ไทยพีบีเอสคว้า 3 รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 30 ประจำปี 2558

เมื่อวันเสาร์ที่ 12 มีนาคม 2559 สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสคว้า 3 รางวัล รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 30 ประจำปี 2558 ภายใต้ชื่องาน “30 ปี โทรทัศน์ทองคำ เกียรติยศคนทีวี” ณ หอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ จัดขึ้นโดยชมรมส่งเสริมโทรทัศน์ มูลนิธิจำนง รังสิกุล ร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ทั้งนี้เพื่อประกาศเกียรติยศให้แก่สถานีโทรทัศน์ รวมถึงเจ้าของผลงานที่มีคุณภาพในสายงานสื่อโทรทัศน์ โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิระดับนักวิชาการและนักสื่อสารมวลชนเป็นผู้ตัดสินรางวัลต่างๆ 

ในปีนี้ไทยพีบีเอสได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการ ให้ได้รับรางวัลทั้ง 3 ประเภทดังนี้

1. ประเภทรางวัลสถานี
ได้แก่ รางวัลสถานีส่งเสริมรายการเด็ก เยาวชน สตรี และครอบครัวดีเด่น

2. ประเภทรายการเด็กเยาวชน สตรี และครอบครัว
ได้แก่ รางวัลรายการส่งเสริมเยาวชนดีเด่น จาก รายการท้าให้อ่าน

3. ประเภทละคร
ได้แก่ รางวัลละครสะท้อนสังคมดีเด่น จาก ละครสาบควายลายคน

คุณกฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า

สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสจะสร้างสรรค์สื่อสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง มีความมุ่งหวังให้เกิดการส่งเสริมแก่เด็กและเยาวชนได้มีการพัฒนา นอกจากนี้เราจะผลิตรายการที่หลากหลาย และตอบโจทย์เด็กๆ เพื่อการเรียนรู้พร้อมขยายการรับชมไปยังส่วนอื่นๆ ให้ครอบคลุมนอกจากโทรทัศน์

คุณวิไลภรณ์ จงกลวัฒนา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักรายการ ด้านผลิตและจัดหารายการ กล่าวถึงรายการท้าให้อ่านว่า

รายการท้าให้อ่านได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำถือว่าเป็นความภูมิใจของผู้ดูแลรายการและผู้ผลิต การเริ่มผลิตและคิดสร้างสรรค์รายการนี้ขึ้นมาก็เพื่อส่งเสริมการอ่านในกลุ่มผู้ชมที่เป็นเด็ก เรามักจะมองว่าคนไทยอ่านหนังสือน้อย ปีละไม่เกิน 8 บรรทัด จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ เราเลยมองการอ่านสมควรที่ต้องส่งเสริมเป็นอย่างมาก

เพราะว่าการอ่านช่วยเปิดประสบการณ์ เปิดมุมมอง เปิดการเรียนรู้ เหมือนกับสโลแกนนี้ที่ว่า คุณจะรู้รอบด้าน ถ้าคุณอ่านรอบตัว จุดเด่นของรายการท้าให้อ่านคือรายการนี้ทำการอ่านให้เป็นเรื่องสนุก และมีความสามัคคี สิ่งที่เราเติมไปในท้ายรายการคือ การให้เด็กทุกคนที่มาร่วมเล่นรายการนี้ มาเล่นเพื่อสะสมขุมทรัพย์หนังสือ หนังสือที่ได้ก็จะไปต่อยอดการเรียนรู้ของเด็ก รวมทั้งหนังสือที่ได้ส่วนหนึ่งที่เราบอกว่าเล่นเพื่อให้ เด็กจะสะสมหนังสือเพื่อส่งต่อไปยังโรงเรียนที่ขาดแคลน ตรงนี้ที่เราปลูกฝังจิตสาธารณะไปในรายการนี้ด้วย

รายการสำหรับเด็กเป็นรายการที่ดูเหมือนง่าย แต่เวลาทำยากมากและใหญ่มาก เพราะเมื่อคุณมีประสบการณ์ของคนอายุ 20 กว่าปี มุมมองของคุณก็จะเปลี่ยนไป แต่เด็กอายุ 7-8 ขวบจะมีมุมมองต่างกัน ดังนั้นคุณต้องมองในระดับสายตาเดียวกับเค้า คุณต้องคิดไม่ซับซ้อนเหมือนเค้า เพราะเด็กประสบการณ์เค้าแค่ 7-10 ปี มันจะยังไม่ซับซ้อนมากเท่าเรา อย่าเอาความซับซ้อนของเราไปใส่ในตัวรายการของเด็ก ตรงนี้คือสิ่งที่ต้องระวังคือ ต้องชัดๆ คำโตๆ ไม่พูดสับสน พูดตรงประเด็น เข้าใจง่ายและให้เค้าเข้าใจเราทุกเรื่อง ทั้งภาษาท่าทาง การพูด ทุกอย่างต้องคิดแบบเด็ก และค่อยๆ เติมสิ่งที่เราอยากให้เค้าเรียนรู้ สิ่งที่เพิ่มเติมประสบการณ์แต่ละวันให้เค้าไปเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้นต้องบอกผู้ผลิตหน้าใหม่ไว้ว่าเป็นเรื่องที่ยากที่สุด ยากกว่าการผลิตรายการผู้ใหญ่แน่ๆ เพราะรายการผู้ใหญ่เราใช้ประสบการณ์ของเราคิดและตัดสินได้ แต่รายการเด็กคุณต้องย้อนตัวเองกลับไปเมื่อคุณอายุเท่านั้น และคุณมองว่าเรื่องแบบนี้พูดแค่ไหนพอ ทำแค่ไหนพอ ทำแบบไหนและสนุกสำหรับเค้า ต้องฝึกฝนและอดทนค่ะ

คุณนฑาห์ มหันตพล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซูเปอร์จิ๋ว จำกัด ผู้ผลิตรายการท้าให้อ่าน กล่าวว่า

ทีมงานรายการท้าให้อ่านรู้สึกดีใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ปีนี้ได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำ ประเภทรายการเด็ก เยาวชน สตรี และครอบครัวดีเด่น ถือเป็นรางวัลที่ทรงเกียรติและมีค่ากับทีมงานมาก เพราะหมายถึงการได้รับการยอมรับจากทุกด้านทั้งผู้ชมรายการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

ในฐานะผู้ผลิตรายการท้าให้อ่าน หัวใจสำคัญในการผลิตรายการโทรทัศน์ของเรา คือ การสร้างสรรค์รายการที่ดี มีคุณภาพ สนุกสนาน ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ชม ยิ่งกว่านั้นต้องให้ผู้ชมนำสิ่งที่เรานำเสนอไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งไทยพีบีเอสเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะที่เปิดโอกาสให้เราได้ใช้ประสบการณ์ ความรู้ ความชำนาญ และมีอิสระในการนำเสนอเนื้อหาประเด็นต่างๆ ที่ท้าทาย โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้ชมจะได้รับเป็นหลักอย่างแท้จริง

คุณกนิษฐ์ มะโนทัย ผู้กำกับละครสาบควายลายคน กล่าวว่า

ภูมิใจที่ได้ผลิตงานออกมาได้สมกับเจตนาของไทยพีบีเอสที่ต้องการละครที่มีคุณภาพให้แก่ผู้ชมและเป็นเกียรติมาก เพราะสาบควายลายคนคือรางวัลแรกในการทำงานละครทีวีเรื่องแรกของผม

ขอขอบคุณไทยพีบีเอส โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมการคัดเลือกผู้ที่เข้ามาผลิตละครเรื่องนี้ ที่ท่านได้เห็นถึงความตั้งใจจริงของพวกเรา จึงให้ความไว้วางใจทีมของพวกเรามาผลิตละครสาบควายลายคน การนำเสนอละครในแบบไทยพีบีเอส คือความชัดเจนของจุดยืนที่จะมอบสาระให้แก่ผู้ชม นั่นคือความโดดเด่นของไทยพีบีเอส ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นละคร หรือรายการต่างๆ เราจะได้เห็นการเลือกสร้างสรรค์บทให้มีสาระ เข้ากับความบันเทิงอย่าง กลมกล่อม คือไม่หนักเกินไปจนเครียด ไม่เบาเกินไปจนจับต้องไม่ได้ และไม่ลึกเกินจนคนดูไม่สามารถเข้าถึงสาระที่สอดแทรกไว้ นั่นคือความแตกต่างที่กลมกล่อมไม่ใช่แค่กลมกลืน เพราะความกลมกล่อม มีรสชาติ มากกว่าแค่กลมกลืนไปด้วยกัน

คุณเทินพันธ์ แพนสมบัติ ผู้จัดการฝ่ายผลิตและจัดหารายการ กล่าวว่า

สาบควายลายคน เป็นละครที่ได้เรียกร้องจิตสำนึกบางอย่างของคนไทยให้หันกลับมาฉุกคิด และตระหนักถึงคุณค่าที่แท้จริงของอาชีพชาวนา รู้ซึ้งถึงบุญคุณของควายที่มีต่อผืนดินแหล่งทำมาหากินที่มีมาแต่ดั้งเดิม

การรักษาคุณค่าของเมล็ดพันธุ์ข้าวและผืนนาที่พ่อแม่หรือบรรพบุรุษของเราอนุรักษ์เอาไว้ แม้ละครจะพูดได้เพียงส่วนหนึ่งจากความเป็นจริงทั้งหมด แต่อย่างน้อยความสนุกของละครที่สอดแทรกเรื่องราวเหล่านี้อยู่ก็พอจะช่วยให้คนดูได้รับรู้และเข้าใจได้ถึงวิธีคิดและช่วยปรับเปลี่ยนทัศนคติไปในทางที่ดีขึ้นต่อรากเหง้าที่เราหลงลืมกันไปได้บ้าง

รางวัลที่ได้รับในครั้งนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยพีบีเอสทุกคนครับ เพราะสิ่งนี้คือการสะท้อนภาพการทำงานหนักของผู้ผลิตที่ร่วมงานกับเรา และคนในไทยพีบีเอสทุกคนที่มีส่วนร่วมกับละครเรื่องนี้ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม เป็นกำลังใจอย่างดีในการทำงานชิ้นต่อไป ตัวรางวัลอาจเป็นเพียงรูปลักษณ์หรือสัญลักษณ์เพื่อให้คนรับรู้ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือการที่ผู้ชมได้จดจำคุณค่าของสิ่งที่ไทยพีบีเอสได้ทำ ได้สร้างความบันเทิงในอีกมิติหนึ่งให้กับวงการละครโทรทัศน์ มูลค่าของผลตอบแทนที่ได้รับ คงไม่ใช่เพียงแค่คำว่าประสบผลสำเร็จจากการที่ละครได้รับรางวัลเท่านั้น แต่การทำให้คนดูเห็นและเชื่อในสิ่งที่ไทยพีบีเอสมองเห็น และได้หยิบสิ่งนั้นมาบอกเล่าเป็นเรื่องเป็นราวมาทำเป็นละครนั้น เป็นมูลค่าที่สำคัญกว่า ผมเชื่อเสมอมาว่าถ้าเราและคนดูเห็นตรงกัน ชอบในทิศทางเดียวกัน สิ่งนี้คือพลังที่จะสามารถเปลี่ยนมุมมองและพฤติกรรรมของสังคมได้ไม่มากก็น้อย

คำว่า สะท้อนสังคม หรือ สร้างสรรค์สังคม เป็นหลักสำคัญของไอเดียแรกที่ไทยพีบีเอสจะให้น้ำหนักทุกครั้งในการคิดเรื่องหรือการเลือกพล็อต (plot) มาทำเป็นละคร ที่มาของบทละครของไทยพีบีเอสเราพยายามที่จะทำมาจากความเป็น Original หรือเป็นบทละครที่ถูกเขียนขึ้นมาใหม่ พัฒนาทำขึ้นมาใหม่โดยมีที่มาที่ไปของแรงบันดาลใจหลักที่เชื่อมโยงกับสังคม และสามารถสร้างความสั่นสะเทือนกับความรู้สึกของคนดูโดยรวมได้ ไม่ใช่แค่ต่างแต่ต้องเปลี่ยนได้ด้วย นั่นคือการเปลี่ยนบริบทของคนดูและสังคมไปพร้อมๆ กัน ซึ่งสิ่งนั้นเราเรียกว่าไทยพีบีเอสสไตล์

ไทยพีบีเอสและทีมงานทุกคน ต่างรู้สึกภาคภูมิใจกับรางวัลคุณภาพที่ได้รับ ซึ่งจะเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง เพื่อจะนำไปพัฒนางานในเชิงคุณภาพต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวประชาสัมพันธ์

บทสัมภาษณ์ผู้บริหาร

ข่าวกิจกรรม

กลับขึ้นด้านบน