ไทยพีบีเอส เข้ารายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2565 ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 66 องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส รับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2565 ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 10 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) 

รายชื่อผู้เข้าชี้แจงที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

  • รศ. ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานกรรมการนโยบาย ส.ส.ท.
  • รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท.
  • นายอนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ด้านเทคโนโลยีการกระจายสื่อ
  • นายเจษฎา อนุจารี กรรมการบริหาร
  • นางสาวกนกพร ประสิทธิ์ผล กรรมการบริหารและผู้อำนวยการสำนักดิจิทัล


รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล
ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส นำเสนอรายงานประจำปี 2565 ว่า ไทยพีบีเอสได้ประกาศเป้าหมายด้านภาพลักษณ์ไว้ว่า "คุณค่าที่ยึดโยงกับประชาชน" ซึ่งได้ดำเนินการที่สะท้อนการ "ยึดโยง" ไว้ในทุกพันธกิจของสื่อสาธารณะ ในครั้งนี้ โดยนำเสนอ 6 เรื่อง ได้แก่

1. การยึดโยงผ่านการพัฒนาบริการและผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองประชาชนได้หลากหลายกลุ่มมากขึ้น ตามพฤติกรรมและความสนใจ ตามภูมิทัศน์สื่อใหม่ และที่สำคัญคือ ตามพันธกิจที่ไม่ทอดทิ้งกลุ่มที่ตกหล่นจากระบบตลาด เช่น กลุ่มคนพิการ กลุ่มเด็ก เป็นต้น นอกจากบริการโทรทัศน์ช่องหมายเลข 3 แล้ว มี ALTV ช่องหมายเลข 4 ซึ่งเป็นบริการเพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็ก และมีบริการออนไลน์ ทั้งเว็บไซต์ วิดีโอออนดีมานด์ แอปพลิเคชัน และโซเชียลมีเดีย บริการในรูปแบบวิดีโอคอนเทนต์บนไทยพีบีเอส Digital Platform ทุกช่องทางมีผู้เข้าชมกว่า 2.1 พันล้านตลอดทั้งปี และได้รับการประกาศจาก Social Media Award ให้เป็นแบรนด์สื่อทีวีดิจิทัลอันดับ 4 ที่ทำผลงานดีที่สุดบนโซเชียลมีเดียของปีนี้

2. การ "ยึดโยง" กับประชาชนผ่านการสร้างสรรค์เนื้อหาที่มุ่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เช่น การจัดทำวาระ "ลดความเหลื่อมล้ำสร้างสังคมเป็นธรรม" โดยมีทั้งการนำเสนอข่าวสารและสารคดี ที่ชี้ให้เห็นประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และจัดระดมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเพื่อหาทางลดความรุนแรงของผลกระทบ ดังตัวอย่างที่ถูกอ้างอิงถึงอย่างมาก คือประเด็น "คนจนเมือง" และ "เด็กหลุดจากระบบการศึกษา" ซึ่งมีการขยายผลจากสารคดีไปสู่โมเดลการแก้ปัญหาเชิงนโยบายที่เป็นรูปธรรม (เช่น มาตรการรองรับการจัดพื้นที่ค้าขายหาบเร่แผงลอยรอบสวนลุมพินี) ในด้านความคุ้มค่าของการทำวาระลดความเหลื่อมล้ำนี้ มีผลประเมินโดยศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ ศึกษาเฉพาะ 1 กรณีใน สารคดีชุดคนจนเมือง พบว่าก่อให้เกิดมูลค่าตอบแทนเท่ากับ 22.12 เท่าของต้นทุนผลิต


3. เหตุการณ์ใหญ่แห่งปี 2565 คือ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม. ซึ่งไทยพีบีเอสได้แสดงบทบาทที่แตกต่างไปจากเพียงแค่การสื่อข่าว แต่ได้จัดทำวาระ "ปลุกกรุงเทพฯ เปลี่ยนเมืองใหญ่" ชวนภาคีกว่า 80 องค์กรมารวบรวมข้อเสนอนโยบายจากประชาชน ทำให้เกิดกระแสความตื่นตัว มีจำนวนผู้เข้าชม หรือ Engagement ในทุกช่องทางเผยแพร่ของไทยพีบีเอสเพิ่มขึ้น เช่น มียอดผู้ชมแบบ Realtime ทางเว็บไซต์ถึง 2.7 ล้านเพจวิวในวันเลือกตั้ง ทั้งนี้ การทำวาระพิเศษทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำ และ ปลุกกรุงเทพฯ ได้มีผลสำรวจการยอมรับจากประชาชน ให้ไทยพีบีเอสเป็นสื่อที่มีบทบาทและคุณค่าในการจัดวาระสำคัญทางสังคม

4. ในด้านการนำเสนอข่าวสารที่ซื่อตรงต่อจรรยาบรรณ โดยเฉพาะในภาวะวิกฤติที่เป็นความเดือดร้อนและเป็นความสูญเสียของพี่น้องประชาชนนั้น ไทยพีบีเอสได้รับการจัดลำดับเป็นแบรนด์ข่าวที่น่าเชื่อถืออันดับ 1 จากสถาบันรอยเตอร์ ที่แสดงให้เห็นว่ามีคนจำนวนมากใช้บริการข่าวสารของไทยพีบีเอสอย่างสม่ำเสมอ และมีผลประเมินความนิยมของประชาชน ให้เป็นลำดับที่ 1 ของทีวีดิจิทัล ในมิติของการนำเสนอเนื้อหาที่เป็นข้อเท็จจริง เชื่อถือได้ มุ่งลดความขัดแย้งและสร้างความเป็นธรรม


5. ปี 2565 นับเป็นปีที่ไทยพีบีเอสสร้างความโดดเด่นในเรื่องของการสื่อสารมิติวัฒนธรรมและการเรียนรู้ผ่านรายการสาระประโยชน์และสาระบันเทิง
ซึ่งมีผลสำรวจความพึงพอใจจากประชาชนว่า เป็นการแสดงบทบาทในฐานะโรงเรียนของสังคมที่สร้างการเรียนรู้แบบ "หยั่งรากวัฒนธรรม เพื่อเข้าใจตัวตน และพร้อมขับเคลื่อนสู่การเป็นพลเมืองโลก" โดยเฉพาะละครจากเจ้าพระยาสู่อิรวดี ได้รับการยกย่องว่า ช่วยพาสังคมก้าวข้ามอคติระหว่างเชื้อชาติ และยังทำให้เกิดกระแสความตื่นตัวในการสืบค้นเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอย่างมาก อีกตัวอย่างคือ สารคดีชุดโนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน ซึ่งทำหน้าที่สืบสานภูมิปัญญาไปพร้อมกับการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในระดับท้องถิ่น

6. พันธกิจที่แตกต่างจากสื่อทั่วไป คือ การสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมของภาคพลเมือง ผ่านการใช้เครื่องมือสื่อดิจิทัลที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้ตัดสินใจบนฐานข้อมูลวิชาการ เช่น การนำภาพอนาคตหรือข้อมูลจากการวิเคราะห์ฉากทัศน์เรื่องวิกฤติภัยแล้งของพื้นที่มาระดมความเห็นผ่านแอปพลิเคชัน และถ่ายทอดผ่านรายการฟังเสียงประเทศไทย เป็นต้น


ปี 2565 เป็นปีเริ่มต้นของการใช้แผนยกระดับทั้งองค์กรสู่ Digital Transformation เพื่อให้ไทยพีบีเอสมีบริการที่สนองตอบประชาชนได้อย่างมีคุณภาพขึ้น
และเพื่อหนุนเสริมการต่อยอดบทบาทการเป็นพื้นที่สาธารณะของประชาชนในการติดตามตรวจสอบนโยบาย และแสวงหาทางออกร่วมกันด้วยปัญญา

สำหรับรายชื่อผู้เข้าร่วมอภิปราย ในครั้งนี้มี 11 ท่าน อาทิ

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กล่าวว่า ขอชื่นชมการเผยแพร่นำเสนอข้อมูลที่รอบด้าน น่าเชื่อถือ ทันท่วงที ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงในสังคม ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของไทยพีบีเอส โดยมีการนำเสนอช่องทางที่หลายหลาย ทั้งทีวี และออนไลน์ มีหลายรายการฟังเสียงประเทศไทย ขับเคลื่อนเมืองสีเขียว สตาร์ทอัพ โนรา รวมถึงการให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม น้ำเสียขยะ ด้านสภาพภูมิอากาศ

"อยากให้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับเด็ก ให้ความสำคัญสื่อสำหรับเด็กในสื่อหลัก การประกอบธุรกิจ ทักษะด้านเอาตัวรอด การจัดการอบรม และทักษะการรู้เท่าทันสื่อ การนำเสนอซอฟต์พาวเวอร์ไทย ผ่านช่องทาง Thai PBS World เสนอเรื่องวิถีชีวิต การท่องเที่ยว กีฬาอาหาร"


นางสาวภคมน หนุนอนันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และรองโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า ชื่นชมความเป็นกลาง การเป็นสื่อที่ให้ความช่วยเหลือ เข้าถึงคนพิการ ยอดผู้ติดตามในสื่อออนไลน์ แต่เนื่องจากไทยพีบีเอสเสนอรายการดีแต่ไม่มีคนดู เรตติ้งในทุกแพลตฟอร์ม อยู่ในระดับที่ 16 จึงขอเสนอเพิ่มบทบาทจากผู้ผลิตสื่อทางการศึกษา เป็นผู้ผลิตแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วย เพื่อให้เด็กเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้


นายณพล เชยคำแหง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หนองบัวลำภู เขต 3 พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ชื่นชมรายการเด็กและเยาวชน ความเป็นไทย ซื่อตรง ปราศจากผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ เสนอแนะให้ช่วยจัดรายการพหุวัฒนธรรมของแต่ละภูมิภาค มีผู้สื่อข่าวเชิงวัฒนธรรม ให้กำลังใจในการพัฒนาสู่การเป็นสื่อที่ดี ตอบสนองนโยบายที่เป็นสื่อที่ทำประโยชน์ประชาชน
นางสาวสิริลภัส กองตระการ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า ชื่นชมความเป็นกลาง ผลิตเนื้อหาสร้างสรรค์เป็นประโยชน์พัฒนาทันยุคสมัยได้รับการยอมรับในทำหน้าที่สื่อสาธารณะ อยากเพิ่มข้อเสนอแนะเรื่องสุขภาพจิต ซึ่งการมีรายการ "บ้านพลังใจ" เป็นพลังความรู้ เป็นก้าวแรกที่ดีมากแต่ควรมีเพิ่มมากขึ้นกว่านี้ เนื้อหาช่องทางเนื้อหาเน้นการเรียนรู้ สารประโยชน์บันเทิง ชวนระดมความเห็นให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน


นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า หัวใจสำคัญการเป็นสื่อสาธารณะคือการรักษาความน่าเชื่อถือความถูกต้องการนำเสนอข่าวที่ปราศจากอคติ ตรวจสอบรอบด้านเสนอประเด็นทุจริต จึงชื่นชมหลักการทำงานของไทยพีบีเอส ทั้งยังมีการนำเสนอละครหลายเรื่อง ทั้งจากเจ้าพระยาสู่อิรวดี ที่มองคนที่เท่ากัน หรือเรื่องจดหมายที่ไม่ถูกเปิด เป็นละครที่ให้ทั้งความบันเทิงและความรู้ แต่อยากเสนอให้ไทยพีบีเอสเป็นแกนหลักระดมฝ่ายต่างๆ มาหาแนวทางส่งเสริมความเป็นธรรมให้แก่ผู้ที่อยู่ในกระบวนการผลิต เช่น ค่าตอบแทนตามลิขสิทธิ์ด้วย รวมดูแลค่าตอบแทนหรือลิขสิทธิ์อย่าเป็นธรรมและร่วมกันหาทางออก


รับชมการรายงานผลการปฏิบัติงานของ ส.ส.ท. ประจำปี 2565 ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้ที่ www.thaipbs.or.th/Report2565YouTube  และ www.thaipbs.or.th/AnnualReport

Quote

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวประชาสัมพันธ์

บทสัมภาษณ์ผู้บริหาร

ข่าวกิจกรรม

กลับขึ้นด้านบน