ไทยพีบีเอส เข้ารายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2562 ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

โดยมีผู้เข้าร่วมรายงาน 4 ท่าน ได้แก่ รศ.จุมพล รอดคำดี ประธานกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. นายอนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ด้านปฏิบัติการ และ นายเจษฎา อนุจารี กรรมการบริหารอื่น

รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท.นำเสนอรายงานผลการปฏิบัติงาน บทบาทภารกิจของ ส.ส.ท.ประจำปี 2562 ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยรายงานเชื่อมโยงมายังสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ไทยพีบีเอส แสดงบทบาทสื่อสาธารณะในภาวะที่ประเทศเผชิญวิกฤตด้วยการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน รวมถึงการตรวจสอบ Fake News การให้สาระความรู้ ส่งต่อกำลังใจ เชื่อมเครือข่ายความช่วยเหลือ และนำเสนอเนื้อหาข่าว รายการ ให้เห็นถึงผลกระทบ ซึ่ง ไทยพีบีเอส เป็นสื่อแรกที่เปิดประเด็นเรื่องฉากทัศน์ ภายใต้การทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญสาธารณสุข โดยปรับผังรายการเกือบ 90% และปรับผังรองรับช่วงปิดเทอมสามเดือนของเด็กและครู ด้วยการทำกลุ่มรายการช่วงสนุกเรียน จนต่อยอดมาเป็นบริการใหม่ของ ไทยพีบีเอส คือ ช่อง ALTV ช่อง 4 ทีวีเรียนสนุก ที่เริ่มทดลองออกอากาศไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ ไทยพีบีเอส สามารถปรับตัวภายใต้วิกฤตได้รวดเร็ว และสนองตอบความต้องการเข้าถึงข่าวสารและการเรียนรู้ของทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่ใช่เป้าหมายของสื่อพาณิชย์ เนื่องจาก ไทยพีบีเอส มีความเป็นอิสระด้านบรรณาธิการ ที่ยึดมั่นอยู่บนประโยชน์ของสาธารณะ ปราศจากแรงกดดันจากกลุ่มทุนและการเมือง จึงสร้างความมั่นใจในการเป็นที่พึ่งร่วมฝ่าวิกฤตกับประชาชน และในกรณีกราดยิงที่โคราช เมื่อต้นปี 2563 นั้น ที่ ไทยพีบีเอส ได้รับกระแสความชื่นชมยกให้เป็นอันดับหนึ่งของสื่อที่รายงานข้อเท็จจริงอย่างรวดเร็ว ภายใต้กรอบจรรยาบรรณ และมีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างสูง ดังนั้น สิ่งเหล่านี้สามารถสะท้อนได้จากผลประเมินความพึงพอใจและบทบาทการเป็นสื่อสาธารณะของ ไทยพีบีเอส ในปี 2562 พบว่า 98% ของกลุ่มตัวอย่างเห็นว่า ไทยพีบีเอส ทำหน้าที่เป็นสื่อสาธารณะได้ดี โดยให้เหตุผลเรียงตามลำดับคะแนน คือ มีการรายงานข่าวอย่างเป็นกลาง ไม่บิดเบือนความจริง อยู่ในกรอบจริยธรรม ทันเหตุการณ์ และเปิดโอกาสให้ทุกเสียงของประชาชน

ด้านกลุ่มรายการ พบว่ากลุ่มรายการข่าว สารคดี และวาไรตี้ครอบครัว เป็นสามกลุ่มรายการที่ได้รับความพึงพอใจสูงสุด ด้วยการยึดหลักรายงานข่าวสารที่มุ่งเน้นการร่วมหาทางออกให้สังคม บนฐานของข้อมูลและปราศจากอคติ จึงมีผลงานข่าวที่สร้างความโดดเด่นในปี 2562 หลายผลงาน อาทิ การเกาะติดขับเคลื่อนประเด็นสารเคมีทางการเกษตร ไทยพีบีเอส เป็นผู้จุดประเด็น นำเสนออย่างรอบด้านต่อเนื่องกว่าสามปี โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตของประชาชน การประเมินผลตอบแทนทางสังคม โดยศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า ทุก ๆ หนึ่งบาทที่ ไทยพีบีเอส ลงทุนไปในการขับเคลื่อนประเด็นสารเคมีการเกษตร จะส่งผลตอบแทนต่อสังคมประมาณ 81 - 106 บาท ซึ่งถือว่าก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมในระดับสูงมาก

นอกจากนี้ มีเหตุการณ์ที่ ไทยพีบีเอส ทำให้กลายเป็นวาระทางสังคมอีกหลายเรื่อง ได้แก่ การติดตามนโยบายของพรรคการเมืองจากการเลือกตั้งทั่วไป โดย ไทยพีบีเอส ได้ทำงานร่วมกับภาคีต่าง ๆ ในนามของเครือข่ายส่งเสียงประชาชนให้ไปไกลกว่าการเลือกตั้ง ที่มีการสกัด 5 วาระหลักจากเวทีประชาชนทั่วประเทศมาทำหน้าที่ติดตาม และยังมีประเด็นการเร่งแก้ปัญหาฝุ่นคลุมเมือง ภัยแล้ง ภัยพิบัติภาคใต้ วิกฤตแม่น้ำโขง การลักลอบทิ้งขยะพิษ เส้นทางยาเสพติดข้ามชาติ ซึ่งในทุกประเด็นเหล่านี้ ไทยพีบีเอส เน้นทำงานกับภาคีทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่จะได้รับการตรวจสอบ วิเคราะห์และย่อยข้อมูล เพื่อนำเสนอต่อภาคนโยบายและต่อการรับรู้ของสาธารณะ โดย ไทยพีบีเอส ใช้ช่องทางทุกรูปแบบในการสื่อสาร เพื่อให้เรื่องสำคัญเหล่านี้ไปถึงคนทุกกลุ่มที่มีความสนใจรับรู้ข่าวสารสาระแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น การรายงานข่าวแบบวิเคราะห์และเจาะลึกในช่อง ไทยพีบีเอส หมายเลขสาม ซึ่งผู้ชมส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัย 40 ปีขึ้นไป การผลิตเป็นรูปแบบข่าวสรุปย่อในไทยพีบีเอสออนไลน์ หรือการเล่าด้วย VDO Clip ใน YouTube และ Line การผลิตเป็นสื่อเสียงใน Podcast รวมถึงการใช้แอปพลิเคชัน C-Site เพื่อชวนคนรุ่นใหม่มาร่วมปักหมุดจุดประเด็น ให้เกิดการระดมข้อมูลร่วมจากภาคพลเมือง เป็นต้น

การมุ่งขยายงานด้วย Multi-Media Platform และ Transmedia อย่างเต็มรูปแบบในปี 2562 ทำให้ผู้รับสื่อที่มีความแยกย่อยหลากหลาย เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากไทยพีบีเอสมากขึ้น โดยเฉพาะคนในกลุ่มวัย 24 – 35 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่สุดของผู้ใช้บริการ ทั้งนี้ Website Thai PBS มียอดสมาชิก 11.9 ล้าน UIP, Twitter มีผู้ติดตาม 2.8 ล้านคน และ Line Application ที่ 5 ล้านคน เป็นต้น

ดังนั้น การพิจารณา “ความคุ้มค่า” ของ ไทยพีบีเอส จึงต้องพิจารณาจากสถานะของความเป็นสื่อสาธารณะที่มีหน้าที่หลายด้าน และต้องเข้าถึงประชาชนหลากหลายกลุ่ม ไม่ใช่เพียงการเข้าถึงในเชิงปริมาณ แต่เป็นการเข้าถึงในเชิงสาระ คุณค่า ประโยชน์ และโอกาสในการเป็นพื้นที่กลางสำหรับทุกเสียง โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมถึงการพิจารณาความทั่วถึง ด้วยการให้บริการสัญญาณทีวีดิจิตอลที่ครอบคลุมร้อยละ 97 ของครัวเรือน และการให้บริการอย่างทั่วถึงในกลุ่มผู้พิการทางการได้ยิน และการมองเห็น ด้วยคำบรรยายแทนเสียง คำบรรยายแทนภาพ ล่ามภาษามือ เฉลี่ยวันละ 3 ชั่วโมง 8 นาที รวมถึงการให้บริการ Big Sign หรือภาษามือที่ดูได้เต็มจอในโทรศัพท์มือถือ และ ไทยพีบีเอส เป็นเพียงสื่อเดียวที่ให้บริการ Live Captioning ในการถ่ายทอดงานพระราชพิธีสำคัญ

ด้านความคุ้มค่าของ ไทยพีบีเอส สามารถพิจารณาได้จากความทั่วถึงของเนื้อหาสาระ ที่ครอบคลุมมิติคุณค่าความเป็นมนุษย์ของทุกกลุ่ม ไทยพีบีเอส ได้ลงทุนสร้างสรรค์งานที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม และสร้างเสริมภูมิปัญญาไทย หลายโครงการ ดังจะเห็นได้จากผลงานที่โดดเด่นในปี 2562 ได้แก่ ละครอิงประวัติศาสตร์ชุด “ปลายจวัก” ที่ว่าด้วยวัฒนธรรมอาหารไทย ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตและสืบทอดความคิดของผู้คน สารคดีชุด “เธอ เขา เรา ใคร” ที่ไปค้นหาคำตอบว่าคนไทยมาจากไหน เพื่อกลับมายืนยันในคุณค่าของการเป็นสังคมไทยที่เคารพความหลากหลาย หรือสารคดีชุด “ไตรปิฏก” คำสอนมีชีวิต สารคดีรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการขยะ ชุด “366 วันเพื่อเจ้าพระยา” และชุด “สะอาดบุรี” นอกจากนั้นยังมีซีรีส์ที่มุ่งสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชน งานสร้างสรรค์เนื้อหาในรูปแบบละคร สารคดี หรือซีรีส์เหล่านี้ ได้รับกระแสตอบรับจากผู้ชมที่เข้าชมผ่านช่องทางต่าง ๆ ของ ไทยพีบีเอส ว่าเป็นรายการที่เป็นต้นแบบสมกับความเป็นสื่อสาธารณะ คือ ผลิตอย่างมีคุณภาพสูง ทัดเทียมสื่อสากล มีเนื้อหาสาระที่มีคุณค่า นำไปใช้ประโยชน์ได้ และน่าภาคภูมิใจ

ทั้งนี้ ผลการประเมิน ไทยพีบีเอส โดยหน่วยงานวิชาการภายนอก ได้ข้อสรุปว่า ความน่าเชื่อถือ ความเป็นธรรม ความกล้าหาญ เป็นที่พึ่งได้ของประชาชน และการมีเนื้อหาสาระที่หลากหลาย เป็นคุณค่าสูงสุดและเป็นภาพลักษณ์ของ ไทยพีบีเอส ที่ประชาชนนึกถึงและเชื่อมั่น ควบคู่ไปกับการยอมรับในบทบาทและคุณค่าของการเป็นสื่อที่สร้างเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้แก่สังคม และคุณค่าเรื่องการเปิดพื้นที่ระดมความร่วมมือทางปัญญาให้แก่ภาคพลเมืองที่ยกระดับกลายเป็นฐานความรู้ของสาธารณะในการแก้ไขปัญหาหลายเรื่อง รวมทั้งยังมีผลประเมินจากการชี้วัดด้วยเครื่องมือ Quality Rating อีกหลายด้าน

 

ไทยพีบีเอส ยังมีพันธกิจสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ในรูปแบบของการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาร่วมฝึกอบรมตลอดทั้งปี รวมถึงการสร้างนักข่าวพลเมืองเกือบสองพันคน และการจัดกระบวนการรับฟังโดยสภาผู้ชมผู้ฟังรายการไทยพีบีเอส ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนและกลุ่มประเด็นต่าง ๆ จากทั่วประเทศ

ในส่วนของการทบทวน พ.ร.บ. ตามมาตรา 51 ได้ตั้งคณะทำงานทบทวน พ.ร.บ. ชุดที่สอง ที่กำลังรวบรวมผลจากการจัดกระบวนการรับฟังเพิ่มอีกหลายกลุ่ม ซึ่งคาดว่าจะสรุปผลได้ภายในปี 2563 นี้

ทั้งนี้ ในปี 2563 ต่อเนื่องไปถึงปี 2564 ด้วยตัวเร่งสถานการณ์ปัญหาของโควิด-19 ที่ความเหลื่อมล้ำและปัญหาสังคมจะมากขึ้นนั้น บทบาทของสื่อสาธารณะที่เป็นอิสระจากทุนยิ่งมีความจำเป็น ซึ่ง ไทยพีบีเอส ได้เตรียมพร้อมมุ่งวางบทบาทเป็นสื่อเพื่อแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่กำลังเผชิญภาวะเปราะบางมากที่สุด และจะตอกย้ำบทบาทสื่อสาธารณะผ่านช่อง ALTV ช่อง 4 ทีวีเรียนสนุก ให้เป็นสื่อสร้างการเรียนรู้ สำหรับเด็ก ครู ครอบครัว และชุมชน เพื่อเสริมทิศทางการปฏิรูปในทุกด้าน เพราะสิ่งเหล่านี้คือ ความรับผิดชอบที่ประชาชนได้มอบความไว้วางใจและความเชื่อถือให้แก่ไทยพีบีเอส ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดที่สื่อสาธารณะจะทำหน้าที่โอบอุ้มสังคมในข้ามผ่านวิกฤตนี้ไปได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวประชาสัมพันธ์

บทสัมภาษณ์ผู้บริหาร

ข่าวกิจกรรม

กลับขึ้นด้านบน