ไทยพีบีเอส เข้ารายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2561 ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

วันที่ 21 สิงหาคม 2562 องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส เข้ารายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2561 ต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยผู้เข้าร่วมรายงาน 5 ท่าน ได้แก่ รศ.จุมพล รอดคำดี ประธานกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. นายอนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ด้านปฏิบัติการ นางสาวสุวรรณา สมบัติรักษาสุข รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ด้านบริหารกิจการ และ นายเจษฎา อนุจารี กรรมการบริหารอื่น

รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. นำเสนอรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2561 ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยเป็นการรายงานผลตามวัตถุประสงค์ มาตรา 7 ของ พ.ร.บ. ซึ่งจัดกลุ่มการเสนอเป็น 3 ภารกิจหลัก ดังนี้

ภารกิจที่หนึ่ง การดำเนินการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และการผลิตเนื้อหา เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสังคมที่มีคุณภาพคุณธรรม และยึดถือผลประโยชน์สาธารณะ ไทยพีบีเอสตระหนักในหลักการนี้จึงวางกรอบการรายงานข่าวสารที่ยึดความเที่ยงตรง รอบด้าน สมดุล ซื่อตรงต่อจรรยาบรรณ และรายงานแบบร่วมค้นหาทางออกให้สังคม ในช่วงปี 2561 ที่ผ่านมา มีผลงานโดดเด่นและสะท้อนหลักการของสื่อสาธารณะ คือ ปฏิบัติการถ้ำหลวง ที่มีทั้งรายงานข่าวและสารคดี 5 ตอน บันทึกประวัติศาสตร์ที่เล่าจากผู้อยู่เบื้องหลังภารกิจจำนวนมาก ซึ่งการทำหน้าที่นี้ของไทยพีบีเอส ได้รับคำชื่นชมอย่างกว้างขวางและได้รับการโหวตจากเครือข่ายสังคมออนไลน์ ให้เป็นสื่อที่รายงานปฏิบัติการถ้ำหลวงได้ดีที่สุด

นอกจากนี้ ตัวอย่างของงานสื่อสารที่ไทยพีบีเอสมีบทบาทร่วมขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับแนวคิดของสังคมและเชิงโครงสร้าง อาทิ ประเด็นการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ การแก้ปัญหาหนี้ไม่เป็นธรรม การยกเลิกสารเคมีทางการเกษตรบางชนิด การจัดการขยะชุมชนและขยะอิเล็กทรอนิกส์ การตรวจสอบทุจริต เช่น ทุจริตอาหารกลางวัน ทุจริตเงินคนพิการ การยกเลิกสอบแข่งขันเข้าชั้น ป.1 และการเชื่อมโยงระหว่างรายการวิทยาศาสตร์สำหรับเด็ก มาสู่นวัตกรรมการเรียนการสอนในโรงเรียนและชุมชน

ในภาพรวม การเข้าถึงไทยพีบีเอสในช่องทางสื่อต่าง ๆ มีอัตราเพิ่มขึ้น จำนวนผู้ชมเฉลี่ยทั้งปีของสถานีโทรทัศน์อยู่ที่ 62,000 คนต่อนาที หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดตามผ่านช่องทางสื่อใหม่ทุกประเภทเฉลี่ย 885 ล้านครั้ง หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 47 และจำนวนผู้ฟังสะสมทางวิทยุออนไลน์ 33.49 ล้านครั้ง หรือร้อยละ 12 แต่ในช่วงวิกฤตและเหตุการณ์สำคัญของประเทศ เช่น ปฏิบัติการถ้ำหลวง ในเดือนกรกฎาคม มีจำนวนผู้ชมขึ้นสูงสุดที่ 1.7 ล้านคน และการจัดผังพิเศษถ่ายทอดสดวาระการเลือกประธานสภาของปีนี้ มีผู้ชมขึ้นสูงสุดที่ 998,000 คน แสดงให้เห็นว่า ค่าเฉลี่ยเรตติ้งทีวีอย่างเดียวไม่อาจสะท้อนภารกิจของสื่อสาธารณะที่วางจุดเน้นอยู่ที่การให้บริการเนื้อหาเพื่อสร้างการเรียนรู้ การมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่ม รวมถึงคนที่เปราะบางและขาดโอกาส และการขยายบริการในรูปแบบสื่อใหม่ที่เข้าถึงประชาชนได้เพิ่มขึ้น

ผลประเมินจากคณะผู้ประเมินภายนอก สรุปว่า ผู้ชมให้คุณค่าเรื่องความน่าเชื่อถือของไทยพีบีเอสสูงสุดในด้านการเป็นที่พึ่ง และด้านการรักษาจรรณยาบรรณสื่อ รองลงมา คือ คุณค่าเรื่องการรักษาพันธกิจสื่อสาธารณะในด้านการผลิตข่าวสาร รายการที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ถัดมาคือคุณค่าเรื่องความหลากหลายในด้านการนำเสนอที่เหมาะสมต่อผู้ชมในแต่ละกลุ่มวัย และเสนอเนื้อหาสาระจากหลากหลายมุมมอง และคุณค่าด้านแนวคิดสร้างสรรค์

ภารกิจที่สอง การส่งเสริมให้ความรู้แก่ประชาชน และส่งเสริมเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสาร ไทยพีบีเอสให้ความสำคัญกับเนื้อหาซึ่งสื่อเชิงพาณิชย์ไม่พร้อมลงทุน เช่น รายการสำหรับเด็กและครอบครัว รายการคุ้มครองผู้บริโภค รายการของภาคพลเมือง รายการสารคดีที่ผลิตโดยฝีมือคนไทยสะท้อนคุณค่า วัฒนธรรม และการอยู่ร่วมกัน โดยเคารพความหลากหลาย รายการข่าวภาษาอังกฤษเพื่อเชื่อมเรื่องของท้องถิ่นเข้ากับบริบทโลก และรายการที่นำวาระปฏิรูปประเทศ จากภาคนโยบายและภาคประชาชนมาผลักดันให้เกิดผลความเปลี่ยนแปลง เป็นต้น

นอกจากนี้ ไทยพีบีเอสยังมุ่งเน้นสร้างความเท่าเทียมให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร โดยให้บริการสัญญาณออกอากาศทีวีดิจิทัล ครอบคลุมร้อยละ 96.73 ของครัวเรือน นำร่องพัฒนาบริการเพื่อคนพิการทางการได้ยินและการมองเห็นด้วยล่ามภาษามือ คำบรรยายแทนเสียง และเสียงบรรยายภาพ เฉลี่ยวันละ 3 ชม. 42 นาทีของผังรายการ มากกว่าเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนดไว้ถึง 3 เท่า รวมถึงการขยายช่องทางสื่อใหม่ต่าง ๆ เพื่อให้เข้าถึงพลเมืองดิจิทัลมากขึ้น เช่น Facebook ที่มีจำนวนผู้ติดตาม 4.6 ล้านคน และมีการใช้แอปพลิเคชัน C-Site ที่เป็นพื้นที่สื่อสารระดมปัญญาของภาคพลเมืองในการร่วมเปลี่ยนแปลงชุมชน เกือบ 3,000 ประเด็น จากสมาชิกนักสื่อสารพลเมืองกว่า 2,000 คน เช่น ปัญหาฝุ่นคลุมเมือง การรักษาพื้นที่ชายหาดสมิหลา จ.สงขลา รวมถึงบทบาทของศูนย์ภูมิภาคไทยพีบีเอสในการเปิดพื้นที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วมหาทางออกผ่านรายการฟังเสียงประเทศไทย (คำตอบอยู่ในหมู่บ้าน)

ผลประเมินชี้ว่า ร้อยละ 75 ของผู้ชมได้รับความรู้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในระดับมากถึงมากที่สุด และเห็นว่าเนื้อหาที่โดดเด่น ได้แก่ เนื้อหาที่สร้างสังคมประชาธิปไตยที่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ปฏิรูปการศึกษา การกระจายอำนาจ และการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงประเมินว่าไทยพีบีเอสโดดเด่นเรื่องความกล้าหาญในการรายงานข่าว และเน้นเนื้อหาที่ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง อันเป็นการยืนยันหลักการความมีอิสระในวิชาชีพของสื่อสาธารณะ

ภารกิจที่สาม สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดทิศทางของสื่อสาธารณะ ซึ่งถือเป็นจุดแตกต่างจากสื่ออื่น โดยไทยพีบีเอสมีกลไกรับฟังและชี้แนะเชิงนโยบาย จากสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ ที่เป็นตัวแทนของผู้ชมจากภูมิภาคและกลุ่มประเด็นต่าง ๆ จำนวน 50 คน และได้สร้างพื้นที่กลางเชื่อมรัฐกับประชาชนในการแก้ปัญหาความทุกข์ร้อน โดยร้อยละ 85 ของเรื่องร้องทุกข์ได้รับการแก้ไขจบสิ้น และมีการติดตามคนที่สูญหายคืนกลับสู่ครอบครัวได้ คิดเป็นร้อยละ 42 จากจำนวนการแจ้ง 318 คน

ผลการประเมิน ประชาชนมีความพึงพอใจที่ไทยพีบีเอสเปิดช่องทางให้เข้าถึงได้อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะพื้นที่ของภาคพลเมือง ที่เชื่อมต่อกับกระบวนการนโยบายสาธารณะได้อย่างสร้างสรรค์

ด้วยภารกิจของสื่อสาธารณะที่เป็นมากกว่าผลิตสื่อทีวี ไทยพีบีเอสจึงมีความร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรวิชาชีพสื่อ สถาบันวิชาการ และเครือข่ายสื่อสาธารณะของสากล พัฒนาความรู้ ทักษะ และจริยธรรมสื่อ เช่น การประกาศปฏิญญาร่วมกับ 8 องค์กรวิชาชีพลดปัญหาข่าวลวง Fake News โดยเพิ่มเครื่องมือตรวจสอบที่เข้มข้นขึ้นในกองบรรณาธิการ และจัดกิจกรรมรู้เท่าทันสื่อให้กับประชาชน เป็นต้น

สิ่งสะท้อนการยอมรับอีกประการหนึ่ง คือ รางวัลที่ได้รับในปี 2561 จำนวน 53 รางวัล เช่น รายการข่าวดีเด่น ข่าวสืบสวนยอดเยี่ยม ข่าวออนไลน์เชิงสืบสวนยอดเยี่ยม สารคดีเชิงข่าวยอดเยี่ยม รายการส่งเสริมเยาวชนดีเด่น สถานีส่งเสริมความรู้และศิลปวัฒนธรรมดีเด่น สถานีส่งเสริมรายการเด็กเยาวชนและครอบครัวดีเด่น หน่วยงานที่ไม่นิ่งเฉยต่อความรุนแรงในครอบครัว เป็นต้น

สำหรับงบประมาณอุดหนุน จำนวน 2,000 ล้านบาท ได้ใช้ดำเนินการผลิตเนื้อหา 759 ล้านบาท หรือร้อยละ 37 ส่งเสริมการเข้าถึงของประชาชน 255 ล้านบาท หรือร้อยละ 12 ด้านบุคลากร 665 ล้านบาท หรือร้อยละ 32 ในงบผลิตเนื้อหานั้น จำแนกเป็น ข่าว ร้อยละ 15 รายการตอบสนองวาระปฏิรูป ร้อยละ 21 รายการตอบสนองการพัฒนาความรู้ เด็กเยาวชนและครอบครัว พัฒนาคุณภาพชีวิต ร้อยละ 34 พัฒนาชุมชนท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรม ร้อยละ 24 รายการนักข่าวพลเมือง ร้อยละ 3 และรายการบริการสังคม ร้อยละ 3

การตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้รับรองงบการเงินปี 2561 ว่าถูกต้องในสาระสำคัญตามมาตรฐานการรายงาน

ในครึ่งปีแรกของปี 2562 ไทยพีบีเอสให้ความสำคัญกับการทำวาระเลือกตั้งให้แตกต่างจากสื่ออื่น โดยการจับมือกับ 8 องค์กร ทำวาระ “ให้เสียงประชาชนไปไกลกว่าการเลือกตั้ง” เปิดพื้นที่ให้เสียงประชาชนจากเวทีรับฟังต่าง ๆ ทั่วประเทศ ได้รวบรวมเป็นข้อเสนอนโยบายต่อพรรคการเมือง นอกจากนี้ได้เพิ่มสัดส่วนรายการเด็กเป็น 13 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อทดแทนทีวีช่องเด็กที่กำลังจะยุติ จัดตั้งศูนย์สื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็กและครอบครัว ผลิตเนื้อหาที่เหมาะสมต่อพัฒนาการของเด็กเผยแพร่แบบ Multi-Platform และจัดกิจกรรมส่งเสริมทักษะของครูและชุมชนไปพร้อมกัน รวมทั้งการสร้างรูปแบบการสื่อสารเพื่อทำให้ประชาชนมีทักษะความปลอดภัยของศูนย์สื่อสารภัยพิบัติ เป็นต้น

ทั้งนี้ ไทยพีบีเอสจะทำภารกิจตามหลักสื่อสาธารณะต่อไป คงไว้ซึ่งมิติความทั่วถึงและเป็นธรรม มิติความหลากหลาย และมิติความน่าเชื่อถือ ที่เป็น 3 คุณค่าซึ่งโดดเด่นที่สุดจากผลการประเมิน และจะยึดมั่นคุณค่าของความเป็นอิสระ โดยปราศจากอคติทางการเมืองและผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ เพื่อสนองตอบประโยชน์สาธารณะได้อย่างเต็มที่ บนฐานของการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และมีธรรมาภิบาลต่อไป

รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. นำเสนอรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2561 ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

 

ผู้ร่วมอภิปรายทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล มีดังนี้

นางอนุรักษ์ บุญศล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย

นายนริศ ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์

นางสาวพรรณิการ์ วานิช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคอนาคตใหม่

รองศาสตราจารย์รงค์ บุญสวยขวัญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคอนาคตใหม่

นายจักรพันธ์ พรนิมิตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ

นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคอนาคตใหม่

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์

นายเรวัต วิศรุตเวช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเสรีรวมไทย

นายโกวิทย์ พวงงาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังท้องถิ่นไท

นายนิยม เวชกามา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคภูมิใจไทย

พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ

นายเทพไท เสนพงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์

นางสาววทันยา วงษ์โอภาสี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ

รศ.วิลาสินี พิพิธกุล ผอ.ส.ส.ท. ชี้แจงเพิ่มเติม การรายงานผลการปฏิบัติงานของ ส.ส.ท.ประจำปี 2561

นายอนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ชี้แจงประเด็นรายได้ตามคำสั่ง คสช.

นางสาวสุวรรณา สมบัติรักษาสุข รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ชี้แจงประเด็น "การจัดการเงินเหลือจ่าย"

สามารถรับชมย้อนหลัง การรายงานผลการปฏิบัติงานของ ส.ส.ท.ประจำปี 2561 ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้ที่ลิงก์ www.thaipbs.or.th/Report2561YouTube

ข้อมูลเพิ่มเติม

  • เอกสารรายงานผลการปฏิบัติงาน ประจำปี พ.ศ. 2561 องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.)  คลิกอ่าน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวประชาสัมพันธ์

บทสัมภาษณ์ผู้บริหาร

ข่าวกิจกรรม

กลับขึ้นด้านบน