14 ปี กับการเดินทางของสื่อสาธารณะ...สื่อที่เคียงข้างประชาชน

กว่า 14 ปี ที่องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส ดำเนินงานสื่อสารมวลชนที่ทำหน้าที่มากกว่าสถานีโทรทัศน์ ถ้าเปรียบก็คงเป็นเหมือนเด็กกำลังก้าวผ่านประตูสู่วัยรุ่น ท่ามกลางกระแสโลกที่แปรปรวน ผ่านสมรภูมิข่าวสารและการเกิดขึ้นของสื่อใหม่อย่างล้นหลามรวดเร็ว

เป้าหมายของการก่อตั้งสื่อสาธารณะแห่งนี้ เป็นสิ่งที่ ไทยพีบีเอส ยึดมั่นไม่เปลี่ยนแปลงอ่อนไหว ยังคงดำเนินการเผยแพร่ข่าวสาร สารประโยชน์ สาระบันเทิง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสังคม บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม

โดยพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 มาตรา 43 ได้ระบุแนวทางการจัดทำเนื้อหาและคุณค่าไว้ว่า ไทยพีบีเอส จะต้องนำเสนอข่าวสารที่มีผลกระทบต่อสาธารณะอย่างเที่ยงตรง รวดเร็ว เป็นธรรม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น บนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้องและสมดุล

ตลอดจนมีรายการที่ส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน รายการบันเทิงที่สร้างสรรค์ รายการส่งเสริมเอกลักษณ์ของความเป็นไทย และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ตลอดจนสนับสนุนให้ผู้ขาดโอกาสในสังคม มีโอกาสแสดงความคิดเห็นหรือนำเสนอข้อมูลของตน

ข้อมูลการวิเคราะห์ผังรายการ ช่วงไตรมาส 3/2564 สถานีโทรทัศน์ Thai PBS 3 HD 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยพีบีเอสให้ความสำคัญกับการรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ขาดโอกาสในสังคมมาอย่างต่อเนื่องและสมดุล โดยเฉพาะกลุ่มผู้ชมที่มักถูกละเลย (Voiceless) จากสื่อเชิงพาณิชย์ อาทิ คนพิการ และกลุ่มคนเปราะบางในสังคม ดังข้อมูลย้อนหลัง 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2562 – 2564) ไทยพีบีเอส ได้นำเสนอข่าวพิเศษสะท้อนปัญหาเพื่อนำไปสู่การแก้ไขร่วมกับหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ

อาทิ ปัญหาคนเร่ร่อนไร้ที่พึ่ง ขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข กลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกร้องสิทธิในที่ทำกิน ปัญหาการจัดสรรสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้กับผู้สูงอายุ ปัญหาการจัดการอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียน และการเผชิญกับปัญหาถูกเลิกจ้างของแรงงานทั้งไทยและประเทศเพื่อนบ้านจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

ในขณะที่การสำรวจความคิดเห็นของผู้พิการทางการได้ยิน จำนวน 828 คน ทั่วประเทศ โดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ พบว่า บริการล่ามภาษามือ ภาษามือแบบเต็มจอ (Big sign) และ คำบรรยายแทนเสียง ที่ไทยพีบีเอสเปิดให้บริการนั้น ช่วยให้ผู้พิการทางการได้ยินสามารถติดตามข้อมูลได้ทันสถานการณ์ ทั้งในด้านการป้องกันตนเอง การรักษาโรค การดูแลจิตใจ รวมไปถึงสิทธิการเยียวยา และช่องทางการขอรับความช่วยเหลือต่าง ๆ

 

นับตั้งแต่ปี 2563 ที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับความยากลำบากในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด–19 ไทยพีบีเอส ได้เปิดพื้นที่เผยแพร่ข่าวสารให้ความรู้เพื่อการรับมือกับปัญหา ทั้งการป้องกันและรักษาโรค ตลอดจนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อผลักดันนโยบายภาครัฐ

ซึ่งจากรายงานการถอดบทเรียน “บทบาทการดำเนินงานของไทยพีบีเอสในสถานการณ์วิกฤต” จัดทำโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาสื่อสาธารณะ ผู้ให้สัมภาษณ์จำนวน 113 คน ครอบคลุมทั้งภาคีเชิงนโยบาย ภาคีวิชาการ ด้านความรู้สาธารณสุข ภาคีเชิงพื้นที่ ชุมชน และประชาชนผู้ชมผู้ฟังรายการ ได้สะท้อนบทบาทและการทำหน้าที่สื่อสาธารณะของไทยพีบีเอสในสถานการณ์วิกฤตนี้ว่า

เป็นสื่อที่สร้างความรู้และพร้อมช่วยเหลือประชาชนด้วยความจริงใจ มีความรู้สึกร่วมกับพื้นที่ ไม่เน้นขายข่าวเพื่อสร้างกระแส มีความเป็นกลาง มีการสื่อสารที่น่าเชื่อถือ และมุ่งเน้นสร้างแรงบันดาลใจในการฝ่าฟันวิกฤตและขับเคลื่อนร่วมไปกับประชาชน นอกจากนี้ ไทยพีบีเอสมีความยืดหยุ่นในการปรับผังรายการ เพื่อตอบสนองความต้องการและความจำเป็นของสังคม

ต่อเนื่องมาในปี 2564 ไทยพีบีเอสยังคงสานต่อการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จัดทำรายการพิเศษ “ไทยพีบีเอส สู้โควิด–19” เพื่อเป็นสื่อกลางในการประสานความช่วยเหลือสำหรับประชาชนผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ทั้งการประสานหาเตียง การเข้ารับการรักษา การจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ขอความช่วยเหลือในเรื่องถุงยังชีพ เครื่องอุปโภคบริโภค และการจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการกักตัว

ทั้งนี้ ประชาชน ผู้นำชุมชน และภาคีเครือข่าย รวม 230 คน ได้สะท้อนการทำหน้าที่สื่อสาธารณะของไทยพีบีเอสว่า ช่วยให้ประชาชนได้รับข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน ช่วยให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์และสามารถเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม ทั้งยังช่วยให้ประชาชนได้รับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาที่กำลังประสบอยู่ ในระดับมากที่สุด หรือ ร้อยละ 88.86

ด้านการมีส่วนร่วมกับประชาชน ตลอดการทำงานที่ผ่านมา ไทยพีบีเอส ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยมีกลไกการรับฟังความคิดเห็นและให้ความช่วยเหลือประชาชนผ่านหลากหลายช่องทาง ทั้งทางโทรศัพท์ จดหมาย อีเมล เว็บไซต์ Social media อาทิ Facebook, LINE และ Twitter รวมทั้งเดินทางมาติดต่อยังสำนักงานไทยพีบีเอส และติดต่อรายการ อาทิ รายการสถานีประชาชน รายการร้องทุกข์ลงป้ายนี้ และผ่านทางสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ

นอกจากนี้ ไทยพีบีเอส ยังมีกลไกการรับฟังความเห็นของประชาชนผ่านการศึกษาวิจัยในกระบวนการ Media Lab และการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ รวมถึงการจัดประเมินคุณค่าเนื้อหาข่าว-รายการ เป็นประจำ

จากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ไทยพีบีเอส เปิดรับทุกคำติชม ทั้งในด้านบวกและลบ รวมทั้งข้อเสนอแนะต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาปรับปรุงข่าวและรายการให้ดียิ่งขึ้น โดยได้ส่งต่อความคิดเห็นสู่การพิจารณาของผู้บริหารและผู้ผลิตรายการโดยตรง

ขณะเดียวกันข้อท้วงติงที่เกี่ยวข้องกับกรอบจริยธรรมและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ไทยพีบีเอส ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งได้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ซึ่งมีกรรมการนโยบายเป็นประธาน ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อสารมวลชนและนักวิชาการ

นอกจากนี้ ไทยพีบีเอส ยังคงตระหนักถึงการทำหน้าที่สื่อสาธารณะในการสร้างการเข้าถึงและตอบสนองต่อผู้ชมทุกกลุ่มในสังคม จึงได้จัดประเมินคุณค่าเนื้อหาจากประชาชนทั่วประเทศ ครอบคลุมทั้งผู้ที่รับชม และไม่ได้รับชมรายการของไทยพีบีเอส โดยการประเมินคุณภาพการนำเสนอข่าว (Quality Rating) ของไทยพีบีเอส เปรียบเทียบกับการนำเสนอข่าวของสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลอื่น ๆ ในอุตสากรรม ซึ่งจัดทำโดยบริษัท เอ็มวีพี คอนซัลท์แทนท์ จำกัด ในช่วงเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2564 จากผู้รับชมข่าวของไทยพีบีเอส และผู้รับชมข่าวของสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลช่องอื่น ๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,875 คน

พบว่า การนำเสนอข่าวของ ไทยพีบีเอส ได้รับการยอมรับคุณค่าในด้านความเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด (Impartiality) ด้านความถูกต้อง น่าเชื่อถือ (Accuracy) การเป็นที่พึ่งในสถานการณ์ภัยพิบัติและวิกฤตการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาของประชาชน รวมทั้งด้านการนำเสนอข่าวที่ครอบคลุมทุกภูมิภาคอย่างทั่วถึง ขณะที่ควรมีการพัฒนาในด้านการนำเสนอข่าวให้รวดเร็ว ด้วยรูปแบบที่ทันสมัย และโดดเด่นแตกต่างจากสถานีโทรทัศน์ช่องอื่นในอุตสาหกรรม

ขณะที่ผลการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ ซึ่งจัดทำโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (2564) ผู้ชมไทยพีบีเอส 8,817 คน เห็นถึงคุณประโยชน์ของการนำเสนอข่าวสารรายการของไทยพีบีเอสในระดับมากที่สุด หรือกว่าร้อยละ 90 ในด้านสาระเนื้อหาที่สร้างสรรค์ น่าเชื่อถือ ช่วยชี้นำสังคมไปในทางที่ดี เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเป็นปากเสียงให้ประชาชน

ผู้ที่รู้จักไทยพีบีเอสและเห็นด้วยกับคุณประโยชน์ของไทยพีบีเอสในมิติต่าง ๆ

ไทยพีบีเอส 14 ปีที่ผ่านมา และหลังจากนี้ มีความพยายามในการเป็นสื่อที่เป็นที่พึ่งให้กับสังคมทั้งในยามปกติและเมื่อเกิดวิกฤต รวมถึงเป็นสื่อที่นำเสนอความจริง ไม่บิดเบือนหรือถูกครอบงำแทรกแซงจากฝ่ายใด เปิดพื้นที่ให้คู่ขัดแย้งแสดงความคิดเห็นอย่างรอบด้าน สมดุล และทุกประเด็นที่ไทยพีบีเอสเปิดจะต้องหาทางออกไปพร้อมกัน ให้ความสำคัญกับทุก ๆ เสียง ทุกความเดือดร้อนในสังคม ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายที่หลากหลายอย่างเต็มกำลัง เพราะคนไทยต้องได้รับประโยชน์จากสื่อสาธารณะแห่งนี้มากที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวประชาสัมพันธ์

บทสัมภาษณ์ผู้บริหาร

ข่าวกิจกรรม

กลับขึ้นด้านบน