คลิปการจัดทำรายการที่มีเสียงบรรยายภาพ (AD) และ คำบรรยายแทนเสียง (CC) ของไทยพีบีเอส ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมใหญ่ ABU

ในการประชุมสมัชชาประจำปี ครั้งที่ 53 ที่จัดขึ้นโดยสหภาพวิทยุโทรทัศน์แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ Asia-Pacific Broadcasting Union (ABU) ระหว่างวันที่ 18 – 26 ตุลาคม 2559 ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ABU ได้กำหนดให้มีวาระพิเศษหัวข้อ "เรื่องเล่าจากสมาชิก: การผลิตรายการด้วยนวัตกรรมใหม่" โดยเชิญองค์กรสมาชิกทั้งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และนอกภูมิภาค ส่งรายการเพื่อคัดเลือกและนำเสนอในที่ประชุม จำนวน 10 รายการ

สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส ได้ผลิตคลิปสั้นเกี่ยวกับการผลิตรายการที่มีเสียงบรรยายภาพ (Audio Description-AD) และ คำบรรยายแทนเสียง (Closed Caption – CC) นำเสนอในการประชุมดังกล่าว ซึ่งแม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับองค์กรสื่อใหญ่ๆ แต่เป็นหนึ่งในประเด็นที่ไทยพีบีเอสพยายามบุกเบิก ผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง และไทยพีบีเอสก็ถือเป็นสถานีโทรทัศน์ช่องแรกของประเทศไทย ที่จัดให้มีบริการเสียงบรรยายภาพผ่านทางหน้าจอโทรทัศน์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ เนื่องจากสอดคล้องกับหลักการมนุษยชนขั้นพื้นฐานว่าด้วยการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างเท่าเทียมกัน หรือข้อมูลข่าวสารเพื่อปวงชน Information for All

เนื้อหาในคลิปได้นำเสนอหลักการสำคัญของสื่อสาธารณะ ในการเป็นสื่อสำหรับทุกคนและเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารที่ดีให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม ซึ่งถือเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมประชาธิปไตย เพราะทุกคนในสังคม ล้วนมีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆอย่างสร้างสรรค์ ตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่พึงมีและพึงได้รับ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ผู้ชมทุกกลุ่ม ที่จะสามารถเข้าถึงสื่อได้อย่างเท่าเทียม และนี่จึงเป็นที่มาของการนำเสียงบรรยายภาพ (Audio Description - AD) มาช่วยให้ผู้ที่บกพร่องทางการมองเห็นสามารถดูโทรทัศน์ได้อย่างเข้าใจและเห็นภาพ

โดยไทยพีบีเอสได้ให้ความสำคัญในการผลิตสื่อดังกล่าวอย่างยิ่ง ด้วยการจัดการอบรมให้แก่บุคลากรอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เพื่อให้กลุ่มผู้ชมที่เปิดรับบริการนี้ สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่จริงๆ และอีกหนึ่งนวัตกรรมที่จะช่วยสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงสื่อให้แก่ประชาชนทุกคน นั่นก็คือ คำบรรยายแทนเสียง (Closed Caption - CC) ซึ่งเป็นสื่อที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารให้แก่ผู้ที่บกพร่องทางการได้ยิน ให้สามารถดูโทรทัศน์ได้อย่างเข้าใจ แม้ไม่ได้ยินเสียง ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้สื่อสาธารณะ เป็นสื่อสำหรับทุกคนอย่างแท้จริง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวประชาสัมพันธ์

บทสัมภาษณ์ผู้บริหาร

ข่าวกิจกรรม

กลับขึ้นด้านบน