ไทยพีบีเอส-กรมพินิจฯ-กสศ.-มูลนิธิกุมุท จันทร์เรือง ร่วมสร้าง “เปลี่ยนนักล่า ให้เป็นนักเล่า”

วันที่ 22 ธันวาคม 2564 รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส พร้อมด้วย นายณัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์ รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ให้การต้อนรับ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม คุณนิสา แก้มแกมทอง นักบริหารแผนงาน (นักวิชาการอาวุโส) สำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พร้อมด้วย “ครูช่าง” นายชนประคัลภ์ จันทร์เรือง ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง ในนามมูลนิธิกุมุท จันทร์เรือง

เพื่อร่วมประชุมแลกเปลี่ยนถึงแนวทางการร่วมมือในโครงการ “เปลี่ยนนักล่า ให้เป็นนักเล่า” โดยเป็นการพัฒนาต่อยอดจากเรื่องเล่าเยาวชนก้าวพลาดที่อยู่ในความดูแลของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จำนวน 4 เรื่องเล่า สู่การนำเสนอในรูปแบบซีรีส์ 4 ตอน ซึ่งมีแผนร่วมมือดำเนินงานผลิตและออกอากาศทางไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3 ในช่วงกลางปี 2565

 

สำหรับโครงการ “เปลี่ยนนักล่า ให้เป็นนักเล่า” เกิดขึ้นจากสถิติของเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่กระทำความผิดและถูกควบคุมตัวในสถานพินิจฯ มีจำนวนร่วม 21,125 คน และจำนวนร่วม 4,016 คน ถูกศาลตัดสินให้เข้ารับการฝึกอบรมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ภายใต้ความดูแลของศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนฯ ในสังกัดของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม

โดยชุมชนและบ้านเรียนละครมรดกใหม่ ภายใต้มูลนิธิกุมุท จันทร์เรือง ได้มีการใช้ละครและกระบวนการเรียนรู้ผ่านละคร ในการฝึกฝนและขัดเกลาเยาวชนก้าวพลาดในศูนย์ฝึกอบรมฯ จำนวน 5 แห่ง ผลลัพธ์ที่สำคัญ คือ เยาวชนก้าวพลาดที่ได้ผ่านการฝึกอบรมกระบวนการละคร ได้กลับไปฝึกฝนทักษะละคร จัดตั้งเป็นชมรม ทำกิจกรรมควบคู่กับการพัฒนาการเรียนรู้ภายในศูนย์ฯ อย่างต่อเนื่อง

และสิ่งที่สะท้อนให้เห็นคือ เยาวชนมีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน ได้แก่ มีความนับถือในตัวเองเพิ่มขึ้น สามารถควบคุมความคิด อารมณ์และการกระทำ ให้ไปสู่เป้าหมายใหม่ในชีวิตได้ และที่สำคัญคือ ในโอกาสต่อมา เยาวชนก้าวพลาดเหล่านั้น สามารถตั้งหลักในชีวิตเป็นพลเมืองที่มีคุณค่าของสังคมได้

โดยในปี 2565 นี้ โครงการ “เปลี่ยนนักล่า ให้เป็นนักเล่า” มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กและเยาวชนในศูนย์ฝึกฯ จำนวน 57 คน จากศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนในสังกัดกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จำนวน 4 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์ฝึกอบรมฯ ปรานี จังหวัดนครปฐม, ศูนย์ฝึกอบรมฯ อุเบกขา จังหวัดนครปฐม, ศูนย์ฝึกอบรมฯ กรุณา จังหวัดสมุทรปราการ และศูนย์ฝึกอบรมฯ จังหวัดราชบุรี

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาทักษะการเล่าเรื่องสู่อาชีพแก่เยาวชนก้าวพลาดในศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน ให้เด็กและเยาวชนก้าวพลาดได้ตั้งหลักใหม่ เห็นคุณค่าในตัวเอง สร้างความอุตสาหะในการประกอบสัมมาชีพเมื่อครบกำหนดฝึกอบรม และเพื่อสร้างพื้นที่ตลาดออนไลน์ แขวนผลงานเรื่องเล่าของเยาวชนก้าวพลาดฯ ในรูปแบบซีรีส์ 4 ตอน เพื่อเป็นการสร้างนวัตกรรมและการสร้างรายได้จากเรื่องเล่าของเยาวชนที่อยู่ในศูนย์ฝึกอบรมฯ อีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวประชาสัมพันธ์

บทสัมภาษณ์ผู้บริหาร

ข่าวกิจกรรม

กลับขึ้นด้านบน