แถลงเตรียมยุติโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกประเทศไทย ภายในปี 2561

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2558 สำนักงาน กสทช.ไทยพีบีเอส (Thai PBS) ช่อง 5 ช่อง 11 และ ช่อง 9 ร่วมกันแถลงข่าวเตรียมยุติการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อก ณ หอประชุมสำนักงาน กสทช. โดยมี นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเป็นประธานแถลงร่วมกับตัวแทนจากทั้ง 4 ช่อง

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เปิดเผยว่า“มติคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ครั้งที่ 19/2558 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2558 ได้เห็นชอบแผนการยุติการรับส่งสัญญานวิทยุโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกของ 4 สถานี ได้แก่ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส Thai PBS) กองทัพบก (สถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5) กรมประชาสัมพันธ์ (สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11) และ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) (สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ช่อง 9) ตามที่ทั้ง 4 สถานีได้เสนอมายังสำนักงาน กสทช. ซึ่งจะทำให้ทั้ง 4 สถานีนี้ทยอยยุติการออกอากาศในระบบแอนะล็อกภายในปี 2561”

  • สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส Thai PBS
    จะเป็นสถานีแรกที่เริ่มทยอยยุติการออกอากาศในระบบแอนะล็อก ภายในปี 2558 ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เชียงใหม่ (ไชยปราการ) และสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) จากนั้นปี 2559 จะยุติในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด สกลนคร ระยอง ตรัง บีงกาฬ อุดรธานี น่าน ตราด แพร่ ระนอง สตูล เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา ชลบุรี สระบุรี นครราชสีมา (ชุมพวง) ขอนแก่น (ชุมแพ) นครศรีธรรมราช (ทุ่งสง) ลำปาง (เถิน) พังงา (ตะกั่วป่า) แม่ฮ่องสอน (แม่สะเรียง) และเชียงราย (เวียงป่าเป้าและเชียงของ) ก่อนทยอยยุติในปี 2560 เพิ่มในพื้นที่จังหวัดสงขลา สระแก้ว นครสวรรค์ มุกดาหาร นครราชสีมา สุรินทร์ นครศรีธรรมราช ชุมพร แม่ฮ่องสอน ตาก เลย สุโขทัย เพชรบูรณ์ ลำปาง กาญจนบุรี ชัยภูมิ สุราษฎร์ธานี ยะลา ขอนแก่น สิงห์บุรี และภูเก็ต และปี 2561 ในกรุงเทพมหานคร เชียงราย และเชียงใหม่
  • สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง  5
    จะเริ่มยุติออกอากาศในระบบแอนะล็อก ภายในปี 2560 ในพื้นที่จังหวัด ร้อยเอ็ด เลย ชัยภูมิ และอุบลราชธานี (เมืองอุบลราชธานี) ก่อนทยอยยุติในปี 2561 ในกรุงเทพมหานคร นครศรีธรรมราช เพชรบูรณ์ ตราด ระนอง ภูเก็ต แพร่ ประจวบคีรีขันธ์ หนองคาย ลำปาง สุราษฎร์ธานี ตาก นราธิวาส ระยอง สกลนคร น่าน เชียงใหม่ บุรีรัมย์ สตูล ชุมพร นครสวรรค์ ตรัง สงขลา สระแก้ว นครราชสีมา มุกดาหาร อุบลราชธานี ขอนแก่น พิษณุโลก เชียงราย ชลบุรี พะเยา แม่ฮ่องสอน และยะลา
  • ส่วน สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11
    จะดำเนินการยุติการให้บริการโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกทั้งประเทศ ภายในปี 2560 และสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ช่อง 9 ดำเนินการยุติการให้บริการ โทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกทั้งประเทศ ภายในปี 2561ถือเป็นสองสถานีที่ยุติการออกอากาศในระบบแอนะล็อกพร้อมกันทั้งประเทศไม่ทยอยปิดตามพื้นที่

ทั้งนี้ก่อนดำเนินการยุติการรับส่งสัญญานวิทยุโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกของทั้งราย จะพิจารณาถึงความพร้อมของประชาชนในการรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลและความพร้อมในการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลในพื้นที่ที่ทำการยุติการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกเพื่อป้องกันผลกระทบต่อประชาชนจากการดำเนินการดังกล่าวด้วย 

สำหรับ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และ สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 นั้น มีสิทธิในการประกอบกิจการโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อก ตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ของสัญญาต่างตอบแทน ในปี 2563 และปี 2566 ตามลำดับ ซึ่งหากทั้งสองสถานีพิจารณายุติการให้บริการโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกทั้งหมด ภายในปี 2561 ก็จะเป็นการสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถก้าวเข้าสู่ยุคโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลโดยสมบูรณ์

สำหรับรายละเอียดในการทำแผนยุติแอนะล็อก สำนักงาน กสทช. กำลังเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับทราบและจัดทำแผนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบโดยทั่วถึงพร้อมกันทั่วประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวประชาสัมพันธ์

บทสัมภาษณ์ผู้บริหาร

ข่าวกิจกรรม

กลับขึ้นด้านบน