระสิงห์, เนสท์ - นิศาชล สิ่วไธสง และ สายลับ - วีระชัย ขวัญอำไพพันธุ์
ทั้งนี้ ละครเรื่อง "ปลายจวัก" เคยได้รับรางวัลอย่างมากมาย อาทิ
- รางวัลสื่อสารมวลชนดีเด่น ด้านการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ ประเภทละครโทรทัศน์ประจำปี 2564
- รางวัล สื่อสร้างสรรค์คุณธรรมอวอร์ด ประจำปี 2563 ประเภทละคร
- รางวัล บทละครโทรทัศน์ดีเด่น โทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 35
สามารถรับชมละครเรื่อง "ปลายจวัก" ย้อนหลังได้ทาง www.thaipbs.or.th/PlaiJaWak และ www.VIPA.me หรือเลือกเพลิดเพลินไปกับเนื้อหาคุณภาพผ่านทาง VIPA Application ทั้ง iOS และ Android รวมถึง Smart TV
สามารถติดตามไทยพีบีเอสทุกช่องทางออนไลน์ ได้ที่
▪ Social Media Thai PBS : Facebook, YouTube, X (Twitter), LINE, TikTok, Instagram
▪ Website : www.thaipbs.or.th
▪ Application : Thai PBS