ย้อนกลับไปเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2564 ถือเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญสำหรับศิลปะ “โนรา” ที่ได้รับการบันทึก จดจำ และร่วมเฉลิมฉลองในฐานะ “มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” (Intangible Cultural Heritage) โดยองค์การยูเนสโก
นัยยะสำคัญของก้าวย่างนี้ คือ การที่ทั่วโลกได้ร่วมกันชื่นชม “ศิลปะที่ยังมีลมหายใจ” และยังอยู่ในวิถีชีวิตของคนในชุมชน จนถึงวันนี้โนราผ่านย่างก้าวแห่งความเปลี่ยนแปลงมาหลายชั่วอายุคน สะท้อนถึงพลวัตทางวัฒนธรรมในดินแดนภาคใต้ของประเทศไทย และการเชื่อมโยงสู่ชุมชนโลกสากล
“ในรอยโนรา” สารคดีที่จะพาไปสำรวจรอยทางของ “วิถีโนรา” ที่เป็นมากกว่าการสืบสาน “ศิลปะ” การร้องรำ หากแต่ยังเป็นการสืบต่อ “จิตวิญญาณ” ของครูผ่านศรัทธา ความเชื่อ และความทรงจำ ผ่าน 3 องก์
องก์ที่ 1 ในรอยโนรา
ย้อนตำนาน “ครูต้น” ผ่านบทร้อง ท่วงท่าร่ายรำ และพิธีกรรมโรงครู ทำให้เห็น “รากเหง้า” เดียวกันของโนรา สัมพันธ์กับความเชื่อ “ครูหมอตายาย” หรือผีบรรพบุรุษในวิถีวัฒนธรรมถิ่นใต้ สะท้อนผ่านประเพณีสารทเดือนสิบ
องก์ที่ 2 ในโรงโนรา
พาเข้าสู่ “โรงครู” พื้นที่พิเศษที่เปลี่ยนผ่าน “โนราดิบ” หรือโนราทั่วไปสู่ “ราชครูโนรา” ผู้รับมอบกรรมสิทธิ์จากครู ในการทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่าง “โลกศักดิ์สิทธิ์” ของวิญญาณบรรพชนกับ “โลกสามัญ” ของลูกหลานโนรา
องก์ที่ 3 ในโลกโนรา
เมื่อโลกของโนราเปิดออก ในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ด้วยการสร้างสรรค์รูปแบบการสื่อสารใหม่ หากโนรายังคงรักษา “จิตวิญญาณ” ไว้อย่างเข้มแข็ง
ร่วมสำรวจรอยทางของวิถีโนรา ในสารคดี “ในรอยโนรา” วันจันทร์ที่ 2 มกราคม 2566 เวลา 11.05 น. ทางไทยพีบีเอส หรือรับชมทางออนไลน์ Website : www.thaipbs.or.th/live