ไทยพีบีเอสเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติ “Thai PBS Public Media Conference and Mini-INPUT 2018” พร้อมการรวมตัวของสื่อสาธารณะทั่วโลก

ไทยพีบีเอส ร่วมกับสถาบันเกอเธ่ องค์กร INPUT (International Public Television) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) จัดการประชุมนานาชาติ “Thai PBS Public Media Conference and Mini-INPUT 2018” ระหว่างวันที่ 15-16 พ.ย.61

โดยได้รับเกียรติจาก นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “คุณค่าของสื่อสาธารณะในศตวรรษที่ 21” ในงานมีการจัดเวทีอภิปรายทางวิชาการหัวข้อต่างๆ อาทิ การนิยามคุณค่าของสื่อสาธารณะ การบริหารสื่อสาธารณะ บทบาทของสื่อสาธารณะต่อการนำเสนอประเด็นทางสังคม การปฏิสัมพันธ์กับสาธารณะ การวัดและการประเมินสื่อสาธารณะเพื่อให้เป็นที่วางใจของสังคม อนาคตและความอยู่รอดของสื่อสาธารณะ

 

นอกจากนั้นยังได้ฉายภาพยนตร์ผลงานของสื่อสาธารณะที่คัดสรรมาจากงาน INPUT 2018 พร้อมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องความท้าทายการทำงานของสื่อในรายการเกี่ยวกับการเมือง รายการเด็ก การใช้ social media ในการนำเสนอเนื้อหารายการ และปิดท้ายด้วยการฉายภาพยนตร์เรื่อง “Under Pressure” ที่สร้างจากประสบการณ์จริงของสื่อสาธารณะในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ พร้อมเสวนาในหัวข้อ “อนาคต ความอยู่รอดของสื่อสาธารณะ” โดยมีสื่อมวลชนวิชาชีพ ผู้ผลิตรายการ นักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศให้ความสนใจเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง

นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาเกี่ยวกับคุณค่าของสื่อสาธารณะ สรุปใจความสำคัญว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ก่อตั้งสื่อสาธารณะ ภายหลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ซึ่งวิกฤตการณ์ในครั้งนั้นคนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่รับทราบข้อมูลหรือความเป็นไปต่างๆ เราไม่ทราบว่าเกิดความเสียหายมากมายขนาดไหนต่อบ้านเมือง เพราะสาธารณชน ไม่สามารถเข้าถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้ เมื่อได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง จึงตั้งใจไว้ว่าจะวางรากฐานเพื่อก่อตั้งสื่อสาธารณะขึ้นในประเทศไทย เพื่อสร้างหลักประกันว่าพลเมืองไทยทุกคน ไม่ว่าจะมีสถานภาพทางสังคม รายได้ ความรู้เพียงใด จะสามารถเข้าถึงข่าวสารข้อมูลที่เป็นกลาง วิสัยทัศน์ในขณะนั้น คือ ส่งเสริมบทบาทของสื่อสาธารณะในฐานะที่เป็นเสียงของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีสื่อที่ให้ความรู้ ให้การศึกษา และมีส่วนร่วมในการถกแถลงประเด็นสาธารณะที่เป็นประโยชน์สำหรับพลเมืองทุกคน รวมทั้งประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกล เราจึงหารูปแบบ ซึ่งแตกต่างจากสื่อเชิงพาณิชย์ และสื่อของรัฐ เพื่อสาธารณประโยชน์ เพื่อให้ประชาชน ทุกคนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ปลอดจากอคติ และมีบริการที่หลากหลาย มีอิสรภาพ และเสรีภาพในการทำงาน หากถามว่าสื่อสาธารณะมีที่ทางอยู่ตรงไหน ท่ามกลางภูมิทัศน์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ผมเชื่อว่า สื่อสาธารณะยังมีอนาคตที่สดใส สื่อสาธารณะเป็นที่รับรองแล้วว่ามีมาตรฐานสูงสุดสำหรับการทำหน้าที่สื่อสำหรับสังคมประชาธิปไตย และสร้างความไว้วางใจ ทั้งนี้สื่อสาธารณะจะต้องแยกแยะบทบาทของตนเองออกจาก สื่อพาณิชย์ โดยสร้างความแตกต่าง และคุณค่าจากคุณภาพ บริการ และเนื้อหาที่นำเสนอ”

 

รศ จุมพล รอดคำดี ประธานกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. กล่าวสรุปถึงงานประชุมนานาชาติ Thai PBS Public Media Conference and Mini-INPUT 2018 ว่า “การจัดงานประชุมนานาชาติครั้งนี้ เกิดขึ้นในโอกาสครบรอบ 10 ปี ไทยพีบีเอส เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจบทบาทและคุณค่าของสื่อสาธารณะ ในระดับสากล ซึ่งกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิตอล มีคำถามมากมายที่เกิดขึ้นจากการประชุมครั้งนี้ ถึงอนาคตของทีวีสาธารณะ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ความน่าเชื่อถือคือสิ่งที่สื่อสาธารณะจะต้องรักษาไว้ ความอิสระ และปลอดจากการแทรกแซงทางการเมือง คือเงื่อนไขแรกที่จะทำให้สื่อสาธารณะสามารถดำเนินงานด้วยความโปร่งใส และมีประสิทธิภาพ สามารถผลิตรายการที่มีคุณภาพในสังคมที่มีข่าวลวง และโฆษณาชวนเชื่อเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ ในยุคที่แนวโน้มการบริโภคสื่อเปลี่ยนแปลงไป ผู้ชมสามารถสร้างเนื้อหาของตัวเองได้ สื่อจึงถูกท้าทายที่ต้องคิดใหม่เรื่องขอบเขตการทำงาน เยาวชนและผู้สูงวัย ถือเป็นผู้ชมกลุ่มแรกที่สื่อสาธารณะต้องให้ความสำคัญเป็นหลัก และออกแบบการเข้าถึงและมีส่วนร่วมกับคนกลุ่มนี้ในมิติใหม่ๆ เพื่อทำให้ผู้ชมเหล่านี้มั่นใจ และไว้วางใจ สื่อสาธาณะต้องทำหน้าที่เป็นสะพาน หรือเวทีสื่อสารเชื่อมโยงบริบทต่างๆในสังคม โดยให้ความสำคัญกับความแตกต่างหลากหลายของสังคม สำหรับภารกิจในปี 2564 ของไทยพีบีเอส คือการสร้างทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น Online On Ground เพื่อมุ่งสู่การเป็นพื้นที่การเรียนรู้สำหรับทุกคน (Learning Space for All) บทบาทของสื่อสาธารณะต้องช่วยส่งเสริมให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับประชาชนด้วยรายการที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการบริการสาธารณะ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์วิกฤตของชาติ ไทยพีบีเอสมุ่งสร้างนวัตกรรมสำหรับการเข้าถึงของสาธารณะ การมีส่วนร่วมและเนื้อหาที่เหมาะกับทุกวัย ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ในยุค การเปลี่ยนแปลงทางดิจิตอล จำเป็นต้องสร้างความร่วมมืออย่างเข้มแข็งกับทุกภาคส่วน เอาชนะความท้าทาย ที่สื่อสาธารณะกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ จึงไม่ใช่คุณค่าที่ทำเพื่อตัวเอง แต่เป็นผลผลิตของนวัตกรรม จินตนาการ และการอุทิศให้กับประชาชน"

ในปี 2562 ไทยพีบีเอสจะร่วมมือกับองค์กร INPUT และสถาบันเกอเธ่ เป็นเจ้าภาพจัดงาน INPUT 2019 หรือการประชุมฉายภาพยนตร์นานาชาติของสื่อสาธารณะ ซึ่งจะนำเสนอผลงานของผู้ผลิตสารคดี และภาพยนตร์ของสื่อสาธารณะ เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลงานและแนวความคิดของผู้กำกับ ภายใต้แนวคิดการเล่าเรื่องเพื่อประโยชน์สาธารณะ (Storytelling in the Public Interest)

สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
www.thaipbs.or.th/PublicMediaConference 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวประชาสัมพันธ์

บทสัมภาษณ์ผู้บริหาร

ข่าวกิจกรรม

กลับขึ้นด้านบน