ไทยพีบีเอสและภาคีร่วมจัดนิทรรศการ "แรงงานไม่มีประวัติศาสตร์"

วันที่ 6 กันยายน 2559 สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ร่วมกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มูลนิธิศิลปวัฒนธรรม แห่งกรุงเทพมหานคร วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) เปิดนิทรรศการ “แรงงานไม่มีประวัติศาสตร์” หวังบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์แรงงานไทยและเยอรมัน ให้ผู้ใช้แรงงานและสาธารณชนทั่วไปเข้าใจอย่างครอบคลุมและลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยการนำเสนอผ่านงานศิลปวัฒนธรรมและการสื่อสารร่วมสมัย โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-11 กันยายน 2559 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

รศ.ดร. ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. กล่าวถึงแนวคิดการจัดงานว่า

“คนงาน แรงงาน ลูกจ้าง คือคนที่ถูกลืม และเป็นคนที่ลืมโลก สังคมนี้ประเทศนี้ไม่เคยยอมรับว่าคนกลุ่มใหญ่ที่สุดในสังคม คือ มนุษย์ค่าจ้าง ระบบการศึกษาบอกว่าเราจำเป็นต้องผลิตคนเพื่อสนองความต้องการของตลาด แต่ระบบการศึกษาไม่เคยบอกเลยว่า เมื่อคุณเข้าสู่ตลาดแรงงาน คุณต้องเป็นลูกจ้าง สิทธิ และหน้าที่ของลูกจ้างคืออะไร ไม่เคยสอน ประวัติศาสตร์ ความเจ็บปวด ความภูมิใจ ความสำคัญ ของลูกจ้างทั้งหลายไม่มีอยู่ในระบบการศึกษา สื่อต่าง ๆ เหมือนกัน

คนงานไม่ใช่บุคคลในข่าว ทั้ง ๆ ที่เขาคือกระดูกสันหลังของระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน หลังจากที่ผมเข้ามาเป็นกรรมการนโยบายไทยพีบีเอส เราพยายามที่จะทำตามวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งของไทยพีบีเอส คือการเปิดพื้นที่สื่อให้ทุกคนเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน

 

แรงงาน คือ กลุ่มคนที่เราปรารถนาให้เข้าไปปรากฏตัว มีตัวตนอยู่ในสื่อของเรา จากนี้ไปขอให้ทุกท่านจงใช้ไทยพีบีเอสให้เป็นประโยชน์ เป็นปากเป็นเสียงของท่าน เพื่อประกาศตัวตนและความคงอยู่ของแรงงานทุกท่าน”

ภายในงานประกอบด้วยนิทรรศการเรื่อง ประวัติศาสตร์แรงงานไทยและเยอรมัน
การสัมมนาวิชาการเรื่องประวัติศาสตร์ไทยเยอรมัน และการเสวนาประเด็นแรงงานร่วมสมัยและศิลปวัฒนธรรมแรงงานในหลากหลายมิติ ได้แก่ เสวนาเรื่อง "ทศนิยมแห่งยุคสมัย : ไทยแลนด์ 4.0 vs แรงงาน 4.0", เสวนาเรื่อง "หนังสือพิมพ์กรรมกร...จากคุ้นเคยกลายเป็นอื่น", เสวนาเรื่อง "กลางเมืองไม่ได้มีแค่โปเกมอน : ซอกหลืบของแรงงานที่ไม่มีใครออกตามหา", เสวนาเรื่อง "มักกะสัน ชักกะเย่อ : พื้นที่…ประวัติศาสตร์… การพัฒนาเมือง" และเสวนาเรื่อง "ตั๋วไม่ร้อน ป๊อปคอร์นไม่มี "แรงงาน" อยู่ตรงไหนในภาพยนตร์" ตั้งแต่วันนี้ – 11 กันยายน 2559 ณ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวประชาสัมพันธ์

บทสัมภาษณ์ผู้บริหาร

ข่าวกิจกรรม

กลับขึ้นด้านบน